xs
xsm
sm
md
lg

Crisis Counseling ปลุกพลังคิดเชิงบวก เยียวยาผู้ป่วยซึมเศร้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คิดว่า การสร้างเครือข่ายบุคคลที่อยู่รอบๆ ตัว ผู้ป่วยด้านจิตเวชที่มีภาวะซึมเศร้า ซึ่งพยายามฆ่าตัวตาย ให้กลายเป็นผู้ช่วยเยียวยาจิตใจผู้ป่วย คือ ยาที่ดีที่สุดแล้วน.ส.ศรชนก สุทาวัน หัวหน้างานพยาบาลจิตเวช รพ.ศรีสะเกษ กล่าวถึงหลักแนวคิดนำร่องของโครงการดูแลช่วยเหลือผู้มีภาวะซึมเศร้าและเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายของ รพ.ศรีสะเกษ ในเขต อ.เมือง รวมกันสูงถึง 2,000 คน จากการคัดกรองใน 20,700 คน หลังจากที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) มีนโยบายให้ตั้งกองทุนจิตเวช และดูแลรักษาผู้ป่วยในสิทธิรักษาฟรีตามโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้สามารถเข้าถึงสิทธิรักษาพยาบาลได้โดยไม่จำกัดวันและเวลา รวมทั้งรับยาบางแก้ภาวะซึมเศร้าได้อย่างทั่วถึงด้วย

โดยทางโรงพยาบาลได้มีการสร้างเครือข่ายเพื่อให้คำปรึกษาผู้ป่วยในภาวะวิกฤต (Crisis Counseling) และตั้งทีมทำงานเพื่อปรับความคิด(Cognitive Therapy) ในผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายด้วยการผนึกความร่วมมือระหว่าง พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยา และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) จากนั้นเข้าร่วมอบรมกับจิตแพทย์จาก รพ.พระศรีมหาโพธิ์ จ.อุบลราชธานี เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยที่พยายามฆ่าตัวตาย
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. ขณะลงพื้นที่จ.ศรีสะเกษ
เครือข่ายดังกล่าวทำหน้าที่ตั้งแต่เริ่มตรวจคัดกรอง หาผู้ป่วยแต่ละพื้นที่รับผิดชอบ โดยการคัดกรอง 3 ครั้ง ในครั้งสุดท้ายหากพบว่าผู้ป่วยยังอาการหนัก จำเป็น ต้องใช้ยาและต้องพึ่งจิตแพทย์ก็จะส่งต่อไปที่ รพ.พระศรีมหาโพธิ์ ขณะที่ผู้ป่วยที่มีความเครียด หรือซึมเศร้าถึงขั้นพยายามฆ่าตัวตายซ้ำราว 1-2 ครั้ง ทาง รพ.จะอนุญาตให้กลับบ้านได้ แต่จะส่ง อสม.ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเดือนละ 1- 2 ครั้ง ซึ่งขณะนี้มี อสม.ในเขต อ.เมือง เข้ามาช่วยงานในระบบ Crisis Counseling กว่า 1,000 ราย โดยพยายามเข้ามามีบทบาทในการปรับความคิดของผู้ป่วยและญาติให้เป็นไปในทางบวกและมองโลกในแง่ดีมากขึ้น

เนื่องจากทางโรงพยาบาลของเราไม่มีจิตแพทย์ เราก็ต้องพึ่งพาระบบนี้ไปก่อน เพราะสุขภาพผู้ป่วยเป็นเรื่องสำคัญ แต่การช่วยเหลือในภาวะวิกฤตนั้น สิ่งหนึ่งที่ อสม.และเจ้าหน้าที่ทุกคนพึงรู้ คือ ไม่ได้มุ่งเยียวยาเฉพาะผู้ป่วยแบบฉุกเฉิน แต่ต้องป้องกันผลกระทบด้านจิตใจที่อาจเกิดขึ้นเพิ่มเติมกับผู้ป่วยจนนำไปสู่ภาวะที่แย่ลงกว่าเดิม เช่น การพยายามฆ่าตัวตายซ้ำ รวมถึงป้องกันภาวะความเครียดที่อาจเกิดกับญาติด้วย ดังนั้นในการลงพื้นที่ต้องให้คำแนะนำวิธีการดูแลผู้ป่วยที่ถูกต้องสำหรับญาติด้วย ซึ่งวิธีนี้ใช้ได้ผลดีสำหรับผู้ที่ซึมเศร้าด้วยปัญหาครอบครัว และผิดหวังจากความรัก ” พยาบาลสาว อธิบายเพิ่มเติม
เลขาธิการสปสช. ตรวจเยี่ยมแพทย์-พยาบาลที่ดูแลให้คำปรึกษาผู้ป่วยซึมเศร้า
กระทั่งปลายปี 2553 มีจำนวนผู้ป่วยภาวะซึมเศร้าที่ได้รับการส่งปรึกษาในกลุ่มงานจิตเวช รพ.ศรีสะเกษ ถึง 68 ราย และมีผู้พยายามฆ่าตัวตายได้รับการให้ปรึกษาภาวะวิกฤต (Crisis counseling) โดยพยาบาลจิตเวชจำนวน 49 รายผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการทำร้ายตนเองซ้ำได้รับการส่งต่อข้อมูลให้โรงพยาบาลส่งสริมสุขภาพตำบล จำนวน 73 คน ผู้ป่วยมีโรคซึมเศร้าระดับรุนแรงหรือมีแนวโน้มจะเป็นอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่นได้รับการส่งต่อไปโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จำนวน 13 คน

การบริการนำร่องให้คำปรึกษาผู้ป่วยในภาวะวิกฤต (Crisis Counseling) คู่กับแนวทางปรับความคิด (Cognitive Therapy) ของผู้ป่วยภาวะซึมเศร้า ใน รพ.ศรีสะเกษ สะท้อนการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้ดี แต่ปัญหา คือ บุคลากรที่เป็นจิตแพทย์ยังขาดแคลน อย่างไรก็ตามหากมีกำลังจิตแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางอย่างเพียงพอ กระจายอยู่ทั้งเขตในเมืองและชุมชน โอกาสการเข้าถึงระบบรักษาพยาบาลอาจจะดีขึ้นกว่าตอนนี้ก็เป็นได้
กำลังโหลดความคิดเห็น