xs
xsm
sm
md
lg

เปลี่ยนกรุงเทพฯ เป็นเมืองหนังสือ ฝันซ้ำฝันซากของคนเจ็บแล้วไม่จำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อยากฉลาดต้องอ่านหนังสือเยอะๆ”

เป็นคำพูดที่ติดปากคนไทยมานานแสนนาน แต่ดูเหมือนเรื่องนี้จะไม่เคยเกิดขึ้นจริงในดินแดนแห่งนี้

เห็นได้จากดัชนีการอ่านหนังสือของคนไทย ปี 2553 ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแถลงออกมา พบว่าคนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ย 94 นาทีต่อวันเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยมากๆ

รวมไปถึงวาระเกี่ยวกับเรื่องอ่านและหนังสือซึ่งออกมานับไม่ถ้วน วาระการอ่านแห่งชาติ ลดภาษีกระดาษ อ่านหนังสือปีละ 10 เล่ม แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอดต้องพับโครงการลงตะกร้าจนเกือบหมด

แต่ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาดูจะไม่มีผลต่อการตัดสินใจของคนหน้าใหม่ เพราะล่าสุดกรุงเทพมหานคร (กทม.) ก็ขอทำหน้าที่เป็นหน่วยกล้าตาย เตรียมผลักดันกรุงเทพฯ สู่เวทีโลก ด้วยการเสนอชื่อเข้าแข่งขันเพื่อคัดเลือกเป็นเมืองหนังสือโลกในปี 2556 (World Book Capital 2013) ซึ่งจะประกาศผลในวันที่ 23 เมษายนของทุกปี พร้อมจัดตั้งคณะกรรมการภาคีขับเคลื่อนให้กรุงเทพมหานครเป็น 'มหานครแห่งการอ่าน' ให้จงได้

ได้ยินแค่นี้ก็ทำเอาผู้ที่ติดตามสถานการณ์แทบจะถอนหายใจไม่ทัน เพราะส่วนใหญ่ไม่มั่นใจว่าจะไปรอด แต่อย่างว่าของแบบนี้ไม่ลองไม่รู้ เพราะฉะนั้นงานนี้อย่าเพิ่งสบประมาท กทม. ไป ไม่แน่อาจจะมีหมัดเด็ดที่จะสามารถคว้าชัยในสนามแห่งปัญญานี้แบบสบายๆ เลยก็เป็นได้

เปิดทีเด็ดฉบับ 'กทม.'

งานนี้ กทม.ย้ำนักย้ำหนาไม่ได้มีแค่ราคาคุย แต่ยังมีแผนการรองรับมากมาย ล่าสุดก็ได้ร่างยุทธศาสตร์เอาไว้เรียบร้อยแล้ว และเชื่อว่าภายใน 2 ปีนี้ จะทำให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งการอ่านได้

“เราไม่ต้องการแต่ชื่อ แต่เราต้องทำงานจริงจัง เพราะเราเชื่อว่ากรุงเทพฯ มีโอกาสจะเป็นเมืองหนังสือโลกได้ เอาง่ายๆ เรื่องความทุ่มเทของคนทำงานก็มีเยอะแล้ว เวลาประชุมก็ไม่ขาดกัน แนวโน้มมันจึงดูสดใสมากๆ” สมศักดิ์ จันทวัฒนา ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว ผู้ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโครงการนี้กล่าวอย่างเชื่อมั่น

ซึ่งแผนการที่เตรียมไว้ก็เป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่การขอความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน เอ็นจีโอ เพื่อจัดทำโฆษณา คนจะได้รู้ว่า กทม. กำลังมีนโยบายทำอะไร มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านตลอดทั้งปี เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ จากนั้นก็เพิ่มพื้นที่ในการอ่านหนังสือทั้งการปรับปรุงพื้นที่เดิมให้น่าสนใจเพื่อให้คนเข้าไปใช้บริการมากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันก็จัดหาพื้นที่ใหม่เพื่อให้สามารถอ่านได้ทุกที่ทุกมุม ซึ่งจะเป็นการเน้นการทำความรับผิดชอบต่อสังคมกับภาคเอกชน เช่น ที่สถานีรถไฟฟ้า รถเมล์ รถแท็กซี่ โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล หรือแม้แต่ร้านทำผม และสุดท้ายก็คือการจัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อวิจัยและสนับสนุน โดยนโยบายที่เป็นไปได้ตอนนี้ก็คือ การลดภาษีป้ายให้บริษัท ห้างร้านต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการอ่านเพื่อช่วยลดต้นทุนในการผลิตเหมือนเช่นที่ประเทศอื่นๆ ซึ่งจะทำให้หนังสือมีราคาถูกลง

“เราให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของผู้อ่านให้มาสนใจการอ่านมากขึ้น ต้องให้เขาตระหนักว่าการอ่านคืออำนาจและคือพลัง นอกจากนั้นก็จะเป็นเรื่องของการส่งเสริมการเข้าถึงการอ่าน และไม่ได้เจาะจงไปที่การอ่านหนังสือเป็นเล่มๆ เพียงอย่างเดียว แต่เราหมายถึงการอ่านผ่านสื่อสมัยใหม่ต่างๆ ด้วย อย่างอีบุ๊กด้วย โดยเราเชื่อว่า สังคมแห่งการเรียนรู้คือปลายทางของเรา สังคมที่ดีนั้นมาจากสังคมที่มีคุณภาพ”

โดยมีวิธีวัดผลคือ สำรวจปริมาณการอ่านหนังสือของคนไทยในแต่ละวัยนั้นมีอยู่เท่าไหร่ จากนั้นมาดูว่า การอ่านแบบไหนที่ควรเพิ่มขึ้นอีกบ้าง จากนั้นก็พัฒนาไปทีละจุด โดยนำไปเปรียบเทียบกับเมืองอื่นๆ ว่าเป็นเช่นใด

แต่ก็อย่างที่รู้ๆ กันว่า การพูดนั้นง่ายกว่าการทำเยอะ และงานนี้ก็ไม่ใช่จะสร้างกันง่ายๆ เพราะนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่แผนการแบบนี้ออกมาสักหน่อย ซึ่งผลสุดท้ายเป็นอย่างไรเชื่อว่า ทุกคนคงรู้อยู่แล้ว

ศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจ

“ตอนนี้คุณมีแต่ผักชี แต่ไม่รู้เลยว่าจานอยู่ไหน ไม่รู้ว่าอาหารที่อยู่บนจานนั้นอยู่ที่ไหน คิดแต่จะเอาผักชีไปโรยหน้า ซึ่งมันไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ ผมว่าตอนนี้ อย่าเพิ่งไปคิดถึงประเด็นที่จะเป็นไปได้หรือไม่ แค่คิดว่าคนไทยจะลืมตาอ้าปากในเรื่องการอ่านหนังสือได้อย่างไร และทำเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นจริงเสียก่อนน่าจะดีกว่า” มกุฏ อรฤดี บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อ เปิดฉากเกี่ยวกับโครงการแห่งความฝันครั้งนี้

เพราะต้องยอมรับความเป็นจริงว่า การทำงานของหน่วยราชการไทยทุกวันนี้ คิดถึงแต่ผลประโยชน์เฉพาะหน้า แต่ขาดความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง ซึ่งจะว่าไปแล้วโครงการนี้ก็น่าจะเหมือนกัน

เอาง่ายๆ แค่ความเข้าใจเกี่ยวกับเอกลักษณ์ของเมืองหนังสือที่ดีเป็นเช่นใด หลายๆ คนก็ยังตอบไม่ได้ บางคนอาจจะเข้าใจว่า แค่มีคนมาร่วมงานลดราคาหนังสือที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถือเป็นเอกลักษณ์ที่จะทำให้กรุงเทพฯ คว้าชัยได้ แต่สำหรับมกุฎแล้วยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้

เพราะฉะนั้นเรื่องแรกที่ กทม. ควรจะไปทำก็คือไปศึกษาดูก่อนว่า เมืองที่เคยได้รับรางวัลนั้น ทำไมถึงได้ ที่นั่นมีคุณสมบัติพิเศษอะไรหรือไม่ รวมไปถึงค้นหาเอกลักษณ์ของตัวเองให้เจอ

“ถ้าเราย้อนประวัติศาสตร์การมอบรางวัล ตั้งแต่ปี 2544 ประเทศแรกที่ได้คือ สเปน และเราก็มานั่งวิเคราะห์ดูว่าทำไม ปรากฏว่าสเปนมีมหาวิทยาลัยแห่งแรกมา 800 กว่าปี นั้นหมายความว่าหนังสือเล่มของเขานั้นได้แพร่หลายมากว่า 800 ปีและมีการพัฒนามาเรื่อยซึ่งตอนนี้ก็ยังดีอยู่ เพราะผู้คนของเขาอ่านหนังสือมาก มีสำนักพิมพ์ มีร้านหนังสือ มีคนอ่านหนังสือ และกิจกรรมของเขาในการอ่านหนังสือรัฐบาลก็จะจัดกันเป็นปกติ

“ส่วนประเทศที่ 2 คืออียิปต์ ซึ่งตอนที่ได้เขากำลังมีปัญหาอยู่ แต่ถ้าไปดูจะพบว่าเขามีหอสมุดแห่งชาติที่สวยงาม มีหนังสือมากมายมหาศาล และผู้คนก็นิยมอ่านหนังสือกันเป็นปกติ นั่นแสดงว่าวิธีดูเมืองที่ส่งเข้าประกวดโครงการนี้เขาพิจารณาจากบุคลิกเฉพาะจากเมืองนั้นๆ ไม่ได้มุ่งไปว่าเมืองนี้ผลิตหนังสือหรือต้องอ่านและขายหนังสือเยอะนะ”

ไม่เพียงแค่นั้นเมื่อหันไปมองในวงการตลาดหนังสือ ก็จะพบว่าที่ยืนของหนังสือดีมีคุณภาพนั้นค่อนข้างจำกัด และส่วนใหญ่ก็มักไม่มีคนผลิต ซึ่งในเรื่องนี้ ริสรวล อร่ามเจริญ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ก็ยอมรับตอบตรงว่า ความสนใจของผู้คนยังอยู่ในตลาดกระแสเป็นหลัก

“การที่เราขายหนังสือสักเล่ม ก็ต้องมองภาพทางการตลาดด้วยเป็นอย่างไร เพราะบางทีหนังสือดี มีคุณภาพ แต่ระดับของการอ่าน และความสนใจของผู้ซื้ออาจจะยังไม่ตรงกันก็ได้”

ทางออกอย่างหนึ่งที่บรรดาผู้ผลิตเลือกใช้ก็คือการหยิบหนังสือที่ติดอันดับขายดีของเมืองนอกเข้ามา ซึ่งจะง่ายต่อการประชาสัมพันธ์และการหาจุดเด่นในการขาย

นอกจากนี้ ภาพสะท้อนอีกอย่างจะเป็นอุปสรรคที่ทำให้กรุงเทพฯ ไม่สามารถก้าวไปไกลกว่านี้ได้ ก็คือ ห้องสมุด ซึ่งมกุฎบอกว่า แทบจะไม่ถูกใช้ประโยชน์และขาดการดูแลที่ดีอย่างเห็นได้ชัด

“คุณมีห้องสมุดทั่วกรุงเทพฯ แต่พอมีห้องสมุดแล้วคุณเคยตั้งคำถามหรือเปล่าว่า ในห้องสมุดนั้นมีหนังสืออะไร หนังสือประเภทไหน จริงๆ เรื่องห้องสมุด ใครๆ ก็พูดได้ กทม.อาจอ้างว่าเรามีห้องสมุดเยอะในกรุงเทพฯ แต่ห้องสมุดเยอะคือห้องสมุดโรงเรียน พอไปวิเคราะห์ เราพบเลยว่าหนังสือพวกนี้มีปัญหาเยอะมาก เพราะบางเล่มก็ผลิตออกมาให้ทันเพื่อใช้สอน แต่มีข้อมูลผิดเต็ม ซึ่งบางทีเป็นข้อมูลทางการแพทย์ แล้วถ้าเราไปเชื่อตามก็อาจจะตายได้”

เพราะฉะนั้น ทาง กทม.หากยังปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป สุดท้ายงานนี้ก็ไม่ต่างจากนำเงิน 250 ล้านบาทมาละลายน้ำเล่นดีๆ นั่นเอง

เริ่มได้และต้องเริ่มเลย

แน่นอนทางออกที่น่าจะดีที่สุด ก็คือการขจัดแนวคิดเรื่องการแข่งขันออกไปก่อน แล้วกลับมามองดูว่าจะทำอย่างไรก็ได้ให้การอ่านอยู่ในจิตสำนึกของประชาชน ซึ่งสมศักดิ์ก็บอกว่า ทาง กทม. ไม่ได้นิ่งนอนใจและพยายามส่งเสริมให้เยาวชนอ่านหนังสือมากที่สุด

“เราไม่ได้ส่งเสริมให้อ่านแต่หนังสือวิชาการ คือมนุษย์เรามันต้องมีทั้งไอคิวและอีคิว บางทีการอ่านก็ทำไปเพื่อความผ่อนคลาย อย่างการอ่านนวนิยาย แต่ทั้งนี้ก็ต้องเป็นนิยายที่ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีต่อสังคม”

ขณะที่ มกุฏบอกว่า วิธีการที่ดีที่สุดก็คือการใช้มาตรการทางกฎหมาย โดยอาจจะต้องระบุไปเลยว่า ให้ห้างสรรพสินค้ามีห้องสมุดเป็นของตัวเองในอัตราส่วนที่เท่าใดก็ว่าไป ตามสัดส่วนของพื้นที่ทั้งหมด รวมถึงในคอนโดมิเนียม หมู่บ้านจัดสรร เป็นต้น ซึ่งวิธีนี้ไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณและรับประกันผลแน่นอน

“ถ้าเป็นแบบนี้ในอนาคตห้างสรรพสินค้าก็จะเปลี่ยนคำโฆษณาจากที่บอกว่าลดราคา 70-80 เปอร์เซ็นต์ก็จะกลายเป็นห้างฯ นี้มีหนังสือมากที่สุดและใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ และสามารถยืมกลับบ้านได้ 5-10 เล่มนะ คุณมานั่งนอนอ่านหนังสือในห้องสมุดเราได้นะ ห้องสมุดเราเปิดได้ 24 ชั่วโมงนะ ต่อไปนี้ก็จะมีกลไกใหม่เกิดขึ้นจะต้องใช้สมองคิดหน่อยไม่ใช่ใช้งบประมาณอย่างเดียว”

ขณะเดียวกัน แนวคิดเรื่องหนังสือดี ก็มีความจำเป็นไม่น้อย ซึ่งทาง กทม. น่าจะมีการพัฒนาเรื่องห้องสมุดอย่างจริงจัง โดยอาจจะสร้างห้องสมุดทั่วกรุงสัก 100 แห่ง แล้วมีกระบวนการคัดเลือกหนังสือดีๆ เข้ามาใส่จนเต็ม ซึ่งนี้ก็จะเป็นการวางรากฐานการเรียนรู้ที่ดีให้แก่อนาคตของชาติได้

….....

การอ่านหนังสือ คือรากฐานสำคัญของการเรียนรู้คงไม่ผิด แต่หากว่าการเรียนรู้นั้น ไม่ถูกต่อยอด หรือนำกลับมาทบทวนใหม่อยู่เสมอ ก็คงจะมีปัญหาตามขึ้นมาอย่างไม่หยุดหย่อน

อย่างโครงการมหานครแห่งการอ่านก็เช่นกัน แม้รูปร่างและแนวคิดจะออกมาดี แต่เมื่อไม่ย้อนกลับไปดูที่ต้นตอของปัญหาจริงๆ คำตอบสุดท้ายที่มกุฎบอกถึงความเป็นได้ของเรื่องนี้

“แค่จะตอบว่าไม่ได้ผลยังเสียเวลาและเปลืองน้ำลายเลย”

ก็คงจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนที่สุดแล้ว

****************

เมืองหนังสือโลก คืออะไร

'เมืองหนังสือโลก' เป็นรางวัลที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) มอบให้เมืองเมืองหนึ่ง โดยรางวัลนี้เป็นการสนับสนุนการอ่านและอุทิศให้บุคคลในแวดวงหนังสือ ซึ่งมีวาระตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน หรือวันหนังสือและลิขสิทธิ์โลกของยูเนสโก จนถึง 22 เมษายนปีถัดไป โดยมีการกำหนด คุณสมบัติของประเทศที่จะได้รับการเสนอชื่อดังต่อไปนี้

มีความร่วมมือของทุกภาคส่วนในประเทศนั้นๆ ตั้งแต่หน่วยงานภายในประเทศไปจนถึงระดับนานาชาติ สามารถกำหนดขอบเขตและคุณลักษณะของกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น และให้ความสำคัญกับนักเขียน ผู้ตีพิมพ์ ผู้จัดจำหน่าย และห้องสมุด มีโครงการต่างๆ ที่จะสนับสนุนหนังสือและการอ่านอย่างมีคุณภาพและอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานวิชาชีพทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ อาทิ สมาคมนักเขียน สมาคมผู้จัดพิมพ์ สมาคมห้องสมุด สมาคมร้านขายหนังสือ เป็นต้น มีความเคารพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น สอดคล้องกับปณิธานของสถาบันยูเนสโก และสามารถระบุถึงโครงการในปีที่จะประกวด ว่าจะทำกิจกรรมอะไรบ้างเพื่อให้เป็นเมืองหนังสือโลก ซึ่งจะเป็นการบีบให้เราคิดวางแผนในระยะยาว

ซึ่งที่ผ่านมาก็มีประเทศที่ได้รับเลือกมาแล้ว 12 เมือง 12 ประเทศ ได้แก่

ปี 2001 เมืองมาดริด ประเทศสเปน
ปี 2002 เมืองอเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์
ปี 2003 เมืองนิวเดลี ประเทศอินเดีย
ปี 2004 เมืองอันเวิร์บ ประเทศเบลเยียม
ปี 2005 เมืองมอนทรีอัล ประเทศแคนาดา
ปี 2006 เมืองเมืองตูริน ประเทศอิตาลี
ปี 2007 เมืองโบโกตา ประเทศโคลัมเบีย
ปี 2008 เมืองอัมเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์
ปี 2009 เมืองเบรุต ประเทศเลบานอล ซึ่งในขณะนั้น ที่นี่ต้องเจอกับความท้าทายใหญ่หลวงในเรื่องความสงบและการอยู่ร่วมกัน อย่างสันติ ดังนั้นจุดยืนในการเปิดโอกาสในการแสดงความเห็นจึงจำเป็นในภูมิภาคนี้ ซึ่งหนังสือจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายได้ กรุงเบรุตจึงเป็นสถานที่สำคัญทางวรรณกรรมในการตีพิมพ์ของหนังสืออาหรับ
ปี 2010 เมืองลูบิยาน่า ประเทศสาธารณรัฐสโลวีเนีย
ปี 2011 เมืองบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนติน่า
ปี 2012 ตำแหน่งนี้ตกเป็นของเมืองเยเรวาน ประเทศอาร์เมเนีย

***************

เรื่อง: ทีมข่าว CLICK
ภาพ: ธนารักษ์ คุณทน






กำลังโหลดความคิดเห็น