“จุรินทร์” ส่งอธิบดีกรมสุขภาพจิต นำทีมลงพื้นที่ดูแลสุขภาพจิตผู้ประสบภัยใต้ ป้องกันปัญหาฆ่าตัวตายเต็มที่ เน้น 4 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคจิตเวชเดิม ผู้สูงอายุที่ไม่มีคนดูแล ผู้ป่วยเรื้อรัง/ผู้พิการ และผู้สูญเสียครอบครัว/บ้านเรือนเสียหายอย่างมาก
วันนี้ (12 เม.ย.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุข ว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมขังยังคงเหลือในบางอำเภอของ 3 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง และ สุราษฎร์ธานี ส่วนที่เหลือสถานการณ์คลี่คลายอยู่ระหว่างการฟื้นฟู ได้ให้กรมควบคุมโรคและกรมอนามัย สนับสนุนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่น้ำท่วม ในการฟื้นฟู ปรับปรุงสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม สนับสนุนคลอรีน สารส้ม น้ำยาหยดทิพย์ เพื่อปรับสภาพน้ำกินน้ำใช้ และการควบคุมพาหะนำโรค เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค จนถึงขณะนี้ยังไม่พบโรคระบาดใดๆ ส่วนผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 64 ราย ได้แก่ นครศรีธรรมราช 27 ราย สุราษฎร์ธานี 13 ราย กระบี่ 12 ราย พัทลุง 6 ราย ชุมพร 3 ราย ตรัง 2 ราย และ พังงา 1 ราย ได้ส่งทีมนักจิตวิทยาเยียวยาด้านจิตใจบุคคลในครอบครัวไปแล้ว 60 ครอบครัว รวม 265 ราย ยังเหลืออีก 4 ครอบครัว อยู่ที่สุราษฎร์ธานี 3 ครอบครัว และพังงา 1 ครอบครัว จะเร่งดูแลให้ครบถ้วนภายในช่วงสงกรานต์นี้
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า จากการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการในพื้นที่ประสบอุทกภัย พบว่า ปัญหาที่น่าห่วง คือ ด้านสุขภาพจิต โดยทีมจิตแพทย์ได้ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ร่วมกับทีมแพทย์ด้านสุขภาพกาย ให้บริการตรวจคัดกรองด้านสุขภาพจิต จำนวน 1,874 ราย ให้ยารักษาทางจิต 365 ราย ได้ประเมินความเครียดผู้ประสบภัยแล้ว 1,198 ราย พบว่ามีความเครียดในระดับสูง 211 ราย ซึมเศร้า 328 ราย เสี่ยงฆ่าตัวตาย 113 ราย
ในวันนี้ได้สั่งการให้อธิบดีกรมสุขภาพจิต นำทีมลงพื้นที่ดูแลสุขภาพจิต ซึ่งมีประชาชนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเน้น 4 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1.ผู้ป่วยโรคจิตเวชเดิม 2.ผู้สูงอายุที่ไม่มีคนดูแล 3.ผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้พิการ และ 4.ผู้ที่มีการสูญเสียอย่างมาก คือ สูญเสียคนในครอบครัว และบ้านเรือนพังเสียหาย เพื่อลดความเสี่ยงจากการฆ่าตัวตาย เริ่มตั้งแต่วันที่ 14 เมษายนนี้ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยให้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ออกตรวจคัดกรองหาผู้ที่มีความเครียด หากพบมีปัญหาจะให้คำปรึกษาแนะนำ และติดตามดูแลต่อจนครบ 2 สัปดาห์ หากพบว่ายังมีความเสี่ยง ให้ส่งรักษาที่โรงพยาบาลหรือสถาบันจิตเวชในพื้นที่ดูแลต่อไป
นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับสถานบริการสาธารณสุขในสังกัดที่ได้รับผลกระทบมีทั้งหมด 198 แห่ง ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 1 แห่ง สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ 15 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป 1 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 11 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 170 แห่ง ขณะนี้เปิดให้บริการได้ทุกแห่ง ส่วนการประเมินความเสียหาย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ในเบื้องต้นได้ประเมินแล้ว 191 แห่ง ค่าเสียหายซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ประมาณ 18 ล้านบาท ซึ่งจะได้เสนอ ครม.พิจารณาในวันนี้