xs
xsm
sm
md
lg

สธ.คลอด 4 มาตรการ สกัดเชื้ออีโคไล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
สธ.คลอดมาตรการ 4 ข้อ คุมเข้มเชื้ออีโคไล “จุรินทร์” ยันยังไม่พบเชื้อ สั่ง อย.เฝ้าระวังอาหารนำเข้า ขณะ “เลขาฯ อย.” ชี้ ปี 54 ไทยนำเข้าผักผลไม้จากฝรั่งเศส-อิตาลี ไม่มีเยอรมนี

วันนี้ (6 มิ.ย.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์หลังประชุม เรื่องเชื้ออีโคไล สายพันธุ์ โอ 104 ( E.coli O 104) ชนิดรุนแรง ว่า ปัจจุบันนี้มีเชื้ออีโคไล 5 ชนิด และสายพันธุ์ โอ 104 ยังคงยืนยันว่า ยังไม่พบการระบาดในประเทศไทย แต่ทาง สธ.ก็ต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยในวันนี้ที่ประชุมได้มีมาตรการ 4 ข้อ คือ 1.มาตรการสำหรับการป้องกันและเฝ้าระวัง ด้วยการแจกเอกสารความรู้เกี่ยวกับโรค และการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากสหภาพยุโรป (อียู) ทั้งหมด 12 ประเทศ รวมทั้งกลุ่มทัวร์ที่เกดินทางมาจาก อียูด้วย และเพิ่มข้อมูลหน่วยงานที่สามารถขอคำปรึกษาเกี่ยวกับเชื้อโรคได้ คือ ด่านควบคุมโรค (คร.) ที่มีประจำการอยู่ในท่าอากาศยานแต่เดิมแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ถ่ายเป็นมูกเลือดก็สามารถขอคำปรึกษาได้โดยตรง ส่วนประชาชนทั่วไปของไทย ก็ยังคงใช้มาตรการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ เช่นเดิม 2.ในส่วนของอาหารนำเข้านั้นสั่งการให้ ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้สุ่มตรวจตัวอย่างผักและผลไม้ที่มาจากอียู โดยเฉพาะเยอรมนี ซึ่ง อย.ได้ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย.แล้ว และจะทำต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลง

3.สั่งให้โรงพยาบาลทุกสังกัดมีการดูแลผู้ป่วยพิเศษในถ่ายเป็นน้ำ มีมูกเลือดปน และผู้ป่วยไตวายเฉียบพลันที่เดินทางมาจากอียูช่วง 1 สัปดาห์ก่อนป่วย โดยสั่งการให้แพทย์รักษาตามมาตรฐานวิชาชีพและเก็บตัวอย่างเชื้อตรวจทางห้องปฏิบัติการ รวมทั้งมีการสอบสวนโรคอย่างละเอียด และ 4.สั่งการให้ คร.ติดตามเฝ้าระวังและดำเนินการในฐานะผู้ประสานงานการทำงานในส่วนของการเฝ้าระวังโรค

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นจำเป็นต้องเฝ้าระวังแบบคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางจากอียูแบบเข้มข้นเหมือนกับกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่นหรือไม่ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ.ตอบว่า ครั้งนี้เป็นการระบาดของโรคทางเดินอาหารซึ่งต่างจากสารกัมมันตรังสี ดังนั้นการควบคุมต้องทำในระดับที่มีความเหมาะสมเท่านั้นและถ้าติดตามอย่างดี ภายใน 1 เดือน เชื่อว่าเรื่องน่าจะจบลง

“ทั้งนี้ ในกรณีที่พบป่วยติดเชื้ออีโคไล นั้น แนวทางการตรวจรักษานั้น คงไม่ต้องถึงขั้นเปลี่ยนถ่ายเลือดทุกราย แต่จะทำเฉพาะผู้ป่วยที่ไตวายเฉียบพลันและเม็ดเลือดแดงแตกแล้วเท่านั้น แต่สำหรับผู้ป่วยที่ถ่ายรุนแรงและมีเลือด มีมูกปนก็จะอาศัยการรักษาตามอาการ มาตรฐานเดียวกันกับต่างประเทศ” นพ.ไพจิตร์ กล่าว

นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการ อย.กล่าวว่า ในส่วนของ อย.จะเก็บตัวอย่างผักและผลไม้ที่นำเข้าจากอียูทั้งทางเรือและเครื่องบินมาสุ่มตรวจอย่างละ 1 กิโลกรัม(กก.) เพื่อหาการปนเปื้อนของเชื้ออีโคไล โดยในปี 2554 ไทยนำเข้าผักและผลไม้มาจากอิตาลี และ ฝรั่งเศส เท่านั้น ไม่มีการนำเข้าจากเยอรมนีแต่อย่างใด โดยตัวอย่างการนำเข้า ได้แก่ แอปเปิล กีวี ดอกฟักทอง เห็ด เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น