xs
xsm
sm
md
lg

นัดหาแนวทางป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากเชื้ออีโคไลพรุ่งนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“จุรินทร์” นัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากเชื้ออีโคไล
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในวันที่ 6 มิ.ย.เวลา 13.30 น.นายจุรินทร์ ลักษณ์วิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เตรียมหารือวางแนวทางป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากเชื้ออีโคไล ชนิด O 104 โดยมีกรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมการแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดูแลทั้งเรื่องการตรวจเฝ้าระวังเชื้อ ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล การตรวจวิเคราะห์ และเตรียมความพร้อมด้านการรักษาพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลเอกชน

นพ.ไพจิตร์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า สถานการณ์การระบาดของเชื้ออีโคไล ชนิด O 104 จะไม่รุนแรง และติดต่อง่ายเท่ากับการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่ผ่านทางระบบหายใจ การไอ จาม เนื่องจากการระบาดของเชื้อโรคดังกล่าว เป็นการติดต่อผ่านอาหารและน้ำ ที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรค เพียงแต่ประชาชน รู้จักการป้องกันตนเองเบื้องต้นด้วยสุขบัญญัติพื้นฐาน การล้างมือให้สะอาด ก่อนปรุงและรับประทานอาหาร รับประทานอาหารที่ปรุงสุก และใช้ช้อนกลาง ในการตักอาหาร

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า สำหรับแนวทางการรักษาหากมีการระบาดของโรคดังกล่าวขึ้น หากผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการท่องร่วงโดยอุจจาระถ่ายเหลวมีเลือดปน รวมถึงมีประวัติการเดินทางไปต่างประเทศหรือสัมผัสกับผู้ที่เดินทางจกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงแพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยหาเชื้อ Shiga toxin จากอุจจาระ จากนั้นรักษาโรคตามอาการที่ปรากฏ เหมือนกับการรักษาโรคบิด อุจจาระร่วงโดยทั่วไป

นพ.รุ่งเรือง กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงสามารถหายได้เองภายใน 10 วัน จะมีบางรายที่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น เม็ดเลือดแดงแตก ไตวาย ซึ่งอัตราการเสียชีวิตจะอยู่ที่ร้อยละ 5 ทั้งนี้ สำหรับการดูแลตนเองจะไม่แนะนำให้รับประทานยาปฏิชีวนะ หรือยาหยุดถ่าย หากขาดน้ำก็จะมีการให้น้ำเกลือ หรือรับประทานเกลือแร่ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นให้รีบพบแพทย์

นพ.รุ่งเรือง กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีผู้ป่วยโรคดังกล่าว รวมถึงการปนเปื้อนในผักผลไม้ที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ซึ่งส่วนตัวมองว่ามาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดในสนามบินไม่จำเป็นต้องตั้งด่านตรวจเข้มข้นอย่างกรณีไข้หวัดใหญ่ 2009 เนื่องจากประเทศไทยมีระบบควบคุมโรคที่ดีอยู่แล้ว อีกทั้ง ปกติเชื้อโรคดังกล่าวมีระยะฟักตัวจะอยู่ที่ประมาณ 2-5 วัน และหลังจากติดเชื้อแล้วจะมีอาการในอีก 3-4 วัน อีกทั้งบางรายไม่ปรากฏอาการ ดังนั้น หากเดินทางมาจากต่างประเทศหากมีอาการท้องร่วงก็ให้รีบพบแพทย์ทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น