xs
xsm
sm
md
lg

แรงงานไทยยื่นหนังสือร้องไอแอลโอ ที่เจนีวา เหตุแรงงานต่างด้าวเข้าไม่ถึงกองทุนเงินทดแทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ผู้แทนประเทศไทยในส่วนของลูกจ้างได้ ยื่นหนังสือต่อนางคลีโอพัตรา ดัมเบีย เฮนรี ผู้อำนวยการแผนกมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ไอแอลโอ)ในการประชุมใหญ่ของไอแอลโอ เพื่อร้องเรียนกรณีที่รัฐบาลไทยละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศด้านการคุ้มครองเเรงงานข้ามชาติ เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
สรส.ยื่นหนังสือพร้อมหลักฐานเรียกร้องต่อไอแอลโอ เหตุรัฐบาลไทยละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติ เผย ไม่ยอมคุ้มครองยามเกิดอุบัติเหตุ แถมการตั้งกองทุนกองใหม่เลือกปฏิบัติ-ได้สิทธิน้อยกว่า ด้านเลขา สปส.ปฏิเสธลั่น หากเป็นแรงงานถูก กม.ได้รับความคุ้มครองเหมือนแรงงานไทย 

วันนี้ (13 มิ.ย.) เวลา 14.00 น.ตามเวลาประเทศไทย ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งกำลังมีการประชุมใหญ่ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ผู้แทนประเทศไทยในส่วนของลูกจ้างได้ยื่นหนังสือต่อนางคลีโอพัตรา ดัมเบีย เฮนรี ผู้อำนวยการแผนกมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ เพื่อร้องเรียนกรณีที่รัฐบาลไทยละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศด้านการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ

นายสาวิทย์ กล่าวว่า ได้ยื่นหนังสือร้องเรียน พร้อมเอกสารประกอบมากกว่า 500 หน้า แสดงหลักฐานยืนยันถึงการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบต่อแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า ในการเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) หลังแรงงานข้ามชาติได้รับบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วย เนื่องจากการทำงาน การปฏิเสธสิทธิของแรงงานข้ามชาติในการเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน ตามหนังสือเวียน สปส.ที่ รส.0711/ว 751 เป็นข้อห่วงใยในปี 2553 ของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญแห่งองค์การแรงงานระหว่างประเทศด้านการมีผลบังคับของอนุสัญญาและข้อเสนอแนะ และผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนของแรงงานย้ายถิ่นที่เรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวน หนังสือเวียนฉบับดังกล่าวและให้นำแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบกองทุนเงินทดแทน แต่รัฐบาลไทยยังนิ่งเฉย และยังคงปฏิเสธสิทธิของแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าที่จะได้รับเงินทดแทนกรณีประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานจากกองทุนเงินทดแทน

นายสาวิทย์ กล่าวว่า ในวันที่ 14 มิถุนายน กระทรวงแรงงานจะขอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติการจัดตั้งกองทุนประกันอุบัติเหตุเอกชนสำหรับแรงงานข้ามชาติซึ่งให้สิทธิประโยชน์น้อยกว่ากองทุนเงินทดแทน เพื่อจ่ายเงินทดแทนให้แรงงานข้ามชาติที่ประสบอุบัติเหตุและเจ็บป่วยจากการทำงาน แยกต่างหากจากกองทุนเงินทดแทน ซึ่งเป็นนโยบายที่อ้างว่าจะปกป้องสิทธิแรงงานของแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก แต่มีการแยกระบบของแรงงานข้ามชาติออกจากแรงงานไทย ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างชัดแจ้ง
              

“นโยบายของรัฐบาลไทยที่ปฏิเสธการเข้าถึงสิทธิของแรงงานข้ามชาติในการเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนยังคงส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการดำรงชีวิตของแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าที่ทำงานในประเทศไทย ซึ่งมีประมาณ 2-3 ล้านคน ที่ยังคงมีความเสี่ยงสูงที่อาจได้รับบาดเจ็บและเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน แรงงานเหล่านี้ตกเป็นเหยื่อจากการประสบอุบัติเหตุเนื่องจากการทำงาน พวกเขาสมควรได้รับการรับประกันการเยียวยาจากรัฐโดยผ่านกองทุนเงินทดแทน เพราะหากไปรอพึ่งให้นายจ้างมาเยียวยาแต่เพียงประการเดียวแล้วนั้น ก็คงเชื่อถือไม่ได้” นายสาวิทย์ กล่าว

นายสาวิทย์ กล่าวว่า นางคลีโอพัตรา ยืนยันว่า จะเอาเรื่องนี้หารือกับคณะกรรมการฯโดยด่วน เพราะก่อนหน้านี้ สรส.เคยยื่นเรื่องไปครั้งหนึ่งแล้วซึ่งไอแอลโอได้เสนอแนะมายังรัฐบาลไทยแล้ว แต่กลับไม่มีการปฏิบัติตาม

ผู้สื่อข่าวถามว่า การยื่นหนังสือในลักษณะนี้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำลายประเทศตัวเองหรือไม่ นายสาวิทย์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องทำใจให้กว้าง และเป็นเรื่องการทำผิดมาตรฐานแรงงานของรัฐบาลไทยซึ่งเป็นสมาชิกของไอแอลโอ ที่ผ่านมาแม้รัฐบาลไทยพยายามแก้ปัญหาแต่ก็ช้ามาก ในทางตรงข้ามตรงนี้อาจเป็นมุมมองให้รัฐบาลแก้ไขจุดบกพร่อง และในอนาคตประเทศไทยจะเปิดเสรีอาเซียน หากไม่ทำมาตรฐานตรงนี้ให้ถูกต้องก็จะถูกมองว่าไม่เคารพกติการะหว่างประเทศ
วันเดียวกันตัวเเทนของ สรส. กลุ่มผู้ใช้แรงงาน และผู้นำแรงงาน เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนเดียวกัน ณ สำนักงานองค์การแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย อาคารสำนักงานองค์การสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร
ด้านนายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า แรงงานพม่าที่หลบหนีเข้าเมืองนั้น ตามกฎหมายต้องถูกส่งกลับ แต่ทำไม่ได้เป็นกลุ่มใหญ่ และทางการไทยก็ไม่ที่พักสำหรับกักขัง จึงผ่อนผันให้ทำงาน และมีรายได้ระหว่างรอส่งกลับ จึงทำงานชั่วคราว 1 ปี แต่เนื่องจากสภาพกิจการจึงมีการต่ออายุคราวละ 1 ปี แต่สถานะของแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ยังอยู่อย่างผิดกฎหมายเพียงแต่รอส่งกลับ ต่อมาเมื่อมีการพิสูจน์สัญชาติทำให้สถานะเปลี่ยน และสามารถปั้มตราเข้าเมืองเหมือนชาวต่างชาติทั่วไปและขอใบอนุญาตทำงานได้อย่างถูกต้อง 

เลขาธิการ สปส.กล่าวว่า แรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานอย่างถูกต้องนั้น ได้รับความคุ้มครองทั้งในกองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทนเหมือนกับแรงงานไทยทุกประการ ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ผ่อนผันให้ทำงานนั้น นายจ้างต้องให้การคุ้มครองคนเหล่านี้เอง โดยในกฎหมายกองทุนเงินทดแทน ระบุชัดว่า นายจ้างต้องรับผิดชอบหากลูกจ้างเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน หรือหากนายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนเงินทดแทนก็ให้กองทุนเงินทดแทนเป็นคนจ่ายเงินแทน แต่หากนายจ้างไม่จ่ายเงินเข้ากองทุน เมื่อลูกจ้างประสบอุบัติเหตุ สปส.ก็มีหน้าที่ไล่จี้ให้นายจ้างจ่ายเงิน

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ สรส.ระบุว่า มีการเตรียมแยกกองทุนเงินทดแทนสำหรับแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะซึ่งอาจเป็นการเลือกปฏิบัติ นายปั้น กล่าวว่า เข้าใจว่าที่พูดนั้นคือกรณีแรงงานที่ไม่ได้พิสูจน์สัญชาติ ซึ่ง สปส.เสนอไปว่าให้นายจ้างไปรวมเงินกัน เพื่อแยกเป็นกองพิเศษอีกกองหนึ่ง เพื่อเป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขของนายจ้าง ซึ่งจะให้กรมการจัดหางานหรือ สปส.เป็นผู้บริหารก็ได้

“หากเราเอามาบริหารรวมกับกองทุนประกันสังคมก็อาจมีความเสี่ยงเพราะแรงงานต่างด้าวเหล่านี้มีโรคมากกว่าคนไทย ดังนั้น ควรตั้งเป็นกองใหม่ขึ้นหรือไม่ ตรงนี้เป็นแนวคิดซึ่งช่วยลดภาระของนายจ้างที่ต้องจ่ายเป็นเงินก้อน และสะดวกกับสปส.แทนที่จะเป็นภาระไล่จี้ทีละกรณี” นายปั้น กล่าว 

วันเดียวกันนายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ได้ทำหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี รวมถึงสำเนาถึง รมว.กลาโหม รมว.มหาดไทย และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กรณีการส่งกลับผู้อพยพกลุ่มชาติพันธุ์ชาวพม่า โดยเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาดังนี้ 1.ประเทศไทย ในฐานะประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ยึดหลักการเคารพและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์มาโดยตลอด ดังนั้น ในประเด็นผู้ลี้ภัย รัฐบาลจึงจำต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ โดยควรเร่งปฏิรูปงานด้านผู้ลี้ภัยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วยการสนับสนุนและส่งเสริมสิทธิในชีวิต ร่างกาย และสิทธิที่จะไม่ถูกปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม รวมถึงสิทธิเฉพาะด้านของกลุ่มผู้ลี้ภัยที่มีความเปราะบาง เช่น เด็ก สตรี คนพิการ และคนชรา

2.ก่อนจะดำเนินการส่งผู้ลี้ภัยกลับคืนสู่ถิ่นฐานเดิม รัฐบาลไทยควรต้องสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยให้แก่กลุ่มผู้ลี้ภัย โดยแสดงให้เห็นว่า การกลับภูมิลำเนามีความปลอดภัยเพียงพอ โดย เรียกร้องและกดดันให้รัฐบาลพม่า เคารพและไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของชนกลุ่มน้อยและประชาชน  พร้อมทั้งลงนามในสัญญาพหุภาคีระหว่างรัฐบาลไทย รัฐบาลพม่า และสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ว่าด้วยการรับรองสิทธิอันเนื่องมาจากการกลับคืนสู่ถิ่นฐานของผู้ลี้ภัย ซึ่งต้องมีเนื้อหาให้รัฐบาลพม่าเคารพและยอมรับสิทธิในการเดินทางกลับภูมิลำเนาโดยไม่มีข้อแม้                   

3.เพื่อลดภาระทั้งด้านงบประมาณและการจัดสรรทรัพยากรบุคคลของภาครัฐในการดูแลผู้ลี้ภัย และเพื่อให้การแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยมีความเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น รัฐบาลไทยควรพิจารณาความเป็นไปได้ในการเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย (Convention on the Status of Refugee) ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ประชาคมโลกได้เข้ามามีส่วนช่วยเหลือทั้งทางด้านการกำหนดนโยบาย การปฏิบัติงานและด้านงบประมาณ ตามที่รับรองไว้ในอนุสัญญาฯ

“คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติฯ เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า การดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าวข้างต้น ย่อมนำมาซึ่งความสมัครใจของผู้ลี้ภัยที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาของตน ทั้งยังเอื้อต่อการจัดการส่งบุคคลเหล่านี้กลับคืนสู่ถิ่นฐานโดยสงบ นอกจากนั้น ยังเป็นการส่งเสริมภาพพจน์ที่ดีของประเทศไทยในการวางรากฐานสิทธิมนุษยชนให้เกิดขึ้นทั้งในประเทศของตนและประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างยั่งยืน” ในหนังสือระบุ

กำลังโหลดความคิดเห็น