xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ ‘กรุงเทพฯ’ เป็น ‘เมืองหนังสือโลก’ ภารกิจท้าทาย นิสัยรักการอ่านของคนกรุง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นข่าวดีที่เกิดขึ้นมาพร้อมความฉงนสงสัยของคนทั่วประเทศ เมื่อจู่ๆ กรุงเทพมหานคร ก็ได้รับการคัดเลือกให้เป็น ‘เมืองหนังสือโลกประจำปี 2556’ (World Book Capital 2013) จากองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เนื่องจากมีความพร้อมในการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการอ่านผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การเน้นการส่งเสริมการอ่านในชุมชน และการแสดงเจตนารมณ์ของไทยที่จะจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน

แม้ปกติการคัดเลือกเมืองนั้นจะถูกประกาศก่อนล่วงหน้า 2 ปีก็ตาม แต่ทว่ากรุงเทพฯ ก็เพิ่งดำเนินการเรื่องนี้ เมื่อเดือนเมษายน 2554 นี้เอง และเมื่อมาย้อนดูถึงนิสัยและอัตราการเป็นนักอ่านของคนกรุงเทพฯ ก็ถึงว่าอยู่ในอาการน่าเป็นห่วงเป็นอย่างอย่างยิ่ง เพราะปีๆ หนึ่งคนกรุงอ่านหนังสือเฉลี่ย 5 เล่มเท่านั้น แถมแหล่งบริการหนังสือและห้องสมุดก็มีอย่างจำกัด แม้จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการ กำหนดให้ ’การอ่านกลายเป็นวาระแห่งชาติ’ แต่ก็ดูเหมือนยังไม่มีการเคลื่อนไหวหรือสร้างพลังขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นในสังคมไทยได้ไม่กี่มากน้อย

ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้เอง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใครถึงไม่มั่นใจว่า สุดท้ายเมืองหลวงของไทยจะมีความพร้อมกับตำแหน่งดังกล่าว เพราะฉะนั้นงานนี้จึงจำเป็นจะต้องมาวิเคราะห์ว่า เหตุใดยูเนสโกถึงได้คัดเลือกให้กรุงเทพฯ รับตำแหน่งอันทรงเกียรติครั้งนี้ และสุดท้ายการอ่านหนังสือของเมืองไทยจะพัฒนาไปถึงจุดสุดยอด อย่างที่คาดหวังได้จริงๆ ไหม หรือสุดท้ายนี่จะเป็นบทพิสูจน์ของการทำงานแบบลูบหน้าปะจมูกอีกครั้งของสังคมไทย

การเมืองแบบยูเนสโก

หากหยิบยกคุณสมบัติ 5 ข้อของการเป็นเมืองหนังสือโลก คือ
1. มีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศจนถึงระดับนานาชาติ
2. จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านอย่างมีคุณภาพและต่อเนื่อง โดยได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานวิชาชีพทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ อาทิ สมาคมนักเขียน สมาคมผู้จัดพิมพ์ สมาคมห้องสมุด สมาคมร้านขายหนังสือ เป็นต้น
3. มีโครงการสนับสนุนการพัฒนาหนังสือและการอ่าน
4. ส่งเสริมสนับสนุนในเรื่องเสรีภาพการแสดงออกทางความคิด ผู้คนในสังคมจัดพิมพ์และแจกจ่ายข้อมูลข่าวสารได้โดยอิสระ
5. เสนอโครงการและกิจกรรมเพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นเมืองหนังสือโลกในปีที่จะประกวด

มาเทียบกับคู่แข่ง 6 เมืองจาก 6 ประเทศ อย่าง กรุงไคโร สาธารณรัฐอาหรับแห่งอียิปต์, อินชอนสาธารณรัฐเกาหลีใต้, เควซอน ประเทศฟิลิปปินส์, ควิโต ประเทศเอกวาดอร์, ชาร์เรีย ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเสินเจิ้น สาธารณรัฐประชาชนจีน

หลายคนก็คงรู้สึกตรงกันว่า ไม่เห็นกรุงเทพฯ จะมีความโดดเด่นเหนือกว่าเมืองอื่นตรงไหน แถมบางครั้งก็ยังดูด้อยกว่าด้วยซ้ำ โดยเฉพาะที่เมืองไคไร ประเทศอียิปต์ ซึ่งมีหอสมุดแห่งชาติที่เก่าแก่เป็นสัญลักษณ์ของเมือง แถมมีหนังสือมากมายมหาศาล และคนที่นั่นก็อ่านหนังสือกันเป็นนิสัยปกติ

ขณะที่ย้อนกลับมาดูที่กรุงเทพฯ แม้จะมีหอสมุดแห่งชาติที่อุดมไปด้วยหนังสือโบราณเต็มไปหมดเช่นกัน แต่กลับพบว่า ที่นี่ก็ไม่ได้รับความนิยมอะไรมากมายนัก วันๆ หนึ่งมีคนเข้ามาอ่านหนังสือกันที่นี่ไม่เท่าไหร่ ถึงขั้นที่นักเรียน-นักศึกษาบางคนยังไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหนเลย

“คิดว่าเมืองที่ได้รับตำแหน่งนี้ ต้องมีความพร้อมทั้งด้านคนอ่าน จำนวนห้องสมุด หรือทั้งคุณภาพของหนังสือ นักเขียน โครงการการส่งเสริมของรัฐ หรืออะไรหลายๆอย่างมาประกอบกัน แต่พูดแล้วประเทศไทยเหมือนยังห่างไกลอยู่นะ” วิภาดา นุชเกิด นักอ่านตัวยงให้ความเห็น

คำถามต่อมาที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อเราไม่ได้มีภาษีที่ดีกว่าคนอื่นสักเท่าไหร่ แล้วอะไรที่จะน่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ไทยได้รับคัดเลือกครั้งนี้

แน่นอนหากกลับไปพิจาณาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับองค์การยูเนสโก ก็ต้องยอมรับว่าช่วงนี้มีเรื่องขัดข้องหมองใจกันอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะการที่ไทยถอนตัวจากภาคีสมาชิกของคณะกรรมการมรดกโลก หลังจากที่มีปัญหาการทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก

ดังนั้นนี่อาจจะเป็น ‘รางวัลปลอบใจ’ หรือวิธีขอคืนดีรูปแบบหนึ่งก็ได้ที่องค์การใหญ่เลือกใช้ ซึ่ง รศ.ดร.วิวัฒน์ มุ่งการดี อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ให้ความเห็นว่า มีความเป็นไปได้ เพราะเหตุการณ์ในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในองค์กรระดับโลกอื่นๆ ที่หวังจะเอาใจหรือชดเชยความรู้สึกให้แก่คนในประเทศนั้น ตัวอย่างเช่น คณะกรรมการรางวัลโนเบลก็เคยมีความคิดจะมอบรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพให้แก่ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ของสหรัฐอเมริกาทั้งที่ยังไม่เคยทำอะไร

“กรณีนี้นั้นมันมองได้ว่าอาจจะเกี่ยวกับการเมืองก็ได้ เพราะเขาอาจจะต้องเอาใจเลี้ยงดูเราหน่อย หมายความว่าต้องทำอะไรชดเชย เพราะยูเนสโกเคยทำให้เราผิดหวังที่เขาไม่ได้ฟังฝ่ายไทยในเรื่องอื่น มันมีเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศอยู่บ้างเป็นธรรมดา”

แต่ทั้งนี้ การจะไปสรุปว่านี่เป็นเกมการเมืองขององค์การยูเนสโกที่มีต่อไทย ก็คงจะไม่ใช่ เพราะเรื่องนี้ก็สามารถตั้งสมมติฐานได้อีกหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นองค์การยูเนสโกอาจจะเตรียมตำแหน่งให้แก่ไทยอยู่แล้ว แต่เผอิญว่าประจวบเข้ากับเรื่องมรดกโลกพอดี เพราะฉะนั้นคงต้องดูบริบทแวดล้อมให้แน่นอนด้วย

“ผมว่า ยูเนสโกเองก็คงจะต้องมองว่าบ้านเรามีอะไรดี มีอะไรที่พอที่จะให้เราได้บ้าง ถ้ามันพร้อมเขาก็คงจะเลือกให้ในสิ่งนั้น เพราะเอาเข้าจริงหนังสือในบ้านเรานั้นมันมีอยู่มาก ถ้าจะเป็นเมืองหนังสือก็คงจะพอได้ แต่คนอ่านนั้นผมไม่แน่ใจว่าเขาจะอ่านกันมากพอไหม”

กลับมาดูที่นิสัยการอ่าน

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรที่ทำให้ องค์การยูเนสโกตัดสินใจให้ตำแหน่งเมืองหนังสือโลกแก่กรุงเทพฯ มาครอบครอง แต่นั่นก็คงไม่สำคัญเท่ากับเราจะทำอย่างไรกันต่อดี โดยเฉพาะเรื่องสำคัญอย่าง การสร้างนิสัยรักการอ่านให้เกิดขึ้นได้

เพราะแม้ตอนนี้ทางกรุงเทพมหานคร โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะแถลงว่าได้เตรียมมาตรการส่งเสริมการอ่านไว้สารพัด ตั้งแต่เพิ่มยอดการอ่านของกรุงให้ได้ปีละ 20 เล่ม จัดตั้งหอสมุดกรุงเทพฯ จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ประวัติหนังสือไทย จัดตั้งศูนย์วิจัยหนังสือและการอ่านแห่งประเทศไทย จัดตั้งพิพิธภัณฑ์การ์ตูนไทย รวมไปการเป็นเจ้าภาพงานหนังสือระดับ แต่นั่นก็ไม่เป็นเครื่องยืนยันว่าสุดท้ายแล้ว จะทำได้จริงๆ

ฉะนั้น จุดแรกที่คงต้องกลับมาพูดคุยกันให้มากขึ้นกว่านี้ ก็คือ อะไรคือสาเหตุที่ทำให้การอ่านไปได้ไม่ถึงไหน ซึ่งในกรณีหากยกคำพูดของ มกุฎ อรฤดี บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ที่เคยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน ในช่วงที่กรุงเทพฯ เสนอตัวใหม่ๆ ก็คงพอสรุปได้ว่า ปัญหาใหญ่ที่ยังแก้ไม่ตกนั้นมาจาก ผู้เกี่ยวข้องส่วนใหญ่กับเรื่องนี้ยังขาดความจริงจังและความเข้าใจเกี่ยวกับการอ่าน

ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด ก็คือปัจจุบันเมืองไทยแทบจะไม่มีเอกลักษณ์เกี่ยวกับหนังสือหรือการอ่านเลย ที่เห็นอย่างมาก ก็คือ 2 เทศกาลประจำปี อย่างสัปดาห์หนังสือแห่งชาติและมหกรรมหนังสือแห่งชาติ ที่มีการนำหนังสือมาลดราคา แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นการตอบโจทย์ของการสร้างนิสัยรักการอ่านให้เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนแม้แต่นิดเดียว

ขณะที่มิติอื่นๆ อย่างเช่นห้องสมุด ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการอ่าน ทุกวันนี้เมืองไทยก็ยังไม่มี เพราะทุกคนต่างก็มองว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญ ดังเช่นคำอธิบายของ นัชชา นิสสัยสุข บรรณารักษ์ห้องสมุดจตุจักร ซึ่งเล่าให้ฟังว่า ทุกวันนี้มีผู้มาใช้บริการห้องสมุดที่เธอทำหน้าที่เฉลี่ย 50-60 คนต่อวันเท่านั้น

“คนไทยส่วนมากไม่ค่อยอ่านหนังสือกันหรอก อย่างคนมาเข้าใช้ก็จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นหรือลดลงขึ้นอยู่กับเวลา เช่น เวลาพักเที่ยงคนก็เยอะวันไหนที่ข้าราชการว่างเขาก็เข้ามากันเยอะส่วนวันไหนงานยุ่งก็มาใช้กันน้อย แต่หากมองในภาพรวมแล้วเราจะเห็นคนอ่านหนังสือเข้ามาใช้ห้องสมุดเยอะ แต่ถ้าเป็นนักอ่านจริงๆ ประจำก็มีแค่ไม่กี่คนหรอก”

และที่สำคัญไปมากกว่านั้นก็คือ ประเภทหนังสือที่คนไทยอ่าน ซึ่งต้องยอมรับว่า ผู้เชี่ยวชาญในวงการหนังสือ ไม่ว่าจะบรรณาธิการหรือนักเขียนเคยออกมาพูดตรงกันว่า การอ่านหนังสือนั้นไม่ได้สำคัญว่าจะอ่านหรือไม่ แต่สำคัญอยู่ที่สิ่งที่อ่านคืออะไร เพราะหากเป็นหนังสือที่ไม่เพิ่มพูนความรู้ เช่น หนังสือซุบซิบดารา แอบถ่าย หรือเรื่องไร้สาระ หากอ่านไปแล้วอาจจะกลายเป็นโทษมากกว่าประโยชน์ด้วยซ้ำ

ถึงเวลาสร้างความยั่งยืน

ถึงตรงนี้ ก็คงพอเห็นภาพคร่าวๆ ของวัฏจักรอ่านหนังสือในบ้านเราไปแล้วว่าอะไรคืออุปสรรคสำคัญที่ทำให้การอ่านยังไปไม่ถึงไหน

คราวนี้ เรื่องต่อมาที่ต้องกลับมาครุ่นคิดต่อไปก็คือ แล้วสุดท้ายกรุงเทพฯ ควรจะทำอย่างไรต่อถึงจะเป็นเมืองหนังสือโลกได้อย่างแท้จริง ซึ่งในเรื่องนี้ วินัย ชาติอนันต์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เคล็ดไทย จำกัด บอกว่า หากพิจารณาถึงปริมาณการผลิตหนังสือก็นับว่าอยู่ในขั้นที่ดีมากขึ้น เพราะฉะนั้นตอนนี้คงถึงเวลาที่จะหาวิธีทำให้คนตื่นตัวในเรื่องการอ่านมากขึ้นน่าจะสำคัญที่สุด เพราะการอ่านก็คือวิธีที่ทำให้คนมีคุณภาพมากขึ้น

“ผลิตภัณฑ์จะต้องมีความจูงใจให้เกิดการอ่านมากขึ้นกว่านี้ เพื่อที่จะได้สอดคล้องกับความเป็นจริงต้องทำให้คนอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นไปด้วย ที่นี้ถ้าเราดูจากปริมาณหนังสือที่มีการผลิตมากขึ้นก็จะพบว่า คนอ่านกับหนังสือมันยังเหลื่อมล้ำกันอยู่ แต่ว่าการเติบโตมันไม่ทันกัน เพราะหนังสือบางเล่มบางเรื่องมันไม่ได้รับการสนับสนุนเต็มที่ ฉะนั้นเราก็ต้องช่วยกันว่าทำอย่างไรให้พวกสารประโยชน์เข้าสู่ผู้บริโภค อาจจะจัดกิจกรรม นำหนังสือดีไปออกบูท หรือแสดงสินค้าในร้านหนังสือชั้นนำ ตรงนี้คนอ่านเขาก็จะได้รับหนังสือดีกันมากขึ้น”

ขณะที่มกุฎฉายภาพให้เห็นว่า วิธีการที่ดีที่สุดก็คือการใช้มาตรการทางกฎหมาย โดยอาจจะต้องระบุไปเลยว่า ให้ห้างสรรพสินค้ามีห้องสมุดเป็นของตัวเองในอัตราส่วนที่เท่าใดก็ว่าไป ตามสัดส่วนของพื้นที่ทั้งหมด

“ถ้าเป็นแบบนี้ในอนาคตห้างสรรพสินค้าก็จะเปลี่ยนคำโฆษณาจากที่บอกว่าลดราคา 70-80 เปอร์เซ็นต์ก็จะกลายเป็นห้างฯ นี้มีหนังสือมากที่สุดและใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ และสามารถยืมกลับบ้านได้ 5-10 เล่มนะ คุณมานั่งนอนอ่านหนังสือในห้องสมุดเราได้นะ ห้องสมุดเราเปิดได้ 24 ชั่วโมงนะ ต่อไปนี้ก็จะมีกลไกใหม่เกิดขึ้นจะต้องใช้สมองคิดหน่อยไม่ใช่ใช้งบประมาณอย่างเดียว”

ขณะเดียวกัน แนวคิดเรื่องหนังสือดี ก็มีความจำเป็นไม่น้อย ซึ่งทาง กทม. น่าจะมีการพัฒนาเรื่องห้องสมุดอย่างจริงจัง โดยอาจจะสร้างห้องสมุดทั่วกรุงสัก 100 แห่ง แล้วมีกระบวนการคัดเลือกหนังสือดีๆ เข้ามาใส่จนเต็ม ซึ่งนี่ก็จะเป็นการวางรากฐานการเรียนรู้ที่ดีให้แก่อนาคตของชาติได้
..........

แม้กรุงเทพฯ จะได้ตำแหน่งนี้มาครอบครองอย่างสมเกียรติ แต่นี่ก็ถือเป็นภารกิจที่ท้าทายไม่ใช่เล่น เพราะย่อมหมายความว่า ระยะเวลา 2 ปีต่อจากนี้ไป ถึงเป็นช่วงสำคัญที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมแรงร่วมใจ พัฒนาให้มหานครแห่งนี้เป็นเมืองแห่งการอ่านหนังสือจริงๆ เสียที ไม่เช่นนี้ตำแหน่งที่ได้มาก็ย่อมไร้ความหมายและไม่ควรค่าแก่ภาคภูมิใจเลยสักนิดเดียว
>>>>>>>>>>
………
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK



กำลังโหลดความคิดเห็น