xs
xsm
sm
md
lg

เตือนผู้ป่วยท้องร่วง มาจากเยอรมนีพบแพทย์อย่าซื้อยาทาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
กรมควบคุมโรค แนะผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงที่มีประวัติเดินทางมาจากเยอรมนี ให้พบแพทย์อย่าซื้อยากินเองเสี่ยงเสียชีวิต พร้อมแจ้งสถานพยาบาลทุกแห่งให้ระมัดระวังรักษาบุคคลกลุ่มนี้เป็นกรณีพิเศษ สำหรับประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะเด็กช่วงนี้เร่งดูแลความสะอาดส่วนบุคคล กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ

วันนี้ (2 มิ.ย.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แนะนำการป้องกันโรคจากเชื้อแบคทีเรียอี-โคไล ชนิดผลิตสารพิษชิก้า Shigatoxin-producing E.coli (STEC) หลังพบการระบาดเพิ่มขึ้นจากประเทศเยอรมนีไปยังประเทศอื่นในยุโรป และจากรายงานขององค์การอนามัยโลก เมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยกลุ่มอาการเม็ดเลือดแดงแตก และไตวาย Haemolytic uraemic syndrome (HUS) จำนวน 276 ราย เสียชีวิต 3 ราย ในประเทศเยอรมนี ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคเหนือของประเทศ และพบผู้ป่วย HUS ในประเทศสวีเดน 10 ราย ผู้ป่วยทุกรายในประเทศสวีเดนมีประวัติเดินทางไปประเทศเยอรมนี นอกจากนี้ ศูนย์ป้องกันควบคุมโรคแห่งสหภาพยุโรป (European Centre for Disease Prevention and Control; ECDC) แจ้งว่า พบการระบาดของผู้ป่วย HUS อย่างรวดเร็ว จำนวน 15 ราย ในประเทศอังกฤษ เดนมาร์ก สวีเดน และ เนเธอร์แลนด์ ในจำนวนนี้มี 1 รายที่ได้รับการยืนยันเชื้อ STEC O104 ผู้ป่วยทุกรายมีประวัติเดินทางไปเยอรมนี ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป เพศหญิงป่วยมากกว่าเพศชาย เด็กเล็ก หรือผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงต่อโรคอุจจาระร่วงกลับป่วยเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกยังแนะนำให้ประเทศสมาชิกป้องกันโรคโดยการล้างมือ รวมทั้งดูแลความสะอาดในเด็กเล็ก หรือผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่องเป็นพิเศษ ขณะเดียวกัน ยังไม่แนะนำการจำกัดการเดินทางท่องเที่ยว หรือค้าขายแต่อย่างใด

โรคอุจจาระร่วงจากเชื้อแบคทีเรียอี-โคไล ชนิด โอ104 ผลิตสารพิษชิก้า (STEC) นี้ มีความรุนแรงมาก ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง ถ่ายเหลว อาจมีเลือดปน มีไข้ อาเจียน ส่วนใหญ่จะหายภายใน 10 วัน ผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะเม็ดเลือดแดงแตก และไตวาย ทำให้เสียชีวิตในที่สุด อัตราการตายสูงถึงร้อยละ 5 ผู้ป่วยบางรายมีภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท เช่น ช็อกหมดสติได้ อย่างไรก็ตาม โรคนี้รักษาได้และสามารถป้องกันได้ เชื้อนี้จะถูกทำลายด้วยความร้อนตั้งแต่ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป การป้องกันทำเช่นเดียวกับการป้องกันโรคระบบทางเดินอาหารทั่วๆไป ได้แก่ ปรุงสุก อุ่นให้ร้อนก่อนรับประทาน การรับประทานอาหารร่วมกันให้ใช้ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนและหลังการเตรียมอาหารหรือการบริโภคอาหารและหลังจากสัมผัสห้องส้วม รวมทั้งหลังสัมผัสสัตว์ โดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ต้องเลือกใช้วัตถุดิบที่สะอาด สด ใหม่ ในการประกอบอาหาร และเก็บถนอมอาหารไว้ในตู้เย็น ไม่ควรวางอาหารทิ้งไว้ข้างนอกนานเกิน 2 ชั่วโมง

สำหรับผู้ที่มีประวัติ รับประทานอาหารจากประเทศเยอรมนี หรือเคยเดินทางไปเยอรมนี ในช่วงที่เริ่มมีการระบาดถึงปัจจุบัน หรือกลางเดือนพฤษภาคม โดยมีอาการปวดท้อง ท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือดควรรีบไปพบแพทย์ด่วน พร้อมแจ้งประวัติเสี่ยงให้แพทย์ทราบและไม่ควรรับประทานยาระงับการถ่ายอุจจาระหรือยาปฏิชีวนะ การรับประทานยานี้จะทำให้อาการป่วยแย่ลง

นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า ประชาชนไม่ต้องวิตก ขณะนี้ยังไม่พบโรคอุจจาระร่วงจากเชื้ออี-โคไล ชนิด โอ104 ในประเทศไทย แต่กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีระบบการเฝ้าระวังโรคนี้อย่างเข้ม ทั้งการเฝ้าระวังด้านระบาดวิทยา และห้องปฏิบัติการ รวมทั้งติดตามสถานการณ์จากต่างประเทศอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ได้แจ้งเตือนสถานพยาบาลให้ระมัดระวังในการรักษาผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงที่มีประวัติเดินทางมาจากประเทศเยอรมนีเป็นพิเศษ
กำลังโหลดความคิดเห็น