xs
xsm
sm
md
lg

เด็กหอวังฯจู๊ด ไม่ใช่อีโคไล ‘อโวคาโด’โล่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - หาม นร.หอวังเกือบร้อยคน ส่ง รพ.พบท้องเสีย โล่ง! สาเหตุน่าจะมาจากอาหารภายในโรงเรียน ไม่เกี่ยวกับอี.โคไล โอ 104 คาดรู้ผลตรวจภายใน 2-3 วันนี้ ขณะที่ผลวิเคราะห์เชื้อ อี.โคไลในผลอโวคาโดนำเข้าจากยุโรป ไม่ใช่ สายพันธ์รุนแรง โอ104 ไม่อันตราย ส่วนกะหล่ำปลีรู้ผลวันที่ 11 มิ.ย.

เมื่อเวลา 09.00 น. วานนี้ (10 มิ.ย.) ที่โรงเรียนหอวัง ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่ามีเด็กนักเรียนจำนวนมากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เมื่อเดินทางไปตรวจสอบที่โรงเรียนพบว่า มีนักเรียนทั้งชายและหญิงกว่า 100 คนนั่งทรุดลงกับพื้น บางรายถึงกับเป็นลมล้มพักต้องหามส่งโรงพยาบาลวิภาวดีอย่างเร่งด่วน

พล.ท.นพ.พร้อมพงษ์ พีระบูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวิภาวดี กล่าวถึงอาการนักเรียนร.ร.หอวังที่ถูกนำส่งโรงพยาบาลวิภาวดีด้วยอาการท้องเสียว่า นักเรียนถูกส่งมาเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลรวม 104 ราย ด้วยอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อ่อนเพลีย แพทย์ได้ดูอาการ ตรวจรักษาและอนุญาตให้กลับบ้านได้ เหลือเพียง 17 คนที่เป็นลมจำเป็นต้องให้พักรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยแพทย์ได้ให้น้ำเกลือ และอาการของผู้ป่วยทั้งหมดค่อยๆดีขึ้น ถ่ายอุจจาระน้อยลงมาก คาดว่าน่าจะใช้เวลาพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเพียง 1 คืน แพทย์น่าจะอนุญาตให้กลับบ้านได้

“ผู้ป่วยทั้งหมดเข้าข่ายอาการท้องเสียอย่างแรงเท่านั้น และมีอาการถ่ายเหลวปกติ ไม่มีมูกหรือเป็นเลือด ส่วนจะเกิดจากสาเหตุใดนั้น แพทย์จะต้องนำผลตรวจอุจจาระของเด็กไปตรวจในห้องปฏิบัติการอย่างละเอียดอีกครั้ง โดยคาดว่า 2-3 วันจะรู้ผลว่าสาเหตุเกิดจากอะไร และจากการสอบถามเด็ก ได้ทราบว่าเด็กกินผัดกะเพรา สุกี้ และน้ำดื่มของทางโรงเรียน ซึ่งขณะนี้จะให้นักโภชนาการเข้าไปตรวจสอบอีกครั้ง” พล.ท.นพ.พร้อมพงษ์

ด.ญ.กฤติยา รัตนเสนีย์ อายุ 12 ปี นักเรียนชั้น ม.2 ให้การว่า มีอากาคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และรู้สึกเพลียตั้งแต่เมื่อเวลา 20.00 น.ของวันที่9 มิ.ย. โดยก่อนหน้านี้ระหว่างที่พักรับประทานอาหารได้กินบะหมี่สำเร็จรูปต้ม และดื่มน้ำดื่มของทางโรงเรียน จากนั้นได้กลับบ้าน เมื่อกลับไปผู้ปกครองให้กินซุปไก่ต่อ จากนั้นก็มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย กระทั่งได้เดินทางมาโรงเรียนในเช้าวันนี้กลับมีอาการหนักขึ้นถึงขั้นเดินไม่ไหวต้องถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล และอาการดีขึ้นแล้วแต่ยังคงอ่อนเพลียอยู่

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า สำนักระบาดวิทยา ได้จัดส่งทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว(SRRT) สนับสนุนสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เร่งสอบสวนโรคและตรวจสอบหาสาเหตุอย่างละเอียด ได้ประสานโรงพยาบาลเพื่อขอตัวอย่างอุจจาระตรวจหาเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ เพื่อให้ได้ผลตรวจสอบที่ชัดเจน พร้อมเฝ้าระวังโรคอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามเรื่องการยืนยันสาเหตุของการเกิดอาการท้องเสียของเด็กนักเรียนนั้น ต้องรอผลยืนยันจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์อีกครั้ง

“จากการสอบสวนเบื้องต้น พบว่า อาการป่วยของนักเรียนไม่มีการถ่ายเป็นมูก หรือมูกปนเลือด ซึ่งแตกต่างจากการป่วยด้วยเชื้ออีโคไลในยุโรป ที่มีการถ่ายเหลว อุจจาระมีเลือด หรือมูกปนเลือด และมีไข้ ซึ่งจะรุนแรงกว่า เพื่อให้เกิดความมั่นใจและปลอดภัยมากที่สุด การสอบสวนและควบคุมโรคเบื้องต้นจำเป็นต้องดำเนินการทันที” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

รองอธิบดีกรม คร.กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษในประเทศไทยเป็นโรคที่พบบ่อย ถือเป็นโรคที่สำคัญและอาจเกิดการระบาดได้ในการจัดเลี้ยงหรือเทศกาลที่มีประชาชนมารวมกันจำนวนมาก จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคอาหารเป็นพิษของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 5 มิถุนายน 2554 พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษสะสมรวม จำนวน 42,309 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 66.60 ต่อประชากรแสนคน และยังไม่พบผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าว จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ จังหวัดอำนาจเจริญ อัตราป่วย 287.75 ต่อประชากรแสนคน จังหวัดอุดรธานี อัตราป่วย 158.88 ต่อประชากรแสนคน จังหวัดขอนแก่น อัตราป่วย 156.79 ต่อประชากรแสนคน จังหวัดนครพนม อัตราป่วย 148.43 ต่อประชากรแสนคน และจังหวัดอุบลราชธานี อัตราป่วย 147.08 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ

วันเดียวกัน ที่ห้องประชุมโรงเรียนหล่มเก่าวิทยาคม อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าของการตรวจทางห้องปฏิบัติการผลอโวคาโคและกะหล่ำปลีปม ที่นำเข้าจากยุโรป ในการเฝ้าระวังเชื้ออี.โคไลชนิดรุนแรงโอ 104 ที่แพร่ระบาดในประเทศแถบยุโรปว่า จากรายงานผลการตรวจเบื้องต้นของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบเชื้ออี.โคไลในอโวกาโด ซึ่งจากการตรวจยืนยันผลพบว่า ไม่ใช่เชื้ออีโคไลสายพันธุ์ โอ 104 และไม่ใช่เชื้ออี.โคไลที่ก่อโรคทางเดินอาหาร แต่เป็นเพียงเชื้อที่อาจพบได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อมและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จึงอนุญาตให้ผู้นำเข้าอโวคาโด สามารถจำหน่ายในประเทศไทยได้ ส่วนผลการตรวจกะหล่ำปลีปมอาจทราบผลว่าเป็นเชื้ออี.โคไลหรือไม่ในวันที่ 11 มิถุนายนนี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น