สพฉ.จัดเสวนาถอดบทเรียน “ปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา” พร้อมมอบโล่เกียรติคุณผู้ปฏิบัติงานที่เสียสละในเหตุการณ์ความไม่สงบโดย “รองปลัด สธ.” ด้าน “ผู้ตรวจราชการเขต 14” แนะต้องพัฒนาการสำรวจทรัพยากรทางการแพทย์ให้ชัดเจน เพื่อการบริหารจัดการที่ดี
ที่โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ท สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จัดเวทีสัมมนาถอดบทเรียน การแพทย์ฉุกเฉินกับปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา โดยมี นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน และมีผู้ร่วมเสวนา อาทิ พ.อ.ศักดา เปรนาวิน รองเสนาธิการกองทัพภาคที่ 2 นายยุทธนา วิริยะกิตติ รองผู้วาราชการจังหวัดสุรินทร์ นพ.คำรณ ไชยศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขต 14 และ นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)
นายยุทธนา วิริยะกิตติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า จ.สุรินทร์มีเขตติดชายแดน 80 กิโลเมตร ประชาชนสามารถเดินเข้ามาได้อย่างสะดวก จึงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดการปะทะได้ และอาจมีการกระทบกระทั่งของการเมืองระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตามจากการเกิดเหตุความไม่สงบส่งผลให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ ไม่น้อยกว่า 120 ล้านบาท แต่ความสูญเสียทางการเงินอาจไม่เท่าไร แต่สิ่งที่แย่คือเสียความรู้สึกระหว่างประชาชน
“ผมขอชื่นชมผู้อำนวยการโรงพยาบาลพนมดงรัก ซึ่งผมเป็นห่วงที่สุด โดยเฉพาะเรื่องการอพยพผู้บาดเจ็บ การบริหารจัดการ แต่ผอ.รพ. และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลได้ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ ซึ่งถือเป็นผู้เสียสละที่สุด รวมทั้งขอชื่นชมผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ที่สามารถประสานจัดการได้อย่าง เป็นระบบ มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม จนทำให้สถานการณ์ทางการแพทย์คลี่คลายไปได้ด้วยดี” รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์กล่าว
ด้าน นพ.คำรณ ไชยศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเขต 14 กล่าวว่า การบริหารจัดการในสถานการณ์ภัยพิบัติ ได้มีการวางแผนไว้ล่วงหน้าแล้ว คือสถานพยาบาลที่อยู่ในแนวหน้า คือในรัศมี 10 กิโลเมตร ได้สั่งการให้ปิดสถานพยาบาลทั้งหมด และให้อพยพไปอยู่ในโรงพยาบาลในเขตแนวที่สอง ที่ได้สั่งการให้โรงพยาบาลเตรียมพร้อมรับผู้บาดเจ็บตลอดเวลา และแบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้บาดเจ็บจากการปะทะ และผู้บาดเจ็บจากการอพยพ และจากการประชุมประเมินสถานการณ์ของวอร์รูมเขตคิดว่าน่าจะรุนแรง จึงขอกำลังเสริมจากจังหวัดใกล้เคียง จึงทำให้การบริหารจัดการเป็นระบบมากขึ้น
“แต่บทเรียนครั้งนี้คือ อนาคตจะต้องมีการพัฒนาสำรวจทรัพยากรให้ชัดเจน เช่น โรงพยาบาลใดมีศัลยแพทย์ หรือแพทย์เฉพาะทางจำนวนเท่าไร จำนวนเวชภัณฑ์ในแต่ละโรงพยาบาล ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหา การบริหารจัดการยามฉุกเฉินได้เป็นอย่างดี” นพ.คำรณกล่าว
ขณะที่ นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการ สพฉ. กล่าวถึงการบริหารจัดการ ประสานงานในภาวะวิกฤติกับปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา ว่า ภารกิจของ สพฉ.คือ ประสานงาน ส่งเสริม และสนับสนุนในเรื่องการแพทย์ฉุกเฉิน โดย ในเหตุการณ์ปะทะครั้งนี้ สพฉ. ได้ประสานงานกับหน่วยปฏิบัติการทั้ง รถกู้ชีพ เรือกู้ชีพ โดยเฉพาะเฮลิคอปเตอร์กู้ชีพ ที่ สพฉ. ได้ประสานเพื่อลำเลียงผู้ป่วยทหารบาดเจ็บสาหัสจาก รพ.สุรินทร์ นำส่ง รพ.พระมงกุฎเกล้า ได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ได้ประสานกับมูลนิธิต่างๆ และทีมชุดปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินเคลื่อนที่เร็ว ให้เข้าช่วยเหลือในพื้นที่ด้วย
นอกจากนี้ นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณสำหรับหน่วยปฏิบัติการทางการแพทย์ และผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์ ที่ได้ช่วยเหลือเหตุการณ์ความไม่สงบที่ จ.สุรินทร์ ด้วยความเสียสละ รวม 55 แห่ง อาทิ โรง พยาบาลนครราชสีมา รพ.นครราชสีมา รพ.สุรินทร์ รพ.ปราสาท รพ.พนมดงรัก รพ.กาบเชิง รพ.ศรีขรภูมิรพ.ท่าตูม รพ.พิมาย รพ.ชัยภูมิ รพ.ภูเขียว รพ.ปากช่องนานา รพ.ราชบุรี รพ.ร้อยเอ็ด รพ.ขอนแก่น รพ.ศรีมหาโพธิ์ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จ.นครราชสีมา วิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม องค์การเภสัชกรรม สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เป็นต้น