xs
xsm
sm
md
lg

ภาคประชาสังคมลงนามค้าน FTA ขวางการเข้าถึงยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต
ภาคประชาสังคมไทยร่วมลงนามจดหมายเปิดผนึก รวมใจค้านความตกลงทรัพย์สินทางปัญญาที่ขวางการเข้าถึงยาของประชาชน

ระหว่างที่การประชุมผู้บริหารสูง  ของแต่ละประเทศสมาชิกสหประชาชาติว่าด้วยเอชไอวีและโรคเอดส์ ซึ่งจัดมีขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 มิ.ย. 2554 ณ สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพื่อติดตามและกำหนดเจตน์จำนงร่วมกันตามที่ประเทศต่างๆ ได้ตกลงตามปฏิญญาว่าด้วยพันธกรณีเรื่องเอชไอวีและโรคเอดส์  เมื่อปี ค.ศ. 2001 และปฏิญญาการเมืองว่าด้วยเรื่องโรคเอดส์เมื่อปี ค.ศ. 2006 กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น เพราะประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสวิตเซอร์แลนด์ พยายามใช้การประชุมครั้งนี้เป็นเวทีที่จะเพิ่มการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญา แต่ไม่ต้องการรับปากที่จะให้เงินช่วยเหลือเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาคประชาสังคมไทยกว่า 10 องค์กร เช่น เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และ มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ได้ร่วมกับภาคประชาสังคมทั่วโลก ส่งจดหมายเปิดผนึก “ปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยความตกลงเขตการค้าเสรีและการเข้าถึงยา” และบางส่วนยังได้จัดการรณรงค์ส่งโทรสารไปยังสถานทูตประเทศพัฒนาแล้วในภูมิภาคต่างๆ เพื่อคัดค้านความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) และความพยายามในรูปแบบต่างๆ ของรัฐบาลประเทศพัฒนาแล้วและอุตสาหกรรมยาข้ามชาติ ที่ต้องการผูกขาดทำกำไรด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดมากขึ้นซึ่งจะมีผลกระทบโดยตรงต่อการเข้าถึงยาของประชาชนทั่วโลก

นายสุริยา วิงวอน ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า ในการประชุมที่สหประชาชาติขณะนี้ ตัวแทนประเทศไทยมีจุดยืนที่ดีมาก คือ ต้องการให้กำหนดเป้าหมายการเข้าถึงการรักษาที่ 15 ล้านคนภายในปี 2030 ซึ่งจะครอบคลุมร้อยละ 80 ของผู้ติดเชื้อที่จำเป็นต้องใช้ยา, ยืนยันให้คงสิทธิและสนับสนุนให้ทุกประเทศใช้มาตรการยืดหยุ่นในความตกลงทริปส์เพื่อการเข้าถึงยา และคัดค้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ที่ผ่านช่องทางการเจรจาเอฟทีเอต่างๆ ซึ่งจุดยืนนี้มาจากการหารือร่วมกันระหว่างตัวแทนฝ่ายไทยและภาคประชาสังคมไทยที่ทำงานด้านเอดส์

“เชื่อว่าการเจรจาครั้งนี้จะดุเดือด เพราะประเทศพัฒนาแล้วคัดค้านสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด เนื่องจากต้องการทำกำไรจากการขายยาให้ได้สูงสุด แต่ภาคประชาสังคมทั่วโลกจะร่วมกับรัฐบาลประเทศกำลังพัฒนาเช่น ไทย บราซิล และอินเดีย คัดค้านเรื่องนี้อย่างที่สุดเช่นเดียวกัน” นายสุริยา  กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น