xs
xsm
sm
md
lg

แรงงาน 91.1% ชี้ค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบันไม่พอดำรงชีพ ต้อง 290 บ./วัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
กรุงเทพโพลล์ เผยผลสำรวจผู้ใช้แรงงาน 91.1% ระบุ ค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบันไม่พอดำรงชีพ ขอเพิ่มขึ้นเป็น 290 บาทต่อวัน 57.09% เชื่อนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำร้อยละ 25 ภายใน 2 ปี ยังไม่พออยู่ดี

วานนี้ (1 พ.ค.) ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) ได้สำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้แรงงานภายใต้หัวข้อ “ผู้ใช้แรงงาน กับสิ่งที่ร้องขอในวันแรงงานแห่งชาติ” โดยเก็บข้อมูลจากผู้ใช้แรงงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จำนวน 1,073 คน พบว่า ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 91.1 ระบุว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ โดยค่าจ้างขั้นต่ำที่เพียงพอต่อการดำรงชีพเฉลี่ยควรอยู่ที่ 290 บาทต่อวัน

เมื่อสอบถามความเห็นเกี่ยวกับนโยบายค่าแรงขั้นต่ำที่ 2 พรรคใหญ่หาเสียงอยู่ในขณะนี้ พบว่า ในส่วนนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำร้อยละ 25 ภายใน 2 ปีของพรรคประชาธิปัตย์นั้น ผู้ใช้แรงงานร้อยละ 57.9 ยังคงมองว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าวยังคงไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพอยู่ดี และร้อยละ 63.7 ก็ยังไม่เชื่อว่านโยบายดังกล่าวจะทำได้จริง ในส่วนนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันของพรรคเพื่อไทย ผู้ใช้แรงงานร้อยละ 88.2 เห็นว่า ค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าวเพียงพอต่อค่าครองชีพ และร้อยละ 54.0 เชื่อว่า นโยบายดังกล่าวจะทำได้จริง

เมื่อให้ผู้ใช้แรงงานเปรียบเทียบทั้ง 2 นโยบาย พบว่า ผู้ใช้แรงงานร้อยละ 84.5 ชอบนโยบายของพรรคเพื่อไทยมากกว่าสำหรับแนวคิดการจัดทำ “มาตรฐานฝีมือแรงงาน” ที่กำลังจะเกิดขึ้น ผู้ใช้แรงงานร้อยละ 53.3 เชื่อว่า จะช่วยยกระดับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้อยู่ในระดับที่ควรจะเป็นได้ ซึ่งการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานดังกล่าวผู้ใช้แรงงานร้อยละ 82.2 เชื่อว่าจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของแรงงานโดยรวมเพิ่มขึ้น

ส่วนสิ่งที่ผู้ใช้แรงงานต้องการฝากบอกไปยังนายจ้าง/เจ้าของกิจการมากที่สุดเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ คือ ต้องการให้ขึ้นค่าแรง โบนัส เบี้ยขยัน รวมถึงดูแลค่าจ้างให้เหมาะสมกับค่าครองชีพ (บางคนได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ)และจ่ายค่าจ้างให้สอดคล้องกับงานที่ทำอยู่จริง (ร้อยละ 58.4)

ด้านสิ่งที่ต้องการร้องขอจากรัฐบาลให้เข้ามาดูแล พัฒนา และปรับปรุงแก้ไขมากที่สุด ได้แก่ เรื่องค่าแรง/ค่าจ้าง (ร้อยละ 45.1) รองลงมาต้องการให้ภาครัฐเข้ามาดูแลเรื่องสวัสดิการ (ร้อยละ 25.4) และเรื่องคุณภาพชีวิต (ร้อยละ 16.4)
กำลังโหลดความคิดเห็น