ศูนย์ข่าวศรีราชา - กอสส.รับฟังความเห็นภาคประชาสังคมก่อนพิจารณา โครงการ”ทีโอซีไกลคอล” หลังจากภาคประชาชน และนักวิชาการออกมาแสดความเห็นถึงการพิจารณาที่ไม่โปร่งใสของคณะทำงานฯ
วันนี้ ( 28 พ.ค. ) ที่ห้องประชุมสำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัด ระยอง นายวีรวัธน์ ธีรประสาธน์ ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(กอสส.)(เฉพาะกาล) พร้อมด้วยศ.ดร.เปี่ยมศักดิ์ เมนะเศวต รองประธานคณะกรรมการฯ และว่าที่ร้อยตรีสุรพล ดวงแข กรรมการฯลฯ ได้ร่วมกันเปิดประชุม เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาสังคมในจังหวัดระยอง ประกอบการพิจารณากรณีที่ บริษัท “ทีโอซีไกลคอน” ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง
โครงการดังกล่าว เป็นโครงการแรกที่เข้าสู่การพิจารณาขององค์การอิสระฯว่าดำเนินการถูกต้องตามข้อเท็จจริงหรือไม่ อย่างไร โดยก่อนหน้านี้มีกระแสการพิจารณาที่ไม่โปร่งใสของคณะทำงาน อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมีการให้ความเห็นชอบต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกกลุ่ม จากนั้นจะดำเนินการสรุปความเห็นชอบให้ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ออกใบอนุญาตประกอบการพิจารณา
ผู้แทนจากภาคประชาชนเสนอความเห็นว่า ปัญหาเรื่องสุขภาพของประชาชน รวมทั้งปัญหาโรงงานแย่งชิงน้ำภาคเกษตร ปัญหาอากาศเป็นพิษ ขยะสารพิษที่ถูกลักลอบทิ้งในที่สาธารณะ ล้วนเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานและทำให้ประชาชนบางคนต้องป่วยเป็นโรคผิวหนัง โรคทางเดินหายใจ ขณะที่ชาวบ้านไม่สามารถปกป้องตนเองรวมทั้งสิทธิอันชอบธรรมได้
ที่สำคัญคือไม่สามารถหวงแหนปกป้องห่วงโซ่อาหารหรือแผ่นดินให้อยู่ในมือลูกหลานเกษตรกรในอนาคต ซึ่งองค์การอิสระฯจะช่วยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรมนี้ได้อย่างไร เพราะหากปล่อยให้เป็นเช่นอดีตก็จะทำให้กลุ่มนักวิชาการที่อิงทุนนิยม หรือนิยมทุนข้ามชาติ เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ได้ตลอดไป
ขณะที่ผู้แทนจากชมรมประมงเรือเล็กบ้านเรา กล่าวว่าพื้นที่หากินในทะเลถูกโรงงานบุกรุกแย่งชิงพื้นที่ทรัพยากรทางทะเล ทำให้ทะเลปากน้ำระยองซึ่งเป็นแหล่งทำมาหากินได้รับผลกระทบจากสารพิษ น้ำเสียจากโรงงานและการลักลอบปล่อยน้ำร้อนจากโรงงานลงทะเล ซึ่งที่ผ่านมาชมรมฯ ได้เรียกร้องไปยังหลายหน่วยงานให้เข้ามาช่วยเหลือด้วยการทิ้งปะการังเทียม แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้า ทำให้ประมงพื้นบ้านหรือประมงชายฝั่งต้องออกไปหากินห่างจากฝั่ง 5 - 10 ไมล์ทะเล
ด้านนายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่ากรณีการลักลอบทิ้งขยะสารพิษในที่สาธารณะ เมื่อดูจากบันทึกการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายสถานีพบว่าแม้จะมีการจับกุมดำเนินคดี แต่ก็ยังคงมีการลักลอบทิ้งอยู่เป็นประจำ ที่สำคัญผู้ประกอบการยังไม่คิดที่จะบำบัดของเสียเหล่านี้ให้ถูกต้องตามขั้นตอน
ส่วนเรื่องน้ำก็มีการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำไปช่วยโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งที่เกษตรกรประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้ที่ผ่านมาเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกและชาวบ้านมาบตาพุด ต้องผลักดันให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ประกาศเขตควบคุมมลพิษ แต่กลับพบว่าปัจจุบันกลับมีการก่อสร้างโรงงานเพิ่มมากขึ้นแม้จะใช้มาตรการฟ้องศาล แต่ก็ยังมีการเร่งก่อสร้าง และนี่คือการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด เพราะไม่มีเครื่องมือตัดสินใจที่ถูกต้องภายใต้ฐานข้อมูล
นายวีรวัธน์ ธีรประสาธน์ ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(กอสส.) กล่าวว่าในส่วนที่จะต้องให้ความเห็นประกอบโครงการมีหลายเรื่องที่มีข้อเสนอ อาทิ ขบวนการรับฟังความคิดเห็นว่าโครงการนี้ใช้สารเคมีใดที่ผู้รับผิดชอบต้องให้ทุกฝ่ายทราบข้อมูลเพื่อเฝ้าระวังในอนาคต รวมทั้งการรับฟังปัญหาเรื่องทรัพยากรทางทะเลชายฝั่ง ก็ต้องพิจารณาให้มีความชัดเจนว่าจะมีผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งหรือไม่ และจากข้อมูลที่ได้รับฟังจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ก็จะนำไปประกอบการพิจารณาอย่างละเอียดต่อไป