xs
xsm
sm
md
lg

ภาพลวงตาฤๅความจริง..เมื่อ กทม.ขอเป็นเมืองหนังสือโลก !!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าฯกทม.
โดย...รัชญา จันทะรัง

ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้กรุงเทพมหานคร(กทม.) เตรียมที่จะเสนอตัวเองเข้าแข่งขันเพื่อคัดเลือกเป็นเมืองหนังสือโลก ในปี 2556 (World Book Capital 2013) จากยูเนสโก

...แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดมุ่งหมายนั้นคงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แน่ เพราะการที่จะทำให้คนกรุงเทพฯทั้งหมดหันมาใส่ใจ มีวัฒนธรรมในการอ่านกันทั่วบ้านทั่วเมืองแบบพลิกฝ่ามือคงทำได้ยากยิ่ง แต่เมื่อวันนี้มหานคร กทม.ชูมือขอเข้าชิงรางวัลนี้ ก็คงต้องมาดูกันชัดๆ ว่า เมืองหลวงแห่งนี้มีดีอย่างไร จึงกล้าท้าชิงผู้ครองตำแหน่งเมืองหนังสือโลกในปี 2556

ทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าฯกทม.ในฐานะผู้รับผิดชอบหลัก กล่าวว่า กทม.จะขับเคลื่อนด้วยยุทธศาสตร์ดังต่อไปนี้ คือ 1. การสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน NGO และจัดทำโฆษณาเพื่อเผยแพร่กิจกรรมต่างๆ 2.จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านตลอดทั้งปี เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ 3.การเพิ่มพื้นที่ในการอ่านหนังสือทั้งการปรับปรุงพื้นที่เดิมให้น่าสนใจเพื่อให้คนเข้าไปใช้บริการมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็จัดหาพื้นที่ใหม่เพื่อให้สามารถอ่านได้ทุกที่ทุกมุม ซึ่งจะเป็นการเน้นการทำความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) กับภาคเอกชน เช่น ที่สถานีรถไฟฟ้า รถเมล์ รถแท็กซี่ โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล หรือแม้แต่ร้านทำผม กทม.ก็จะเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยเช่นกัน 4.ร่วมมือเครือข่ายภาคี โดยตั้งศูนย์ประสานงาน เพื่อวิจัยและสนับสนุน อย่างไรก็ตาม กทม.ยังมีแนวนโยบายที่จะลดภาษีป้ายให้บริษัท ห้างร้านต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการอ่านเพื่อช่วยลดต้นทุนในการผลิตเหมือนเช่นที่ประเทศอื่นๆ ซึ่งจะทำให้หนังสือมีราคาถูกลง

ทยา กล่าวต่อว่า การอ่านคือการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้เกิดพัฒนาการทางสมองได้เป็นอย่างดีไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงานก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเหมือนเป็นการลับมีดให้คมตลอดเวลา เพราะที่ผ่านมาคนไทยอ่านหนังสือน้อยมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศเฉลี่ยปีละ 2 เล่มขณะที่ญี่ปุ่น 50 เล่มต่อปี สิงคโปร์ 40 เล่มต่อปี หรือแม้แต่เวียดนามอีกก็อ่านถึง 60 เล่มต่อปีฉะนั้นเราต้องผลักดันให้มีการอ่านมากยิ่งขึ้นซึ่งสอดคล้องกับที่รัฐบาลมีนโยบายให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ

นอกจากนี้ กทม.จะมีการตั้ง Brand Ambassador ใน 3 กลุ่มช่วงวัยๆต่างโดยหนึ่งในนั้นจะมีม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.จะเป็น Brand Ambassador ในกลุ่มคนที่ผ่านประสบการณ์การทำงานมามากมายเพื่อเป็นต้นแบบให้กับกลุ่มคนในช่วงวัยนั้น ด้วย

ขณะที่นักวิชาการด้านการศึกษา อย่าง รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ต้องบอกว่า กทม.มีความกล้าที่จะเสนอตัวเองซึ่งมันเป็นเรื่องที่ท้าทายเพราะสถิติการอ่านในไทยอยู่ในสภาพที่น่าเป็นห่วง แต่ กทม.ก็มีจุดแข็ง คือ โรงเรียนในสังกัด กทม.มีผลสัมฤทธิ์ดีจากประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ.ขณะเดียวกัน ก็มีห้องสมุดมีชีวิตที่สนับสนุนส่งเสริมการอ่านค่อนข้างสมบูรณ์แม้เด็กยากจน ด้อยโอกาส เป็นเด็กอยู่ในสังคมระดับเกิน 50%

“แต่ปัจจุบันนิสัยการอ่านของเด็กไม่ได้อยู่ที่หนังสือแต่อยู่ที่อินเทอร์เน็ตแต่ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับอินเทอร์เน็ต ตรงนี้จะมีการวัดและครอบคลุมถึงหรือไม่ ส่วนการที่ กทม.จะเป็นมหานครในการอ่านคนใน กทม.เองมีวัฒนธรรมและใช้เวลาในการอ่านมากเท่าไหร่ นอกจากนี้ จะต้องมีหนังสือราคาถูกและสื่อที่หลากหลาย ดังนั้น กทม.จะต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน”

นักวิชาการด้านการศึกษา ให้ทัศนะต่อว่า ส่วนงบประมาณที่ กทม.ตั้งไว้ 280 ล้านบาทนั้นไม่เพียงพอกับคน 12 ล้านคน ที่ กทม.จะต้องส่งเสริม กระตุ้นการอ่านมันเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันโดยเฉพาะคนระดับล่างใน 1,800 ชุมชน จะสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตราคาถูก ซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของคน กทม.ที่ยากจนจะทำให้เขามีวัฒนธรรมในการอ่านอย่างไร นี่คือ โจทย์ของ กทม.

ท้ายสุดคงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า กทม.จะสามารถผลักดันตัวเองให้ไปถึงจุดนั้นได้หรือไม่ แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือ ตัวเราเองควรให้ความสำคัญกับการอ่านเพื่อร่วมสร้างวัฒนธรรมการอ่าน ซึ่งผู้ที่ได้ประโยชน์ ก็คือ เราๆ ท่านๆ นั้นเอง....!!
กำลังโหลดความคิดเห็น