คร.ส่งทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว ร่วม กทม.เร่งสอบสวนโรค กรณี นร.หอวัง เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และท้องเสีย กว่า 100 ราย ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง ข้อมูลเบื้องต้นบ่งชี้อาหารเป็นพิษ แนะให้รับประทานอาหารสุก สะอาด ล้างมือบ่อยๆ ดูแลสุขาภิบาลอาหารและน้ำในโรงเรียนและทั่วไป ขณะ รพ.วิภาวดีเผยเหลือเด็กนอนพักอีกแค่ 17 ราย คาดอีก 1 คืน กลับบ้านได้
วันนี้ (10 มิ.ย.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ได้รับรายงานจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เกี่ยวกับกรณีนักเรียนโรงเรียนหอวัง มีอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และท้องเสีย กว่า 100 ราย เบื้องต้นส่งเข้ารักษาที่โรงพยาบาลวิภาวดี นั้น มีอาการป่วยตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน เป็นต้นมา กรมควบคุมโรค โดย สำนักระบาดวิทยา ได้จัดส่งทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) สนับสนุนสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เร่งสอบสวนโรคและตรวจสอบหาสาเหตุอย่างละเอียด ได้ประสานโรงพยาบาลเพื่อขอตัวอย่างอุจจาระตรวจหาเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ เพื่อให้ได้ผลตรวจสอบที่ชัดเจน พร้อมเฝ้าระวังโรคอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามเรื่องการยืนยันสาเหตุของการเกิดอาการท้องเสียของเด็กนักเรียนนั้น ต้องรอผลยืนยันจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์อีกครั้ง
“การได้รับรายงานและสอบสวนโดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีนี้เป็นกิจกรรมการเฝ้าระวังตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขและกรมควบคุมโรค ที่เน้นย้ำการเฝ้าระวังเป็นกรณีพิเศษเนื่องจากในระยะนี้มีข่าวการระบาดของเชื้ออีโคไลในยุโรป จากการสอบสวนเบื้องต้น พบว่า อาการป่วยของนักเรียนไม่มีการถ่ายเป็นมูก หรือมูกปนเลือด ซึ่งแตกต่างจากการป่วยด้วยเชื้ออีโคไลในยุโรป ที่มีการถ่ายเหลว อุจจาระมีเลือด หรือมูกปนเลือด และมีไข้ ซึ่งจะรุนแรงกว่า เพื่อให้เกิดความมั่นใจและปลอดภัยมากที่สุด การสอบสวนและควบคุมโรคเบื้องต้นจำเป็นต้องดำเนินการทันที” นพ.สุวรรณชัย กล่าว
รองอธิบดีกรม คร.กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษในประเทศไทยเป็นโรคที่พบบ่อย ถือเป็นโรคที่สำคัญและอาจเกิดการระบาดได้ในการจัดเลี้ยง หรือเทศกาลที่มีประชาชนมารวมกันจำนวนมาก จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคอาหารเป็นพิษของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-5 มิถุนายน 2554 พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษสะสมรวม จำนวน 42,309 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 66.60 ต่อประชากรแสนคน และยังไม่พบผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าว จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ จังหวัดอำนาจเจริญ อัตราป่วย 287.75 ต่อประชากรแสนคน จังหวัดอุดรธานี อัตราป่วย 158.88 ต่อประชากรแสนคน จังหวัดขอนแก่น อัตราป่วย 156.79 ต่อประชากรแสนคน จังหวัดนครพนม อัตราป่วย 148.43 ต่อประชากรแสนคน และจังหวัดอุบลราชธานี อัตราป่วย 147.08 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ
นพ.ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประชาชน ควรล้างมือก่อนและหลังรับประทานอาหาร และก่อนประกอบอาหารทุกครั้ง รับประทานอาหารที่สุกสะอาด หากอาหารค้างคืนหรืออาหารที่แช่เย็นไว้ต้องอุ่นให้ร้อนจัดก่อนบริโภคเสมอ ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ เพราะมักจะพบการปนเปื้อนเชื้อจากอาหารปรุงสุกๆ ดิบๆ ดูแลสุขาภิบาลอาหารและน้ำในโรงเรียนและทั่วไป หากพบผู้ป่วยที่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ตามด้วยอาการมีไข้ เบื่ออาหาร และอุจจาระร่วง ถ้าพบอาการดังกล่าวให้ไปพบแพทย์ทันที หากมีข้อสงสัยติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทรศัพท์ 0 2590 3333”
พล.ท.นพ.พร้อมพงษ์ พีระบูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวิภาวดี กล่าวถึงอาการนักเรีย นร.ร.หอวัง ที่ถูกนำส่งโรงพยาบาลวิภาวดีด้วยอาการท้องเสีย ว่า นักเรียนถูกส่งมาเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลรวม 104 ราย ด้วยอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อ่อนเพลีย แพทย์ได้ดูอาการ ตรวจรักษาและอนุญาตให้กลับบ้านได้ เหลือเพียง 17 คน ที่เป็นลม จำเป็นต้องให้พักรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยแพทย์ได้ให้น้ำเกลือ และอาการของผู้ป่วยทั้งหมดค่อยๆ ดีขึ้น ถ่ายอุจจาระน้อยลงมาก คาดว่าน่าจะใช้เวลาพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเพียง 1 คืน แพทย์น่าจะอนุญาตให้กลับบ้านได้
พล.ท.นพ.พร้อมพงษ์ กล่าวต่อว่า ผู้ป่วยทั้งหมดเข้าข่ายอาการท้องเสียอย่างแรงเท่านั้น และมีอาการถ่ายเหลวปกติ ไม่มีมูกหรือเป็นเลือด ส่วนจะเกิดจากสาเหตุใดนั้นต้องรอผลการตรวจสอบ 2-3 วัน ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำลังดำเนินการสอบสวนโรคอยู่ อย่างไรก็ตาม การตรวจอุจจาระของผู้ป่วยต้องเจอเชื้อแบคทีเรียอี.โคไล แน่นอน เพียงแต่จะเป็นชนิดโอ 104 เหมือนที่ระบาดในยุโรปหรือไม่ ยังตอบไม่ได้ ต้องรอผลการตรวจสอบ