สพฉ.เร่งสร้างหน่วยกู้ชีพเคลื่อนที่เร็วช่วยผู้ประสบภัย นำร่องใน 3 จังหวัด และเตรียมลงนามความร่วมมือกับกรมเจ้าท่า ในการเพิ่มศักยภาพการกู้ชีพทางน้ำ ด้านนายแพทย์สาธารณสุข จ.สุราษฎร์ธานี เผย หลายพื้นที่น้ำเริ่มเน่าเสีย และพบผู้ป่วยโรคฉี่หนูแล้ว 1 ราย คาด จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น
ในการประชุม “ถอดบทเรียนน้ำท่วมและดินถล่มภาคใต้กับการแพทย์ฉุกเฉิน” นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า จากการถอดบทเรียนดังกล่าว ทำให้เห็นว่าขณะนี้มีความจำเป็นต้องพัฒนาชุด ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินเคลื่อนที่เร็วให้มีจำนวนมากขึ้น เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์เข้าไปกู้ชีพ ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยตั้งแต่เบื้องต้น เตรียมฝึกอบรมเพิ่มอีก 20 หน่วยจากที่ปัจจุบันมี 10 หน่วยกระจายทั่วประเทศ ซึ่ง 1 หน่วยมีเจ้าหน้าที่ 7-11 คน ที่ต้องพร้อมลงเผชิญเหตุ และรู้จักประยุกต์สร้างโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ เตรียมอบรมใน 3 จังหวัดนำร่อง ให้มีหน่วยกู้ชีพเคลื่อนที่ คือ ภูเก็ต ลพบุรี และปราจีนบุรี ซึ่งจะมีหน่วยงานทางทหาร เอกชน และกระทรวงสาธารณสุขเข้าร่วม คาดว่า จะใช้เวลา 10 วันในการอบรม ใช้งบประมาณ 3-5 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในเดือนหน้าเตรียมลงนามความร่วมมือกับกรมเจ้าท่า เพื่อคัดเลือกเรืออาสาสมัครร่วมเป็นหน่วยกู้ชีพทางน้ำเพื่อเพิ่มศักยภาพการกู้ชีพทางน้ำ ซึ่งปัจจุบันพบว่าจากเหตุน้ำท่วม ดินถล่มในภาคใต้ ส่วนใหญ่การปฏิบัติได้รับความร่วมมือจากทีมกู้ชีพภาคเอกชน ทั้งมูลนิธิร่วมกตัญญู มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มูลนิธิสว่างแผ่ไพศาลธรรมสถาน มูลนิธิสว่างเมธี และมูลนิธิสว่างบริบูรณ์ธรรมสถาน ช่วยเหลือประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า จากเหตุน้ำท่วมใน จ.สุราษฎร์ธานี พบว่า การเข้าถึงข่าวสารเพื่อการเตือนภัย และการป้องกันให้ประชาชนยังต้องพัฒนา และการวางแผนซ้อมเผชิญเหตุให้หน่วยงานรัฐก็จำเป็นเช่นกัน เนื่องจากระดับน้ำที่ฝนตก 10 วัน ทำให้ระดับสูงขึ้น แม้มีการซักซ้อมก็ไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด ยอมรับว่า น้ำท่วมภาคใต้ในปีนี้หนักกว่าทุกปี และไม่เคยมีมาก่อน ส่วนสถานการณ์ในขณะนี้ระดับน้ำลดลงหมดแล้ว เหลือที่ อ.พุนพิน โดยเฉพาะตามสวนและไร่นาน้ำเริ่มเน่าเสีย ต้องวางแผนสูบน้ำออกทุกชั่วโมงเพื่อลดความเน่าเสีย และเติมน้ำยาอีเอ็มเพื่อบำบัดน้ำลงไป ขณะนี้พบผู้ป่วยโรคฉี่หนูแล้ว 1 รายที่ อ.พนม คาดว่า อาจจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น หน่วยเคลื่อนที่เร็วของกรมควบคุมโรคได้ฉีดพ่นหมอกควันเพื่อกำจัดลูกน้ำยุงลาย ขณะที่ความเครียดเสี่ยงฆ่าตัวตายก็ลดลงแล้ว