xs
xsm
sm
md
lg

ยูเนสโก เลือก กทม.เมืองหนังสือโลก ปี 2013

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ยูเนสโก เลือก กทม.เป็นเมืองหนังสือโลก World Book Capital ในปี 2013 เอาชนะคู่แข่งจาก 7 เมืองทั่วโลก “สุขุมพันธุ์” ประกาศเดินหน้าตามพันธสัญญา รณรงค์ให้คนอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น 10-20 เล่มต่อปี หลังพบสถิติอ่านเพียง 5 เล่มต่อปี หวังคนไทยมีวัฒนธรรมในการอ่านมากขึ้น

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วยนางริสรวล อร่ามเจริญ ที่ปรึกษาสมาคมผู้จัดพิมพ์ และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ในฐานะหัวหน้าภาคีเครือข่ายมหานครแห่งการอ่าน ร่วมแถลงข่าวแสดงความยินดีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้รับเลือกเป็นเมืองหนังสือโลกในปี 2556 โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ทุกคนไม่คิดว่าจะเป็นจริงได้ก็เป็นจริงคิดมาได้ เพราะนับตั้งแต่ กทม.ได้เสนอตัวต่อยูเนสโกเพื่อขอเป็นเมืองหนังสือโลก (World Book Capital 2013) ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2554 โดยมีเมืองที่เข้าร่วมแข่งขันจำนวน 7 เมือง ได้แก่ กรุงไคโร สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ อินเชิน สาธารณรัฐเกาหลี เควซอน ประเทศฟิลิปปินส์ ควิโต ประเทศเอกวาดอร์ ชาร์เรีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เซินเจิ้น สาธารณรัฐประชาชนจีน และ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ซึ่งในวันที่ 27 มิถุนายน 2554 ทางคณะกรรมการตัดสิน World Book Capital 2013 ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนจากสมาคมผู้จัดพิมพ์นานาชาติ (International Publishers Association : IPA) สมาพันธ์ผู้จำหน่ายหนังสือนานาชาติ (International Booksellers Federation : IBF) สหพันธ์สมาคมและสถาบันห้องสมุดแห่งชาติ (International Federation of Library Associations and Institutions : IFLA) และองค์การยูเนสโก โดยมี Mr. Francoise Dubruille ทำหน้าที่ประธานพิจารณาเอกสารการสมัครของเมืองต่างๆ และในที่สุดได้ตัดสินให้ กทม.ได้รับการคัดเลือกเป็นเมืองหนังสือโลกในปี 2556 ด้วยเหตุผลที่คณะกรรมการ ประกาศว่า เพราะ กทม.มีความมุ่งมั่นที่จะนำผู้มีส่วนได้เสียในวงการหนังสือทุกภาคส่วน รวมถึงภาคส่วนอื่นๆ เข้ามาร่วมมือกันพัฒนาการอ่านโดยได้นำเสนอแผนโครงการที่มีความหลากหลาย และแสดงออกถึงการมีพันธะสัญญาในระดับสูงที่จะสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาการอ่านและหนังสืออย่างจริงจัง

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวอีกว่า นางอิรินา โบโควา ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก ได้แสดงความยินดีและชื่นชมกรุงเทพมหานครที่ได้เตรียมความพร้อมในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพมาอย่างดีและแสดงถึงเจตจำนงอันมุ่งมั่นที่จะทำให้บรรลุผล โดยเฉพาะการมุ่งเน้นไปยังเยาวชน กลุ่มคนด้อยโอกาส และการพัฒนาการอ่านสำหรับทุกคน ด้วยความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และนานาชาติ ซึ่งตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ของโครงการ World Book Capital ได้อย่างสมบูรณ์ ช่วยดึงดูดความสนใจของเมืองต่างๆ ทั่วโลกต่อการอ่านหนังสือมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวต่อว่า กทม.จะดำเนินการอย่างมุ่งมั่นตามพันธสัญญาที่ได้ให้ไว้ เช่น การสร้างหอสมุดขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ และจะกระตุ้นโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่เป็นเป้าหมายสำคัญให้มาใส่อ่านหนังสือให้มากยิ่ง­ขึ้น เนื่องจากไม่ได้ให้ความสำคัญกับการอ่านเท่าที่ควร เพราะเป็นยุคไซเบอร์สเปซที่เข้ามาช่วงชิงเวลาการอ่านของเด็กไป ซึ่งต่างจากยุคของตนเองในวัยเด็กที่ยังไม่มีเรื่องแบบนี้เข้ามา ขณะเดียวกัน ก็พบว่าคนไทยมีการอ่านหนังเฉลี่ยปีละ 5 เล่มเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก ดังนั้น กทม.และภาคีเครือข่ายทั้ง 89 องค์กร จะร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ตามแผนงานที่ได้นำเสนอไว้ พร้อมกันนี้จะมีแบรนด์แอมบาสเดอร์ในแต่ละรุ่นอายุ เพื่อชักชวนส่งเสริมคนในช่วงวัยเดียวกันให้หันมาสนใจการอ่านซึ่งตนเองก็เป็นหนึ่งในแบรนด์แอมบาสเดอร์ด้วย โดยตั้งเป้าว่า ในปี 2556 คนไทยจะอ่านหนังสือเฉลี่ยปีละ 10-20 เล่ม

ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ การได้รับคัดเลือกให้เป็นเมืองหนังสือโลกจะเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกภาคส่วนเดินหน้าต่อไปและช่วยกันสนับสนุนคนไทยมีวัฒนธรรมในการอ่านหนังสือมากขึ้น ใช้หนังสือให้เป็นประโยชน์มากขึ้นอันจะเสริมสร้างความรู้ภูมิปัญญาจากการอ่าน

อนึ่ง กทม.เป็นเมืองที่ 13 ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นเมืองหนังสือโลกในปี ค.ศ.2013 เมืองก่อนหน้านี้ ได้แก่ มาดริด สเปน ปี ค.ศ.2001, อเล็กซานเดรีย อียิปต์ ปี ค.ศ.2002, นิวเดลี อินเดีย ปี ค.ศ.2003, อันท์เวิร์ป เบลเยียม ปี ค.ศ.2004, มอนตรีออล แคนาดา ปี ค.ศ.2005, ตูริน อิตาลี ปี ค.ศ.2006, โบโกตา โคลอมเบีย ปี ค.ศ.2007, อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ ปี ค.ศ.2008, เบรุต เลบานอน ปี ค.ศ.2009, ลูเบียนา สโลเวเนีย ปี ค.ศ.2010, บัวโนสไอเรส ปีค.ศ.2011 และ เยเรวาน อาร์เมเนีย ปี ค.ศ.2012
กำลังโหลดความคิดเห็น