“จุรินทร์” สั่งปิดโรงพยาบาล 9 แห่งจากเหตุปะทะชายแดนไทย-กัมพูชา พร้อมเสริมทีมแพทย์เข้าพื้นที่อีก 5 ทีม ชาวบ้านศูนย์อพยพได้รับผลกระทบ เครียดเพิ่มขึ้น
วันนี้ (27 เม.ย.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ว่า ขณะนี้มีโรงพยาบาลที่จำเป็นต้องปิดให้บริการทั้งหมด 9 แห่ง เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 7 แห่งที่จังหวัดสุรินทร์ 6 แห่ง บุรีรัมย์ 1 แห่ง และเป็นโรงพยาบาลชุมชน 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลพนมดงรัก ที่จะเปิดให้บริการเฉพาะอุบัติเหตุฉุกเฉินและห้องผ่าตัด พร้อมทั้งได้ย้ายเจ้าหน้าที่ไปเปิดให้บริการเป็นโรงพยาบาลสนามที่โรงเรียนมหาราช 4 ซึ่งอยู่ห่างไปประมาณ 8 กิโลเมตรแทน และโรงพยาบาลกาบเชิง ซึ่งได้ย้ายผู้ป่วยทั้งหมด 27 คน ออกจากโรงพยาบาลไปที่โรงพยาบาลปราสาท 9 คน โรงพยาบาลลำดวน 9 คน โรงพยาบาลสุรินทร์ 2 คน และโรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน 1 คน ส่วนที่เหลือผู้ป่วยขอกลับบ้าน
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ในการจัดบริการได้สั่งการให้เสริมทีมแพทย์อีก 5 ทีมจากจังหวัดมหาสารคาม ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ จังหวัดละ 1 ทีมและจังหวัดราชบุรี 2 ทีม ซึ่งขณะนี้หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ได้ให้บริการใน 31 ศูนย์อพยพ ประกอบด้วย จังหวัดสุรินทร์ 23 ศูนย์ และบุรีรัมย์ 8 ศูนย์ มีผู้ประสบภัยมารับบริการตรวจสุขภาพรวม 7,672 ราย ส่วนใหญ่โรคทางกายที่พบเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ รองลงมา คือ โรคระบบทางเดินอาหาร พร้อมกันนี้ได้รับผู้ป่วยโรคเรื้อรังมาดูแลที่ศูนย์อพยพ โดยได้จัดทีมแพทย์พยาบาลให้การดูแลโดยตรง นอกจากนี้ ยังพบผู้ป่วยโรคเครียด เนื่องจากการไม่ทราบสถานการณ์ในอนาคต ได้เน้นย้ำให้ติดตามดูแลเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าเสี่ยงฆ่าตัวตายซึ่งมี 16 ราย รวมทั้งได้เน้นย้ำให้ดูแลเรื่องสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม น้ำ อาหาร สุขา ความสะอาดทั่วไป ซึ่งจากการตรวจเยี่ยม พบว่าทำได้ดีและประชาชนพอใจ ขณะนี้ยังไม่พบโรคระบาดในศูนย์อพยพ
นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้มีผู้บาดเจ็บนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 47 ราย อยู่ที่โรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน 37 ราย โรงพยาบาลสุรินทร์ 7 ราย โรงพยาบาลบุรีรัมย์ 1 ราย และโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า 2 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตทั้งหมด 6 ราย เป็นทหาร 5 ราย ประชาชน 1 ราย
นพ.คำรณ ไชยศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต 14 กล่าวว่า จากเหตุปะทะเมื่อวานที่ผ่านมา จนมีพลเรือนเสียชีวิต ทำให้ขวัญและกำลังใจของประชาชนในศูนย์อพยพได้รับผลกระทบ มีความเครียดเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีการขอทีมแพทย์เสริมในพื้นที่ หลังจากมีทีมแพทย์จากนครราชสีมา ขอนแก่น 4 ทีม เข้ามาช่วยดูแลทั้งสุขภาพกายและใจของประชาชน โดยแพทย์ที่จะมาสนับสนุนเพิ่มจาก จ.มหาสารคาม ชัยภูมิ และ ร้อยเอ็ด รวม 3 ทีม ส่วนขวัญและกำลังใจของเจ้าหน้าที่นั้นได้มีการพูดคุย และให้กำลังใจกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยในส่วนของ รพ.พนมดงรัก และ รพ.กาบเชิง จะเหลือเพียงเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่สมัครใจและมีหน้าที่ดูแลกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน