ที่ประชุม ก.พ.อ.เห็นชอบปรับหลักเกณฑ์เสนอผลงานวิชาการ ตำแหน่ง ผศ.จากเดิมเสนอเพียงงานวิจัยให้เพิ่มเอกสารการสอนบนพื้นฐานการวิจัยที่สะท้อนการค้นคว้า สังเคราะห์ ประโยชน์ที่นำไปใช้ และผลกระทบต่อสังคม “วรวัจน์” มอบอนุกรรมการฯ สำรวจงานดูว่ามีผลงานวิจัยใดบ้างที่รับใช้สังคมเพื่อนำเป็นแนวทางการกำหนดเกณฑ์ขอตำแหน่งวิชาการในอนาคต
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ว่าที่ประชุมในครั้งนี้ ได้พิจารณาแนวทางในการกำหนดหลักเกณฑ์การเสนอผลงานทางวิชาการ เพื่อพิจารณากำหนดตำแหน่งทางวิชาการของ ก.พ.อ.ในปัจจุบัน ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการที่จะให้มีการแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการในการนำเสนอผลงานทางวิชาการของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา โดยจะต้องเป็นผลงานทางวิชาการรับใช้สังคม ที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ที่เกี่ยวข้องการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรในพื้นที่ การศึกษาให้รู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงบริบทโลก การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการพัฒนาส่งเสริมให้สังคมและชุมชนมีความเข้มแข็ง
อย่างไรก็ตาม ได้พิจารณาการเสนอผลงานทางวิชาการของตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) นั้น ที่ปัจจุบันจะเสนอผลงานทางวิชาการด้านการวิจัยเพียงอย่างเดียว แต่ตนต้องการให้เปิดโอกาสให้ผู้ขอตำแหน่งดังกล่าวมีช่องทางทำงานผลงานวิชาการอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ดังนั้น จึงได้หารือในที่ประชุม และมีมติเห็นชอบในหลักการเพิ่มเติมให้มีการเสนอผลงานทางวิชาการ ด้วยเอกสารประกอบการสอนหรือตำราต่างๆ บนพื้นฐานงานวิจัยแทนได้ แต่จะต้องสะท้อนถึง 4 องค์ประกอบที่สำคัญ คือ การค้นคว้า การสังเคราะห์ การนำประโยชน์ไปใช้ และผลกระทบต่อสังคม ทั้งนี้ ได้มอบให้คณะอนุกรรมการด้านต่างๆ ไปสำรวจว่า มีผลงานวิจัยรับใช้สังคมในลักษณะใดบ้างที่สามารถนำมาเสนอขอกำหนดตำแหน่งได้ และควรมีรูปแบบอย่างไร พร้อมทั้งให้กำหนดแนวทางเพื่อสร้างความเข้าใจในการนำเสนอผลงาน และให้นำเสนอร่างหลักเกณฑ์ในการประชุมครั้งต่อไป
ด้าน นายกำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (รองเลขาธิการ กกอ.) กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวสืบเนื่องจากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) อยู่ระหว่างการกำหนดหลักเกณฑ์ให้งานทางวิชาการรับใช้สังคม สามารถนำมาใช้เข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการได้ ซึ่งเดิมสกอ.คิดเฉพาะนักวิชาการสายรับใช้สังคม เช่นนักวิจัยท้องถิ่นเท่านั้น แต่ รมว.ศธ. มีนโยบายว่างานวิชาการทุกสายน่าจะสามารถรับใช้สังคมได้ เช่น นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ถ้าไปช่วยคิดเรื่องเศรษฐกิจชุมชน และเป็นประโยชน์ก็น่าจะสามารถนำผลงานดังกล่าวมาใช้ในการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการได้เช่นกัน ดังนั้น จึงมอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านต่าง ๆไปคิดหลักเกณฑ์การประเมินผลงานวิชาการรับใช้สังคมในสายต่างๆ โดยจะเริ่มจากการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการระดับ ผศ.เนื่องจากถือเป็นการเริ่มต้น ซึ่งคงไม่ใช้การบังคับให้ทุกสายต้องทำงานรับใช้สังคมเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ แต่จะพยายามผลักดันเพื่อให้มหาวิทยาลัยเจ้ามามีส่วนในการรับใช้สังคมเพิ่มขึ้น