xs
xsm
sm
md
lg

สสจ.ตรังชี้แจงเหตุเด็ก 1 ขวบเศษตายปริศนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง ชี้แจงเหตุเด็กหญิงวัย 1 ขวบเศษเสียชีวิต แม้จะสงสัยว่าอาจจะป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก แต่ต้องรอผลการตรวจสอบที่ชัดเจนเสียก่อน

จากกรณีที่ นายสมพร และ นางศิริญญา ปราบรัตน์ ซึ่งเป็นพ่อแม่ของ ด.ญ.อาทิตยากร หรือน้องปอย อายุ 1 ปี 3 เดือน บุตรสาวคนเล็กของครอบครัว ที่เสียชีวิตอย่างปริศนา ภายหลังจากเข้ารับการรักษาอาการไข้สูงและอาการไอที่เรื้อรังมากว่า 3 วัน ที่ รพ.รัษฎา เนื่องจากสงสัยว่าจะเป็นโรคไข้เลือดออก

แต่หมอกลับไม่ยอมเจาะเลือด เพื่อทำการตรวจเชื้อให้ โดยบอกให้รอดูอาการต่อ 2-3 วัน ขณะเดียวกัน ยังตรวจพบว่าเด็กมีอาการต่อมทอนซิลอักเสบ หมอจึงฉีดยาและให้ยามารับประทานที่บ้าน แต่อาการไม่ดีขึ้น ทางผู้ปกครองจึงตัดสินใจนำเด็กไปรักษาที่สถานพยาบาลเอกชน ใน อ.ห้วยยอด เพื่อหวังให้หมอเจาะเลือดตรวจหาเชื้อโรคไข้เลือดออก แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการ โดยหมอระบุว่าเด็กมีอาการต่อมทอมซิลอักเสบ จึงฉีดยาให้ 1 เข็ม

หลังจากนั้น น้องปอย ก็มีอาการทรุดลงอย่างหนัก ทางผู้ปกครองจึงนำไปพบหมอที่ รพ.รัษฎา อีกครั้ง โดยจากการตรวจพบว่าเด็กมีอาการหอบ เนื่องมาจากหลอดลมตีบ หมอจึงให้ออกซิเจนและทำการตรวจเลือด ผลปรากฏว่า น้ำตาลในเลือดต่ำ และขาดออกซิเจน จึงส่งตัวไปรักษาต่อที่ รพ.ศูนย์ตรัง

โดยหมอได้เจาะเลือดตรวจและวินิจฉัยเบื้องต้น ว่า เป็นโรคไข้เลือดออก จนถึงขั้นช็อก ทำให้เด็กเกิดอาการไตวาย และเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 15 พ.ค.54 ที่ผ่านมา แต่ต่อมาหมอ รพ.ศูนย์ ได้ลงความเห็นใหม่ว่า ขณะนี้ยังสรุปไม่ได้ว่าเด็กป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกหรือไม่ จนส่งผลให้ทางพ่อแม่ของเด็กหญิงเคราะห์ร้ายยังมึนงง ว่า ลูกของตนเสียชีวิตด้วยโรคใดกันแน่

นพ.ไพศาล เกื้ออรุณ รองนายแพทย์สาธารณสุข จ.ตรัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า สาเหตุการเสียชีวิตของ ด.ญ.อาทิตยากร จะมาจากโรคไข้เลือดออกหรือไม่ แต่จากการตรวจสอบในเบื้องต้น พบว่า เด็กมีตุ่มหนองในลำคอ จนทำให้เกิดโรคต่อมทอนซิลอักเสบ ซึ่งสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียมากกว่า แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นแบคทีเรียชนิดไหน ต้องรอตรวจสอบอีกครั้ง

สำหรับอาการของโรคไข้เลือดออกนั้น เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง และมียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยจะตัวชี้วัดที่บ่งบอกว่าเป็นโรคไข้เลือดออก คือ ต้องมีอาการเกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวต่ำ ความเข้มของเลือดสูง เป็นต้น

นอกจากนั้น โรคไข้เลือดออกยังมีระยะเวลาฟักตัวของเชื้อประมาณ 3-5 วัน ซึ่งจะทราบผลภายในระยะเวลาดังกล่าวว่า เด็กมีเชื้อโรคไข้เลือดออกหรือไม่ แต่ในกรณีของ ด.ญ.อาทิตยากร ซึ่งมาเสียชีวิตภายในวันที่ 7 แล้ว

เบื้องต้นจึงแค่สงสัยว่าจะป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก แต่ยังไม่มีความชัดเจน เพราะเท่าที่ได้รับข้อมูลมานั้น ผู้เสียชีวิตมีอาการตัวร้อนสูง และเกล็ดเลือดต่ำ แต่โดยปกติของโรคไข้เลือดออก ผู้ป่วยจะมีอาการตัวร้อนสูง และมีเกล็ดเลือดสูง จึงต้องรอการตรวจสอบอีกครั้ง จึงยังไม่สามารถที่จะให้ข้อมูลที่ชัดเจนกว่านี้ได้ อย่างไรก็ตาม หากสงสัยว่าในพื้นที่ที่เด็กอาศัยอยู่มีการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก ทางสำนักงานสาธารณสุข จ.ตรัง ก็จะเข้าไปดำเนินการฉีดพ่นยาในทันที เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาด

ทั้งนี้ จากกรณีที่เกิดขึ้น จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริง พร้อมกับยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย และหากผู้เสียหายเห็นว่า ได้รับความเสียหายจากการเข้ารับการบริการสาธารณสุข ก็สามารถยื่นเรื่องขอชดเชยความเสียหาย ตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ โดยกำหนดให้มีการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าเป็นคนไข้บัตรทองของสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) โดยยังไม่มีการตัดสินว่าคนไข้หรือหมอ เป็นฝ่ายผิดหรือถูก

โดยแบ่งความเสียหายเป็น 3 ประเภท ได้แก่ การเสียชีวิต และทุพพลภาพถาวร จ่ายเงินช่วยเหลือได้ไม่เกิน 200,000 บาท การสูญเสียอวัยวะ หรือ พิการ จ่ายเงินช่วยเหลือได้ไม่เกิน 120,000 บาท และการบาดเจ็บต่อเนื่อง จ่ายเงินช่วยเหลือได้ไม่เกิน 50,000 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น