xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ตั้งคณะทำงานดูแนวทางหนังสือแสดง “สิทธิการตาย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.ไพจิตร์  วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)
สธ.ตั้งคณะทำงานดูแนวทางปฏิบัติหนังสือแสดง “สิทธิการตาย” เล็งพิจารณา 2 ประเด็นหลัก  ทั้งส่วนของหนังสือแสดงเจตนารมณ์ และเรื่องวาระสุดท้ายของชีวิต คาด สัปดาห์หน้าชัดเจน  ด้าน “หมอเชิดชู” จี้แพทยสภาให้ค้านหนังสือแสดงสิทธิการตาย

นพ.ไพจิตร์  วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึง การเตรียมความพร้อมในส่วนของ สธ. ภายหลังสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัดทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตหรือยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พ.ศ.2553 ว่า  ตนได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อมาดูแลการดำเนินการตามหนังสือดังกล่าว โดยได้มอบหมายให้ นพ.พรเทพ  ศิริวนารังสรรค์ รองปลัด สธ.เป็นประธานคณะทำงาน   ซึ่งการดำเนินการจะเป็นไปในส่วนของสถานพยาบาลสังกัด สธ.เท่านั้น เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรอบคอบสมกับเจตนารมณ์ที่ต้องการให้ประชาชนได้ใช้สิทธิอย่างถูกต้อง ขณะเดียวกัน บุคลากรสาธารณสุขก็สบายใจในการดำเนินการ ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกฟ้องร้อง
               
นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการของคณะทำงานนั้น เบื้องต้นจะหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสถานพยาบาลต่างๆ ของ สธ.ซึ่งจะวางแนวทางหลักๆ ในการทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเด็น คือ 1.การแสดงเจตนารมณ์ของผู้ป่วยและญาติ จะต้องมีนิติกร และแพทย์ผู้ใหญ่ทำหน้าที่ในการพิจารณาว่า การแสดงเจตนารมณ์ดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ หรือเป็นเพียงการพูดจา สิ่งเหล่านี้ต้องมีรายละเอียด และ 2.การวินิจฉัยว่า ผู้ป่วยอยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต กรณีนี้สำคัญมาก ต้องมีคณะบุคคล ซึ่งเป็นทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ขณะเดียวกัน ต้องมีแพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วย และแพทย์ผู้ใหญ่คอยพิจารณา ซึ่งอาจเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์เข้ามาดูแลเรื่องนี้ ซึ่งการพิจารณาวาระสุดท้ายของผู้ป่วยจะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของกลุ่มแพทย์ ไม่มีการกำหนดคำนิยามตายตัว เนื่องจากไม่สามารถระบุเช่นนั้นได้ ซึ่ง 2 แนวทางดังกล่าวจะมีการไปหารือในรายละเอียดอีกครั้ง และจะนำเข้าที่ประชุมเกี่ยวกับเรื่องนี้ในวันที่ 5 ก.ค.นี้  ก่อนจะจัดทำเป็นแนวปฏิบัติ และจัดทำเป็นหนังสือเวียนให้แก่บุคลากรสาธารณสุขที่สังกัด สธ.ทั่วประเทศต่อไป
          
ด้าน  นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการ สช.กล่าวว่า    ในวันที่ 2 สิงหาคมนี้   คณะทำงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจะดำเนินการชี้แจงเจตนารมณ์ และความสำคัญของประกาศดังกล่าว กับบุคลากรสาธารณสุข ทั่วประเทศ เพื่อให้ทราบอย่างชัดเจน และสร้างความเข้าใจที่ตรงกันยิ่งขึ้น โดยจะถ่ายทอดสดผ่านรายการ Health Station  ซึ่งเป็นทีวีของ สช.และเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ http://www.nationalhealth.or.th/  ส่วนกรณีคำนิยาม “วาระสุดท้ายของชีวิต”  ซึ่งมีบุคลากรบางส่วนมองว่ายังไม่ชัดเจนนั้น ยืนยันว่า ยังคงใช้ดุลยพินิจของแพทย์เป็นหลัก โดยเชื่อว่า แพทย์ผู้รักษาทราบดีว่า ผู้ป่วยรายใดเข้าข่ายอยู่ในวาระดังกล่าว  
               
นพ.อำพล กล่าวต่อว่า   ขั้นตอนหลังจากนี้ เราจะไม่ย้อนกลับไปโหวต ว่า  จะเห็นด้วยหรือไม่ ในหนังสือดังกล่าว แต่จะเดินหน้าต่อ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับบุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศว่ารายละเอียดเป็นอย่างไรบ้าง แล้วผู้ป่วยสามารถจะกำหนดอะไรในหนังสือดังกล่าวได้บ้างเป็นต้น   เพราะหนังสือดังกล่าวประกาศเป็นกฎกระทรวง เรียบร้อยแล้ว

ขณะที่  พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย( สผพท.) กล่าวว่า สืบเนื่องจากการสัมมนาเรื่อง “เจตนารมณ์การขอใช้สิทธิการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต : ผลกระทบต่อ ผู้ป่วยและแพทย์” ที่จัดขึ้นโดยคณะกรรมาธิการสาธารณสุขวุฒิสภา เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2554 ที่ผ่านมา นายสรรค์ชัย ชญานิน ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา กล่าวว่า กฎกระทรวงดังกล่าวหากไม่สามารถบังคับใช้ได้ก็จะถือว่าผิดรูปแบบของการออกกฎหมาย และแพทย์ที่ไม่เห็นด้วยก็ยื่นฟ้องต่อ ศาลปกครองสูงสุดให้ยกเลิกกฎกระทรวงนี้ได้ ซึ่งจะส่งผลให้กฎกระทรวงหมดสภาพและกฎหมายแม่ ซึ่งก็คือ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 เป็นกฎหมายที่มีช่องโหว่จากนั้นก็สามารถยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิพากษา  พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติเป็นโมฆะได้ ซึ่งแพทย์ส่วนมากที่ยังทำงานเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม มีความเห็นว่า ควรจะต้องมีการดำเนินการเพื่อยุติการบังคับใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ก่อน เพื่อป้องกันปัญหาอันร้ายแรงที่จะเกิดจากผลของกฎกระทรวงฉบับนี้

“เนื่องจากแพทยสภา เป็นสภาวิชาชีพจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ที่มีวัตถุประสงค์ตามมาตรา 7(1) ควบคุมการประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ให้ถูกต้องตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมและตามมาตรา 7(6) เป็นตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในประเทศไทย แพทยภาจึงควรยื่นดำเนินการในฐานะทั้งสองดังกล่าว โดยการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้ยกเลิกเพิกถอน กฎกระทรวงดังกล่าว และสามารถติดตามดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้พิพากษาว่า พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติมีช่องโหว่ในการบังคับใช้ สมควรยกเลิกเพิกถอนออกจากสารบบของกฎหมายไทยต่อไป ถ้าแพทยสภาได้ดำเนินการใดๆ ไปแล้ว กรุณาแจ้งให้สมาชิกแพทยสภาทุกท่านทราบด้วย” พญ.เชิดชู กล่าว  
กำลังโหลดความคิดเห็น