xs
xsm
sm
md
lg

กรมควบคุมโรคเตือนประชาชนอย่าตื่นเชื้ออี.โคไล แพร่จากคนสู่คน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมควบคุมโรค แจงประชาชนอย่าตื่นเต้น เรื่องอี.โคไล ยันเตรียมรับมือ “อี.โคไล ชนิดรุนแรง โอ 104” จาก 2 ทาง ทั้งจากผู้ป่วยที่มีเชื้อโรคอี.โคไล เดินทางเข้ามาในประเทศไทย และการตรวจพบเชื้อจากห่วงโซ่อาหาร เพิ่มมาตรการการเฝ้าระวัง ประชุมติดตามสถานการณ์เพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 3 ครั้ง เตือนประชาชนทั่วไปต้องดูแลความสะอาดส่วนบุคคล และการปรุงอาหาร ย้ำ มาตรการ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ และเตือนผู้ป่วยอุจจาระร่วง ควรหยุดปรุงอาหารเพราะเป็นช่องทางแพร่โรคไปสู่ผู้อื่น

วันนี้ (20 มิ.ย.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงวสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวพบการติดเชื้อโรคอี.โคไล ชนิดรุนแรง โอ 104 ในเยอรมนี โดยมีการระบาดระหว่างคนสู่คน ว่า จากการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ พบว่า มีรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งศึกษา ณ วันที่ 17 มิ.ย.2554 พบผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันโรคติดเชื้อแบคทีเรียอี.โคไล ชนิดรุนแรงสายพันธุ์ โอ 104 สะสมรวมทั้งสิ้น 3,517 ราย เสียชีวิต 39 ราย แยกเป็น ผู้ป่วย HUS (เม็ดเลือดแดงแตกและไตวาย) จำนวน 838 ราย เสียชีวิต 26 ราย และเป็นผู้ป่วยติดเชื้อ EHEC (ถ่ายเป็นเลือด) จำนวน 2,679 ราย เสียชีวิต 13 ราย ใน 16 ประเทศ ดังนี้ ประเทศเยอรมนี สวีเดน เดนมาร์ก สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย สเปน สาธารณรัฐเช็ก โปแลนด์ นอร์เวย์ ลักเซมเบอร์ก กรีซ สหรัฐอเมริกา และ ประเทศแคนาดา

“สถานการณ์การระบาดและข้อมูลที่พบเพิ่มเติมในแถบประเทศยุโรป กรมควบคุมโรคจะมีการเพิ่มการประชุมของศูนย์เฝ้าระวังโรค จาก 1 วันต่อสัปดาห์ เป็น 3 วันต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ ทุกวันจันทร์ จะมีการประชุมของสำนักควบคุมโรคติดต่อกับสำนักควบคุมโรคทั่วประเทศ โดยในการประชุมของสัปดาห์นี้ จะมีการเน้นในเรื่องสุขอนามัยของผู้ประกอบการอาหารต่างๆ ให้สำนักควบคุมโรคต่างๆ แจ้งเตือนว่า หากผู้ทำอาหารเจ็บป่วย โดยเฉพาะด้วยโรคทางเดินอาหาร ให้หยุดขายจนกว่าจะหายเป็นปกติเพื่อไม่ให้เกิดการติดต่อไปยังผู้บริโภคได้” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

ด้านนพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ คร.กล่าวว่า โดยปกติเชื้อโรคจะอยู่ในคน สัตว์ สิ่งแวดล้อม หากสัตว์ติดเชื้อจากคน จะเรียกว่า ติดเชื้อจากสัตว์สู่คน หากเชื้อติดจากคนหนึ่งไปอีกคน จะเรียกว่า เชื้อจากคนสู่คน แต่ไม่ได้สำคัญเท่าช่องทางการติดเชื้อ โดยการติดเชื้อสามารถแบ่งช่องทางออกเป็นติดต่อทางตรง คือ จากการสัมผัส การมีเพศสัมพันธ์ และ ติดต่อทางอ้อม คือ การติดเชื้อโดยมีพาหะ หรือสิ่งนำ เช่น อาหาร น้ำ อากาศ แมลง ซึ่งเชื้ออี.โคไล เป็นการติดต่อแบบทางอ้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่ทราบมานานแล้ว คือ ติดต่อจากน้ำ อาหาร สิ่งที่ต้องระวัง คือ สุขอนามัยการกิน

นพ.คำนวณ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้จากการติดตามเฝ้าระวัง ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องวิธีการติดต่อ แต่อาจมีบางกรณีที่คนเป็นสื่อโดยตรงแม้ว่าอาหารจะไม่มีเชื้อ เช่น หญิงชาวเยอรมัน ที่ป่วยแล้วทำอาหารให้ผู้อื่น ทำให้เกิดการติดเชื้อไปด้วย หรือเคยพบกรณีการติดเชื้อโดยตรงจากการระบาดเชื้ออหิวาต์ ในสถานรับเลี้ยงเด็ก พบว่า เด็กทารกถ่าย และมีการละเลงอุจจาระและนำใส่ปากทารกคนอื่น ทำให้เกิดการติดเชื้อโดยตรง ซึ่งเกิดขึ้นได้น้อย ฉะนั้น หากสนใจเรื่องอี.โคไล ให้ระวังเรื่องอาหารและน้ำ ดังนั้น การเฝ้าระวังต้องรักษาความสะอาด โดยเฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่ปรุงอาหาร

ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป คร.กล่าวว่า ขณะนี้ความเสี่ยงของเชื้ออี.โคไล มีเหมือนกันทั่วโลก แต่พื้นที่ที่เสี่ยงมากจะอยู่แถบยุโรป และประเทศเยอรมนี ซึ่งไทยอยู่ในกลุ่มที่ประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงน้อย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัย 100% เพราะเชื้ออยู่ในสิ่งแวดล้อมและอาหารที่เคลื่อนย้ายไปประเทศต่างๆ สิ่งที่ไทยต้องเตรียมพร้อม คือ ทำให้ไม่เกิดการระบาดในวงกว้าง โดยประชาชนควรทราบถึงวิธีการเฝ้าระวังและปฏิบัติตนเองว่าควรทำอย่างไร

“การเฝ้าระวังจากเดิมที่ใช้มาตรการเฝ้าระวังอาหาร และผู้เดินทางเข้าจากประเทศยุโรป จะปรับให้เฝ้าระวังในผู้ป่วยที่มีอาการเม็ดเลือดแดงแตก ไตวาย แม้จะไม่ได้เดินทางมาจากประเทศแถบยุโรปก็ตาม รวมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็ยังสุ่มตรวจอาหารที่มาจากประเทศยุโรปอยู่ โดยขณะนี้ห้องปฏิบัติการ สามารถตรวจเชื้ออี.โคไล โอ 104 ได้แล้ว ซึ่งจะขยายวิธีตรวจไปยังห้องปฏิบัติการอีก 14 แห่งทั่วประเทศด้วย” นพ.โอภาส กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น