xs
xsm
sm
md
lg

วอนรัฐบาลใหม่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตั้งกองทุนสวัสดิการ-เงินออมแรงงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นายจ้าง-ลูกจ้าง-นักวิชาการแรงงานประสานเสียงแนะรัฐบาลชุดใหม่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จ่ายค่ามาตรฐานฝีมือให้แรงงานทักษะฝีมือแต่ละสาขา ตั้งกองทุนสวัสดิการ-เงินออมให้แก่แรงงานกู้ยามจำเป็น ดันแรงงานนอกระบบเข้าประกันสังคม เร่งขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว

นายมนัส โกศล ประธานองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย (อสท.) กล่าวถึงนโยบายพัฒนาคุณชีวิตแรงงานที่ต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่ดำเนินการ ว่า อยากให้รัฐบาลชุดใหม่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 25% ภายใน 2 ปีโดยปีนี้ขอให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก่อน 13% และจัดทำโครงสร้างค่าจ้างประจำปีให้แก่แรงงานทักษะฝีมือในสาขาต่างๆ เพื่อจะไม่ต้องรอปรับค่าจ้างตามการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และดูแลความปลอดภัยของแรงงานตามระบบสากลโดยให้ทำงานไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง ซึ่งทุกวันนี้แรงงานไทยทำงานวันละ 12 ชั่วโมง เพราะรายได้ไม่พอค่าครองชีพ รวมทั้งดูแลให้แรงงานนอกระบบที่มีกว่า 20 ล้านคน ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลและมีเงินออมในวัยเกษียณโดยใช้มาตรา 40 ของ พ.ร.บ.ประกันสังคมและจัดตั้งกองทุนภาคประชาชนขึ้นมาด้วย

น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (ครสท.) กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลชุดใหม่ทำตามข้อเรียกร้อง 13 ข้อที่ได้เสนอต่อสาธารณชนไปเมื่อวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา เช่น รับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 ปฏิรูประบบประกันสังคม และตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการให้บริการของโรงพยาบาลในระบบประกันสังคมซึ่งขณะนี้ผู้ประกันตนร้องเรียนกันมาก อีกทั้งขอให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและปรับให้เท่ากันทุกพื้นที่ และมีการปรับตามค่าจ้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือ อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์นี้ครสท.จะหารือข้อเสนอของแรงงานเพื่อยื่นต่อพรรคการเมืองต่างๆ

ด้านนายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลชุดใหม่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามความเหมาะสม ไม่เข้าไปแทรกแซง เพราะหากปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่ออุตสาหกรรมแต่ละประเภท จะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและกระทบต่อการส่งออกสินค้า

“ส่วนค่าจ้างของแรงงานไทยนั้นควรดำเนินการในรูปแบบของค่าจ้างแรกเข้าของแรงงานแต่ละสาขาและกำหนดให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ อาจจะกำหนดให้มีการปรับขึ้นทุก 2-3 ปี และการปรับขึ้นค่าจ้างนั้นควรทำในรูปแบบค่าจ้างประจำปี โดยไม่น้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อของแต่ละปีด้วยการอิงอัตราเงินเฟ้อของหน่วยงานต่างๆ เช่น สภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลังโดยเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับหน่วยงานรัฐ นายจ้างและลูกจ้างจะมาตกลงกัน ส่วนแรงงานต่างด้าวควรกำหนดค่าแรงในรูปแบบค่าแรงขั้นต่ำ” นายธนิต กล่าว

นายธนิต กล่าวอีกว่า รัฐบาลชุดใหม่จะต้องเร่งดำเนินการเรื่องมาตรฐานฝีมือแรงงานและคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อให้แรงงานที่มีฝีมือในสาขาต่างๆ ได้รับค่าจ้างที่เหมาะสมเพราะในปี2558 จะเกิดประชาคมอาเซียน จะทำให้แรงงไทยอพยพไปทำงานต่างประเทศได้ รวมทั้งเร่งขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในไทยโดยผิดกฎหมายซึ่งคาดว่ามีอยู่ 2-3 ล้านคน

นอกจากนี้ ควรให้มีกองทุนสวัสดิการให้แก่แรงงานได้กู้ยืมเงินไปใช้กรณีที่จำเป็นเช่น รักษาพ่อแม่ที่ป่วย สร้างบ้าน ส่งลูกเรียน อาจจะแยกเงินส่วนหนึ่งจากกองทุนประกันสังคมที่มีอยู่หลายแสนล้านบาทมาจัดตั้งกองทุนนี้และร่วมมือกับธนาคารเช่น ธนาคารออมสิน เอสเอ็มอีแบงก์ให้ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่แรงงานโดยกำหนดเกณฑ์การกู้เช่น ส่งประกันสังคมมากี่ปี กู้ได้วงเงินกี่เท่าของเงินเดือน ทั้งนี้ เชื่อว่า แรงงานเบี้ยวหนี้ไม่ได้แน่นอน หากใช้วิธีแจ้งนายจ้างให้หักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้กองทุนนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น