สปสช.ร่วมกับศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ คณะแพทยศาสตร์ มศว จ.นครนายก ลงนามความร่วมมือพัฒนาต้นแบบการดูแลรักษาผู้ป่วยไตวายสิทธิหลักประกันสุขภาพ ด้วยการล้างไตทางช่องท้อง เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ลดอัตราการเสียชีวิต เน้นสร้างเครือข่ายบริการครอบคลุมหน่วยบริการในภาคกลางตอนบน, ภาคตะวันออก และเป็นต้นแบบในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการดูแลรักษาทางการแพทย์แก่สหวิชาชีพ
วันนี้ (8 มิ.ย.) ณ ห้องประชุมศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ คณะแพทยศาสตร์ มศว จ.นครนายก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช. และ ศ.นพ.วุฒิชัย ธนาพงศธร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่าง สปสช. และ ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในโครงการความร่วมมือทางการแพทย์เพื่อพัฒนาต้นแบบการบริการ CAPD ในรูปแบบศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการล้างไตผ่านทางช่องท้อง (PD Service and Training Center) เพื่อเป็นต้นแบบในการบริการล้างไตทางช่องท้องในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเน้นสร้างเครือข่ายบริการในเขตพื้นที่รับผิดชอบของ สปสช.เขต 4 สระบุรี และเขต 6 ระยอง ซึ่งครอบคลุมโรงพยาบาลในเขตภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกทั้งหมด
นพ.ประทีปกล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบายให้บริการทดแทนไตแก่ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ระยะสุดท้ายสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยใช้วิธีการล้างไตทางช่องท้อง (CAPD) เป็นลำดับแรกเมื่อ พ.ศ. 2551 นั้น ในปัจจุบันมีการขยายตัวของจำนวนผู้ป่วยในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ ได้รับการล้างไตทางช่องท้องจำนวนมากจนเป็นที่ยอมรับของประเทศต่างๆ โดยมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วยวิธี ล้างไตทางช่องท้องมากกว่า 8,600 ราย ซึ่งความร่วมมือของโครงการนี้จะทำให้มีการพัฒนาระบบบริการให้มีคุณภาพตามมาตรฐานและผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ด้าน ศ.นพ.วุฒิชัยกล่าวว่า ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เป็นโรงพยาบาลในสังกัดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ถือเป็นโรงเรียนแพทย์ที่มีศักยภาพสูงในการให้บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางการแพทย์ที่สำคัญของโรงพยาบาลต่างๆ ในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของ สปสช.เขต 4 สระบุรี ที่ดูแล 8 จังหวัดภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออก และ สปสช.เขต 6 ระยอง ซึ่งดูแล 8 จังหวัดภาคตะวันออก หากมีการสร้างเครือข่ายการบริการที่ดีในเขตพื้นที่จะทำให้ลดระยะเวลาการรอคิวในการรักษา ลดความแออัดในโรงพยาบาลใหญ่ และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไม่ต้องเข้าไปรักษาในกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้ทั้งนี้ภายใต้การสนับสนุนของ สปสช.
รศ.พญ.สิริภา ช้างศิริกุลชัย อายุรแพทย์โรคไต ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ กล่าวว่า ผู้ป่วยที่ได้รับการล้างไตทางช่องท้อง ส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่ส่วนหนึ่งพบปัญหาต่างๆ เช่น อัตราการติดเชื้อในช่องท้อง อัตราการติดเชื้อแผลช่องทางออก ภาวะทุพโภชนาการสูงขึ้น ผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วยและญาติมีปัญหาด้านจิตใจ เกิดภาวะเครียด ซึมเศร้าหดหู่ ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากผู้ป่วยอยู่ในภาวะพึ่งพาสูง ทำให้ผู้ดูแลผู้ป่วย/ญาติเหนื่อยจนเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายในการดูแลผู้ป่วย ส่งผลเสียต่อคุณภาพการรักษาและคุณภาพชีวิต
ดังนั้น สถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้การรักษาด้วยวิธีการล้างไตช่องท้อง สามารถจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมฟื้นฟูผู้ป่วยให้ผู้ป่วยลดภาวะพึ่งพาลง รวมทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ในชุมชน น่าจะส่งผลเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย, ผู้ดูแลผู้ป่วย/ญาติ จะส่งผลให้คุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ดีขึ้น ซึ่งเป้า หมายของการดำเนินการโครงการนี้เพื่อเพิ่มคุณภาพการดูแลผู้ป่วยล้างไตช่องท้อง และพัฒนาเป็นต้นแบบในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยภายใต้การดำเนินงานในรูปแบบทีมสหวิชาชีพ และการมีส่วนร่วมของชุมชน นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ ป่วยล้างไตช่องท้องของโรงพยาบาลใกล้เคียง และโรงพยาบาลในเขตการดูแลของ สปสช.เขต 4 สระบุรี และเขต 6 ระยอง ด้วย