xs
xsm
sm
md
lg

รอ รมว.ศธ.ใหม่ ฟันธงยกเลิกผลิตครูพันธุ์ใหม่ 6 ปี!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอรัฐมนตรีใหม่ ชี้ชะตาผลิตครู 6 ปีต่อหรือไม่ “สุเมธ” ชี้ ก่อนหน้ามหา’ลัยสะท้อนปัญหา คกก.จึงให้กลับมาเป็นผลิตครู 5 ปีตามเดิม เผยเตรียมปรับระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อจัดสรรงบให้มหาวิทยาลัยหลังดูงานที่อังกฤษพบว่าเป็นระบบที่ดี

ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาธิการ กกอ.) เปิดเผยถึงโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่ หลักสูตรปริญญาตรีควบปริญญาโท หรือ ครู 6 ปี ว่าจะเดินหน้าต่อไปหรือไม่ ว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) คนใหม่ ว่าจะเดินหน้าต่อไปหรือยกเลิก แต่ที่ผ่านมานั้น คณะกรรมการบริหารโครงการครูพันธุ์ใหม่ ที่มีนายไชยยศ จิรเมธากร รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.เป็นประธาน รับทราบแล้วว่า มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่มีปัญหาในการผลิตหลักสูตรครู 6 ปี เพราะติดขัดในเกณฑ์ เรื่อง อาจารย์ประจำหลักสูตร ที่จะต้องมีวุฒิระดับปริญญาเอก หรือมีตำแหน่งทางวิชาการระดับศาสตราจารย์ (ศ.) หรือรองศาสตราจารย์ซึ่งบางแห่งมีไม่เพียงพอจึงเปิดหลักสูตรไม่ได้ นอกจากนั้น ยังไม่มีเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรปริญญาตรีควบโท มหาวิทยาลัยฝ่ายผลิตส่วนใหญ่กังวล
ดร.สุเมธ แย้มนุ่น - ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ดังนั้น คณะกรรมการบริหารฯ จึงมีมติให้กลับไปผลิตครูพันธุ์ใหม่ ในหลักสูตรระดับปริญญาตรี 5 ปีตามเดิม โดยขณะนี้ได้ประกาศรายชื่อสถาบันฝ่ายผลิตกรณีรับนักศึกษาครูที่กำลังศึกษาชั้นปีที่ 4 ปีการศึกษา 2554 จำนวน 1,000 คน แล้วจำนวน 24 สถาบัน ใน 21 กลุ่มสาขาวิชา

“ต้องถือว่าแนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่ดีแต่อาจเป็นเพราะมีเวลาเตรียมตัวน้อย จึงทำให้ต้องเลื่อนออกไป ซึ่งจากนี้ต้องรอดูทิศทางนโยบายของรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ที่จะมากำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) คนใหม่ ว่าจะเดินหน้าต่อหรือไม่ แต่ผมคิดว่าหากเดินหน้าต่อก็น่าจะใช้เวลาในการร่างเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรประมาณ 1 ปี และคงต้องสอบถามความพร้อมของมหาวิทยาลัยด้วย” ดร.สุเมธกล่าว


ดร.สุเมธ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้เดินทางไปเจรจาความร่วมมือด้านการจัดระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการจัดสรรทรัพยากร ที่ประเทศอังกฤษ โดยการไปดูงานครั้งนี้เพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุงระบบการจัดเก็บข้อมูลสารสนเทศ เพื่อการจัดสรรทรัพยากรในสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย และพบว่า ที่ประเทศอังกฤษมีระบบการเก็บข้อมูลที่แตกต่างจากบ้านเรา และถือเป็นระบบที่ดี โดยหน่วยงานที่ทำหน้าที่นี้เป็นหน่วยงานอิสระ และเก็บข้อมูลให้ผู้ใช้ ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการจัดสรรงบประมาณให้มหาวิทยาลัย ดังนั้น มหาวิทยาลัยจะต้องเก็บข้อมูลต่างๆ ให้ดี เพราะหากมีข้อมูลที่ผิดพลาดจะทำให้การจัดสรรงบประมาณผิดพลาดไปด้วย และหากตรวจสอบพบว่ามหาวิทยาลัยใดจัดเก็บข้อมูลไม่ถูกต้องและทำให้การจัดสรรงบประมาณผิดพลาดจะถูกเรียกเงินขึ้นถึง 10 เท่า และมีตัวชี้วัดศักยภาพของมหาวิทยาลัยด้วย

ทั้งนี้ หากเราจะนำมาใช้ปรับปรุงระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อจัดสรรทรัพยากรในสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย คงต้องใช้เวลา โดยต้องดูว่าผู้ใช้ข้อมูลคือใคร และผู้ใช้ข้อมูลต้องมีอำนาจในการให้คุณให้โทษกับมหาวิทยาลัยที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณด้วย โดยเร็วๆ นี้ ตนจะเชิญมหาวิทยาลัยที่ถือว่ามีการจัดระบบข้อมูลที่ค่อนข้างใช้ได้มาหารือร่วมกันเช่น มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) มหาวิทยาลัยศรีปทุม (มศป.) และมหาวิทยาลัยหอการค้า เพื่อนำรวบรวมข้อมูลเป็นกรณีตัวอย่างในการปรับปรุงระบบข้อมูลสารสนเทศในภาพรวมต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น