xs
xsm
sm
md
lg

เผยไทยยังไม่พบเชื้ออีโคไลชนิดใหม่ในผัก ย้ำ มีระบบเฝ้าระวังทั้งด่าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ  ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่  กรมควบคุมโรค
ปลัด สธ.เผยไทยยังไม่พบเชื้ออีโคไลชนิดใหม่ ชี้ ประชาชนไม่ต้องกังวล  ย้ำชัดมีระบบเฝ้าระวังทั้งด่าน ทั้งภายในประเทศ  แนะป้องกันโรคโดยกินอาหารปรุงสุก ล้างมือให้สะอาด ขณะที่อย.สุ่มตรวจผักผลไม้ไม่พบเชื้อปนเปื้อน
           
วันนี้  นพ.ไพจิตร์  วราชิต  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคอุจจาระร่วงที่เกิดจากเชื้อ Shigatoxin-producing E.coli (STEC)  O  104  ในประเทศแถบยุโรป ว่า ในส่วนของประเทศไทยนั้น สธ.ได้ติดตามสถานการณ์การระบาดอย่างใกล้ชิด จากการเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบโรคอุจจาระร่วงทั่วไป ซึ่งเป็นโรคประจำถิ่นในประเทศแถบร้อนปีละประมาณ 1 ล้านกว่าราย  ซึ่งในประเทศไทยปี 2554 มีรายงานทั่วประเทศประมาณ 530,000 ราย เสียชีวิต 21 ราย โดยยังไม่พบผู้ป่วยที่ติดเชื้ออีโคไล ชนิดรุนแรงที่ทำให้เกิดอาการเม็ดเลือดแดงแตก และไตวาย ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กำลังระบาดในยุโรปขณะนี้  โดยสายพันธุ์ดังกล่าวเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ทั่วโลกต่างเฝ้าระวัง รวมทั้งประเทศไทย  ซึ่ง สธ.มีระบบเฝ้าระวังใน 2 ส่วน คือ การเฝ้าระวังภายในประเทศ และตัวด่านอาหารและยา ซึ่งอยู่ระหว่างหารือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการเฝ้าระวัง เบื้องต้นยังไม่พบสารปนเปื้อนในผักสดแต่อย่างใด
        
“การเฝ้าระวังภายในประเทศนั้น  โดยปกติโรงพยาบาลแต่ละแห่งจะมีห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจเชื้อต่างๆอยู่แล้ว หากพบผู้ป่วยที่มีอาการน่าสงสัยหรือใกล้เคียง อย่างอุจจาระร่วงรุนแรง และมีการซักประวัติการเดินทางก็จะมีการตรวจเชื้อทันที  จึงไม่ต้องกังวล ซึ่งหากกรณีที่โรงพยาบาลใดตรวจเชื้อไม่ได้ก็จะนำส่งมายังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เรื่องนี้ไม่ต้องกังวล เนื่องจากทางระบาดวิทยา จะมีเครือข่ายอยู่ตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชนอยู่แล้ว การเฝ้าระวังก็จะเป็นไปโดยอัตโนมัติ แต่ขอย้ำว่า ณ ขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อดังกล่าวในประเทศไทย” นพ.ไพจิตร์ กล่าว
       
ผู้สื่อข่าวถามว่า จำเป็นต้องมีการตรวจคัดกรองบริเวณสนามบินด้วยหรือไม่ ปลัด สธ.กล่าวว่า ยังไม่ถึงขนาดนั้น เนื่องจากบางรายอาจไม่แสดงอาการก็เป็นได้  โดยปกติระยะฟักตัวจะอยู่ที่ประมาณ 1-3 วัน อย่างไรก็ตาม  ขอให้คนไทยสบายใจได้ เพราะยังไม่พบเชื้อนี้ในไทยทั้งจากคน หรือแม้แต่อาหาร เนื่องจากไทยมีการนำเข้าผักจากยุโรปน้อยมาก  เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม สามารถผลิตพืชผักบริโภคได้ตลอดปี    

ปลัด สธ.กล่าวต่อว่า จริงๆ แล้วหากทุกคนมีสุขอนามัยที่ดีก็สามารถป้องกันโรคอุจจาระร่วงได้ โดยให้ยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และถ่ายอุจจาระลงส้วม   ในการล้างมือนั้น ขอให้ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งหลังใช้ห้องส้วมและก่อนรับประทานอาหาร  ทั้งนี้ สำหรับวิธีการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยจากโรคระบบทางเดินอาหาร คือ     การปรุงสุกผ่านความร้อน โดยเฉพาะอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ความร้อนจะทำลายเชื้อโรค รวมทั้งไข่พยาธิที่อาจปนเปื้อนอยู่ในอาหารได้      
นอกจากนี้  ขอให้ล้างผักก่อนด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ผักที่มีลักษณะเป็นกาบ เป็นหัว เช่นกะหล่ำปลี ผักกาดขาว ให้ลอกเปลือกชั้นนอกทิ้งไป  และแกะกลีบหรือใบออกจากต้น ตลอดจนคลี่ใบและถูกระหว่างการล้าง เพื่อให้น้ำผ่านได้อย่างทั่วถึง ในการล้างควรล้างผักผ่านน้ำไหลนานประมาณ 2 นาที การล้างวิธีนี้จะช่วยลดปริมาณเชื้อโรค และพยาธิรวมทั้งลดปริมาณการปนเปื้อนเคมีที่ใช้ในภาคเกษตรลงได้ นอกจากนี้ ขอให้แยกเก็บอาหารระหว่างเนื้อสัตว์สด และผักสด ไม่ให้ปะปนกัน เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรค 

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ  ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่  กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า  หลังจากที่พบการระบาดเพิ่มขึ้นจากประเทศเยอรมนีไปยังประเทศอื่นในยุโรปนั้น ขณะนี้ได้แจ้งให้สถานพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศให้เร่งตรวจผู้ป่วยทีมีการท้องร่วง มีมูกเลือด ในพื้นที่ โดยนำมาตรวจหาเชื้อในห้องปฏิบัติการ แต่เนื่องจากในประเทศไทยยังไม่เคยพบการระบาดและทั่วโลกในโซนยุโรปยังพบโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อ    อีโคไล  ชนิดโอ 104 น้อย จึงยังไม่น่าห่วงมากนัก   แต่สำหรับผู้เดินทางเข้า ออกในประเทศไทย  โดยทั่วไปนั้นผู้เดินทางจะแจ้งอาการป่วยเอง หรือเจ้าหน้าที่ในด่านก็สังเกตอาการอยู่แล้ว หากพบว่า ป่วย ก็จะต้องส่งตัวตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุ   ดังนั้นขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องส่งทีมแพทย์เพื่อเฝ้าระวังแต่อย่างใด

สำหรับปัจจัยที่ก่อให้เกิดเชื้ออีโคไล นั้นมีรายงาว่าในพื้นที่ที่ระบาด เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ทำให้อาการหรือผลิตผลทางการเกษตรมีการปนเปื้อน เมื่อรับประทานเข้าไปก็ทำให้เกิดอาการผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร โดยทราบว่า ผู้ป่วยที่ เสียชีวิตนั้น ไม่ใช่เพราะเชื้อโดยตรง แต่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ  เช่น ถ่ายไม่หยุด อาเจียนบ่อยทำให้ไตทำงานหนัก จึงช็อกและเสียชีวิต  ซึ่งพบว่าอาการรุนแรงขึ้นภายใน 3-4 วัน นับจากวันที่รับเชื้อ” นพ.รุ่งเรือง กล่าว 

นพ.คำนวณ   อึ้งชูศักดิ์  ผู้ทรงคุณวุฒิ  กรมควบคุมโรค  กล่าวว่า  เชื้อชนิดที่พบการระบาด คือ เชื้อShigatoxin-producing E.coli (STEC)  หรือ STEC O 104  ซึ่งมีความรุนแรงกว่าอีโคไลทั่วไป โดยมีส่วนไปทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย  เหนื่อยง่าย โดยขณะนี้ทั่วโลกมีเสียชีวิต 17 ราย ป่วย 1,000 กว่าราย  ซึ่งถือว่ายังไม่น่าห่วงมากแต่จำเป็นต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อนั้นมีโอกาสถ่ายทอดจากคนสู่คนได้ แต่ไม่มาก ดังนั้นหากประชาชนจะเดินทางไปต่างประเทศที่มีการระบาดจำเป็นจะต้องเลือกกินอาหารปรุงสุก และหากประกอบอาหารทานเองก็ต้องมีการแยกเขียงหั่นเนื้อ หั่นผัก และต้องล้างมือให้สะอาดด้วย

“อาหารที่ต้องเฝ้าระวัง คือ อาหารพวกสลัดผัก ผลไม้ เพราะเป็นอาหารสด แต่สำหรับคนไทยนั้น ส่วนนี้ไม่น่าจะต้องห่วงมากนัก เพราะมีพฤติกรรมของคนไทยส่วนใหญ่นิยมทานผักต้ม”  นพ.คำนวณ    กล่าว

นพ.พิพัฒน์  ยิ่งเสรี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า  เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ทางอย.ได้สุ่มตรวจผักและผลไม้จากสเปน  เยอรมนี บางส่วน พบว่า ไม่มีการปนเปื้อนของเชื้ออีโคไล  
กำลังโหลดความคิดเห็น