xs
xsm
sm
md
lg

“จุรินทร์” ส่ง จนท.ตรวจสอบพ่อค้าขายไก่เน่าชุบฟอร์มาลิน แนะสังเกตจากกลิ่นฉุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
“ จุรินทร์” ส่งผู้ตรวจราชการ สธ.ลงตรวจสอบที่โคราช กรณีพ่อค้ามักง่าย  นำไก่เน่าชุบฟอร์มาลีนขาย ชี้ ผู้เกี่ยวข้องอาจเข้าข่าย ทำผิด พ.ร.บ.  3 ฉบับ โทษหนักทั้งจำ ทั้งปรับ    ด้าน อย.เตือน ฟอร์มาลินอันตรายต่อระบบประสาท เสี่ยงเป็นหมัน แนะสังเกตด้วยการดม หากมีฟอร์มาลีนจะมีกลิ่นฉุน

วันนี้ (13 มิ.ย.)  นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีที่มีพ่อค้าหัวใสซื้อซากไก่เน่ามาชุบฟอร์มาลิน แล้วจำหน่ายในราคาถูก ที่ จ.นครราชสีมา ว่า  ได้สั่งการให้  นพ.คำรณ ไชยศิริ ผู้ตรวจราชการประจำเขต ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ลงไปดำเนินการตรวจสอบตั้งแต่เมื่อวานนี้ และในช่วงบ่ายวันนี้ผู้ตรวจราชการและผู้ว่าราชการจังหวัด ก็จะลงไปในพื้นที่ด้วยตัวเองอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเบื้องต้นทราบว่า ได้มีการจับกุมโรงงานชำแหละไก่ตายแห่งนี้มาดำเนินคดีแล้วครั้งหนึ่งในช่วงเดือนเมษายน 2554 ขณะนี้อยู่ระหว่างการฟ้องศาล การจับกุมเที่ยวนี้เข้าใจว่าจะเป็นกลุ่มเดียวกัน

รมว.สธ.กล่าวด้วยว่า  ในส่วนของ สธ.มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เพื่อนำไปดำเนินคดีผู้กระทำผิด 3 ฉบับ  ประกอบด้วย 1.พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ซึ่งถ้ามีการตรวจพบว่าไก่ตายที่นำมาชำแหละนั้น มีการปนเปื้อนสารที่เป็นอันตรายเช่น ฟอร์มาลินเป็นต้น เข้าข่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ มีสิ่งปนเปื้อน มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ   2. พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ.2535 ซึ่งมีการดำเนินคดี 3 ข้อหา คือ 1.การก่อเหตุรำคาญ โทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.ดำเนินกิจการอันเป็นอันตรายต่อสุขภาพ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ 3.เป็นสถานที่เก็บอาหารที่มีพื้นที่เกิน 200ตารางเมตร โดยไม่ขออนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 2,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และ 3.พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2523 ถ้าตรวจพบว่าเป็นแหล่งแพร่เชื้อและจะทำให้เกิดโรคติดต่อในพื้นที่จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 

“อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อแนะนำวิธีการเลือกซื้อ ดังนี้ 1.เนื้อไก่ที่ดีจะต้องมีเนื้อแน่น เมื่อเอานิ้วกดแล้วเนื้อจะไม่มีรอยบุ๋ม 2.เนื้อไก่ต้องไม่มีกลิ่นผิดปกติ ไม่มีรอยช้ำ หรือไม่มีจุดเลือดออก เนื่องจากเนื้อที่มีลักษณะดังกล่าวอาจจะเป็นไก่ที่ติดเชื้อหรือเป็นเนื้อที่ไม่ปกติ 3. ให้สังเกตดูที่สีเนื้อไก่จะต้องสด ไม่มีสีแดงผิดธรรมชาติ 4.เนื้อไก่ต้องไม่มีเมือกลื่น เพราะหากมีเมือกอาจจะเป็นไก่ตายผิดปกติ หรือเนื้อเน่าเสียแล้ว และควรเลือกซื้อเนื้อไก่ในสถานที่จำหน่ายที่ได้คุณภาพมาตรฐานเช่นตลาดสดน่าซื้อ ซึ่งผ่านการรับรองมาตรฐานตลาดสดจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข หรือเป็นร้านที่ได้มาตรฐานเชื่อถือได้” รมว.สธ.

ด้าน นพ.พิพัฒน์  ยิ่งเสรี  เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า  โดยทั่วไปฟอร์มาลีนเป็นสารต้องห้าม คือ  อย.ไม่อนุญาตให้นำมาใส่ในอาหาร   แต่ใช้สำหรับฆ่าเชื้อตามพื้นห้อง  และอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ เท่านั้น หากผู้ใดนำมาผสมอาหารก็มีความผิด ขณะที่ผู้บริโภคเองหากรับสารฟอร์มาลินเข้าไปในร่างกาย ก็จะเกิดพิษโดยตรง เริ่มตั้งแต่การสัมผัสจะเกิดอาการคันบริเวณผิวหนัง  นอกจากนี้ ยังมีผลต่อระบบทางเดินอาหาร คือ เกิดกระเพาะอักเสบ  ปวดท้อง อาเจียน  และหากเกิดพิษเฉียบพลันก็อาจจะท้องเสีย    ส่วนพิษสะสมก็ก่อเกิดเป็นมะเร็ง    ทำลายระบบประสาท เกิดการกลายพันธุ์ของเซลล์สืบพันธุ์ หรือเป็นหมันได้    โดยกลุ่มที่เสี่ยงต่อการรับสารพิษมากที่สุดก็ คือ ผู้ทำหน้าที่ในการชุบเนื้อไก่โดยตรง 
               

“ในส่วนของผู้บริโภคนั้นยังไม่แน่ใจก็อย่าเพิ่งบริโภค เพื่อความปลอดภัย   สำหรับวิธีการสังเกตฟอร์มาลินได้ง่ายๆ ด้วยการดมกลิ่น จะมีกลิ่นฉุนผิดปกติ” นพ.พิพัฒน์   กล่าว
 
กำลังโหลดความคิดเห็น