เสนอรัฐผ่างบ สปส.ตั้งองค์กรใหม่ ดูแลแรงงานนอกระบบ 24 ล้านคน ลดความเหลื่อมล้ำ เชื่อ ช่วยให้เกิดประโยชน์ด้านบริการสุขภาพมากขึ้น ขณะที่แรงงานรับจ๊อบทำที่บ้านกว่า 4 แสนคน เตรียมเฮ พ.ร.บ.คุ้มครองฯจะคลอด พ.ค.นี้ ช่วยคุ้มครองอัตราจ้างขั้นต่ำเทียบเท่าแรงงานในระบบ
วันนี้ (27 เม.ย.) นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวในเวที สช.เจาะประเด็น เรื่องสุข-ทุกข์ แรงงานนอกระบบไทยวันนี้ ว่า เนื่องจากใกล้ถึงวันแรงงาน ซึ่งตรงกับวันที่ 1 พ.ค.ของทุกปี ดังนั้น สช.จึงได้จัดเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องของคุ้มครองสุขภาพและสร้างหลักประกันทางสังคมแก่แรงงานนอกระบบ เพื่อความมั่นคงของแรงงานกลุ่มดังกล่าวให้เท่าเทียมกับคนกลุ่มอื่นในสังคม เนื่องจากปัจจุบัน นี้แรงงานนอกระบบบางคนอาจยังเข้าไม่ถึงระบบบริการสุขภาพ เช่น แรงงานที่ชนบท หรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ ซึ่งจะเข้าถึงยากกว่าแรงงานในชุมชนเมือง
ด้าน นพ.ภูษิต ประคองสาย ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากข้อมูลปี 2549-2552 พบว่า จำนวนแรงงานนอกระบบนั้นมีจำนวนสูงถึง 24 ล้านคน หรือคิดเป็น 2 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมด ส่วนมากเป็นเกษตรกร ในชนบท ขณะที่แรงงานภาคอุตสาหกรรมนั้นนิยมรับงานไปทำที่บ้าน โดยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ไม่มีสัญญาจ้าง ไม่มีกฎหมายคุ้มครองส่งผลให้เกิดผลกระทบหลายด้าน อาทิ ค่าตอบแทนซึ่งพบว่า แรงงานนอกระบบนั้นมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 3,700 บาท ต่อเดือน ขณะที่แรงงานในระบบนั้นมีรายได้เฉลี่ย 10,800 บาทต่อเดือน ซึ่งสูงกว่าถึง 3 เท่า ขณะที่ปัญหาเรื่องสิทธิค่ารักษาพยาบาลพบว่า แม้แรงงานนอกระบบจะจัดอยู่ในสิทธิรักษาฟรี แต่เนื่องจากต้องทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทำให้แรงงานมากกว่า 50 % ที่ป่วยหรือไม่สบายไม่นิยมไปรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิที่มีเพราะเกรงว่าจะกระทบต่อเวลางาน
นพ.ภูษิต กล่าวด้วยว่า เรื่องของกฎหมายที่จะออกมาคุ้มครองนั้น หากจะมองถึงความเป็นไปได้เรื่องของการเรียกร้องให้แรงงานนอกระบบมีสิทธิเท่าเทียมแรงงานอื่นๆ เกรงว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอย่างสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะรับไม่ไหว เพราะระบบบริหารปัจจุบันที่ดูแลเพียงแรงงานระบบกว่า 9 ล้านคน ก็ยังเกิดปัญหาแล้วหากเพิ่มไปอีก 24 ล้านคน ก็ต้องมีภาระหน้าที่มากขึ้น อีกทั้งขณะนี้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ สปส.มีบางครั้งแรงงานก็เข้าไม่ถึงข้อมูลด้วยซ้ำ เนื่องจากแรงงานกลุ่มนี้ไม่ได้มีสำนักงานประจำอยู่ดังนั้นการรับรู้สิทธิต่างๆ ก็ยาก เช่น คนงานก่อสร้างก็ต้องโยกย้ายตัวเองไปที่อื่นเพื่อรับจ้างรายวันเรื่อยๆ ก็ไม่สามารถเข้าถึงข่าวสารได้มากนัก
นอกจากนี้ ความหลากหลายของแรงงานนอกระบบมีมากกว่า ก็จะยากในการจัดการ จึงเห็นว่า ควรที่ตั้งองค์ใหม่ที่รองรับเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาลมาดูแลแรงงานนอกระบบต่างหากจะดีกว่า แล้วก็แบ่งเอางบประมาณครึ่งหนึ่งของ สปส.มาบริหารองค์กร
“องค์กรที่แต่งตั้งขึ้นมาใหม่นี้ จะประกอบไปด้วย หน่วยงานหลัก 1 หน่วยงานแล้ว มีหน่วยงานย่อยเข้ามาดูแลแรงงานประเภทต่างๆ เช่น หน่วยย่อยที่ 1 ดูแลแรงงานในเมืองที่เป็นภาคอุตสาหกรรมซึ่งรับงานไปทำที่บ้าน หน่วยย่อยที่ 2 ก็ดูแลภาคเกษตรกรรม ซึ่งเชื่อว่าหากมีการเผยแพร่ข้อมูลสู่กลุ่มแรงงานที่สามารถรับสิทธิประโยชน์ได้โดยตรง จะก่อเกิดความเท่าเทียมที่แท้จริง” นพ.ภูษิต กล่าว
นายบัณฑิต ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิจัยสิทธิแรงงาน มูลนิธิอารมณ์พงศ์พงัน กล่าวว่า จากจำนวนแรงงานนอกระบบ 24 ล้านคนนั้น มีแรงงานจำนวน 4.4 แสนคน เป็นแรงงานในกลุ่มที่รับงานไปทำที่บ้าน ซึ่งกลุ่มนี้จะมีการออก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553 เตรียมประกาศใช้ในเดือน พ.ค.นี้ โดยกำหนดว่า หากแรงงานสามารถทำงานออกมาอย่างมีประสิทธิภาพจะต้องได้รับค่าจ้างเทียบเท่าค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานในระบบที่ทำงานตามภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี แต่ก็ต้องเร่งผลักดันประโยชนแก่กลุ่มอื่นด้วย
ด้าน รศ.ดร.วรวิทย์ เจริฐเลิศ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ความพยายามที่จะนำเข้าสู่ประกันสังคมนั้น อาจทำได้แต่ต้องไม่ด้อยกว่าแรงงานในระบบ เพราะไม่อย่างนั้นจะเกิดความเหลื่อมล้ำแน่นอน แต่ขณะนี้ปัญหา คือ แรงงานนอกระบบนั้นยังมีความหลากหลายทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม แผงลอย หาบเร่ ฯลฯ ดังนั้น เรื่องการจะเร่งกำหนดค่าแรงขั้นต่ำไม่ใช่เรื่องง่าย จึงอยากให้ทบทวนเรื่องรายละเอียดของเรื่องดังกล่าวให้ดีด้วย