xs
xsm
sm
md
lg

ยุโรปยังมึนไม่รู้ต้นตอที่ทำให้ “เชื้ออีโคไล” ระบาดใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สตรีแดนกระทิงดุรายนี้ถือแตงกวาที่ได้รับแจกฟรีๆ เพื่อเป็นการประชดประชันเยอรมนี หลังจากเจ้าหน้าที่เมืองฮัมบูร์กกล่าวหาว่าแตงกวาจากสเปนเป็นต้นตออี.โคไล
เอเอฟพี - บรรดานักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถสืบสาวไปจนถึงต้นตอที่ทำให้เชื้อแบคทีเรีย อี.โคไล เกิดการระบาดใหญ่ในยุโรป โดยที่ในเวลานี้ได้แพร่ออกไปยัง 12 ประเทศ และคร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อยที่สุด 19 คน ส่วนใหญ่อยู่ในเยอรมนี ทั้งนี้เมื่อวันเสาร์(4)ที่ผ่านมา พวกผู้เชี่ยวชาญระบุว่า “เทศกาลเมืองฮัมบูร์ก” ไม่ได้เป็นตัวการสำคัญของการระบาดอย่างที่มีผู้ตั้งข้อสงสัยกัน

คณะกรรมาธิการยุโรปที่เป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป (อียู) แถลงว่า จะส่งทีมผู้เชี่ยวชาญไปยังเยอรมนี เพื่อสนับสนุนเพิ่มพูนความพยายามในการค้นหาจุดเริ่มต้นของแบคทีเรียอันตรายถึงตายชนิดนี้ ขณะที่กาตาร์กลายเป็นประเทศล่าสุดที่สั่งห้ามนำเข้าสินค้าประเภทผักสดจากแดนดอยช์

หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ “โฟกัส” ของเยอรมันรายงานในวันเสาร์ว่า พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบสงสัยกันว่า เทศกาลท่าเรือซึ่งจัดขึ้นในเมืองฮัมบูร์กระหว่างวันที่ 6-8 พฤษภาคม และดึงดูดผู้มาเที่ยวจากทั้งในเยอรมนีและต่างประเทศเป็นจำนวน 1.5 ล้านคน อาจจะเป็นต้นตอของการระบาด

แต่ สถาบันโรเบิร์ต-โคช ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับชาติด้านเชื้อโรคของเยอรมนี ออกมาแถลงว่าไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องกัน “ข้อมูลของสื่อมวลชนที่พูดถึงการเชื่อมโยงกันระหว่างการติดเชื้อ อี.โคไล กับการชุมนุมผู้คนขนาดใหญ่ๆ นั้น ไม่ได้สอดรับกับความรู้ของทางสถาบันเอาเลย” สำนักข่าวดีพีเอของเยอรมันอ้างคำแถลงของสถาบันนี้

สื่อมวลชนท้องถิ่นยังรายงานว่า ชายกลางคนวัย 50 เศษผู้หนึ่งได้เสียชีวิตในเมืองบรันเดนบูร์ก โดยเขาอาจจะเป็นเหยื่อรายที่ 20 ของเชื้อแบคทีเรียนี้ในยุโรป ทว่าสาเหตุการตายของชายผู้นี้ยังไม่แน่นอน เพราะนอกจากเชื้ออีโคไลแล้ว เขายังติดเชื้ออื่นๆ อีกหลายชนิด

นอกจากนั้นยังมีรายงานข่าวของสื่อเยอรมันที่ระบุว่า ตำรวจกำลังสอบสวนภัตตาคาร 2 แห่งในเมืองลืบเบค ทางภาคเหนือของประเทศ โดยที่แห่งหนึ่งเป็นสถานที่ซึ่งแขกผู้มารับประทานอาหารถึง 17 คนล้มป่วย ส่วนอีกแห่งหนึ่งก็มีสตรี 8 คนได้รับเชื้อ โดยที่คนหนึ่งถึงขั้นเสียชีวิต

อย่างไรก็ดี คริสเตียน ไซเฟิร์ต โฆษกของกระทรวงคุ้มครองผู้บริโภคในภูมิภาคนี้บอกว่า การคาดเดาที่ว่าภัตตาคารเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการระบาดนั้น ไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด

สถานการณ์โรคระบาดจากเชื้อแบคทีเรียที่เยอรมนีกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ ถือว่าหนักหนาสาหัสที่สุดในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมาทีเดียว ทั้งนี้ตั้งแต่ที่เชื้อ เอนเทอโรเฮโมร์ราจิก อี.โคไล (enterohaemorrhagic E. coli อี.โคไล ชนิดที่มีเลือดออก) หรือเรียกย่อๆ ว่า อีเฮก (EHEC) เริ่มต้นระบาดขึ้นในยุโรปเมื่อเดือนทีแล้ว การเสียชีวิตทั้งหมดยกเว้นเพียงรายเดียวต่างเกิดขึ้นในเยอรมนี แถมคนไข้รายเดียวซึ่งไปเสียชีวิตในสวีเดนก็เป็นผู้ที่เพิ่งกลับออกมาจากเยอรมนี

ปัจจุบัน นอกจากเยอรมนีแล้ว ชาติอื่นๆ ที่พบผู้ป่วยด้วยเชื้ออี โคไล ยังประกอบด้วย ออสเตรีย, อังกฤษ, สาธารณรัฐเช็ก, เดนมาร์ก, ฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์, นอร์เวย์, สเปน, สวีเดน, สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา โดยที่คนไข้เหล่านี้ต่างมีประวัติเกี่ยวข้องอยู่กับการเดินทางไปเยอรมนี

สำหรับผู้ที่ล้มป่วยนั้น พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบด้านสาธารณสุขในระดับภาคของเยอรมนีรายงานว่า มีอยู่มากกว่า 2,000 ราย โดยที่ผู้ป่วยเหล่านี้มีอาการปวดกระเพาะอาหารอย่างฉับพลัน, ท้องร่วง, มีไข้ และอาเจียน

ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นสตรี ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าต้นตอของเชื้อ “อาจจะเป็นอะไรบางอย่างที่สตรีชมชอบมากกว่าบุรุษ” แอนเดรีย เอลลิส นักระบาดวิทยาประจำฝ่ายความปลอดภัยอาหาร ขององค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงจากนครเจนีวา

ในคนไข้บางราย การติดเชื้อยังอาจนำไปสู่การเกิดโรคกลุ่มอาการเม็ดเลือดแดงแตก -ไตวาย (haemolytic uraemic syndrome หรือ HUS) ซึ่งมีความร้ายแรงถึงทำให้ตายได้

ตามตัวเลขขององค์การอนามัยโลก มีผู้ป่วยอย่างน้อย 552 รายที่ป่วยด้วยกลุ่มอาการนี้ ในจำนวนนี้ 520 คนอยู่ในเยอรมนี ขณะที่มีชาติในยุโรปอื่นๆ 10 ชาติและสหรัฐฯรายงานว่า พบการติดเชื้อ HUS หรือไม่ก็ EHEC

องค์การอนามัยโลกได้ระบุเชื้อแบคทีเรียที่กำลังระบาดอยู่นี้ว่า เป็น อี.โคไล สายพันธุ์หายาก ซึ่งไม่เคยพบมาก่อนว่าเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดด้วยการทำให้อาหารเป็นพิษ อย่างไรก็ตาม พวกนักวิจารณ์ในนครฮัมบูร์กและในประเทศจีนระบุว่า มันเป็นเชื้อ “ประเภทใหม่” ที่รุนแรงอย่างยิ่งแถมสามารถต่อต้านยาปฏิชีวนะได้อย่างน่ากลัวด้วย

วิกฤตด้านสุขภาพคราวนี้ยังกำลังจุดชนวนให้เกิดความตึงเครียดทางการค้าขึ้นในยุโรป

ตอนแรกทีเดียว เยอรมนีกล่าวโทษว่าการระบาดมีสาเหตุจากแตงกวาที่นำเข้าจากสเปน แต่ต่อมาก็ยอมรับว่าไม่มีข้อมูลที่สนับสนุนอย่างหนักแน่นในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม สเปนระบุว่าการป่าวร้องโดยขาดหลักฐานได้ทำให้ผักผลไม้ของตนขายไม่ออก ได้รับความเสียหายประมาณสัปดาห์ละ 200 ล้านยูโร และตนจะเรียกร้องค่าชดเชย

ทางด้านประเทศอื่นๆ เช่น รัสเซีย และเลบานอน ได้ออกประกาศห้ามนำเข้าผักจากสหภาพยุโรป โดยที่ในวันเสาร์ กาตาร์ได้สั่งห้ามนำเข้าแตงกวา, มะเขือเทศ และผักกะหล่ำ จากทั้งสเปนและเยอรมนี
กำลังโหลดความคิดเห็น