xs
xsm
sm
md
lg

หนุนปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ ชี้ ปชช.ได้สินค้าเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นักวิชาการเชียร์ปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ ชี้ประชาชนได้ประโยชน์เลือกสินค้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แนะไทยต้องทำภาษีสิ่งแวดล้อมให้ชัดเจนทันโลก เพื่อไม่ให้ถูกกีดดันทางการค้า ขณะที่ TDRI เสนอทำกองทุนให้รางวัลหนุนส่งเสริมสิ่งแวดล้อมอีกทาง หวังกระตุ้นอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยตื่นตัว

ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ผู้อำนวยการแผนงานสร้างเสริมการเรียนรู้กับสถาบันอุดมศึกษาไทยเพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงกรณีการพิจารณาการปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่ในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 3 พ.ค.นี้ โดยมีหลักคิดที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมว่า เป็นเรื่องน่าชมเชยอย่างยิ่งที่หน่วยงานด้านเศรษฐกิจ อย่างกระทรวงการคลัง คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยเปลี่ยนจากการเก็บภาษีเพียงแค่ตามอัตราลูกสูบของรถยนต์ ซึ่งหากเป็นการคำนวณตามอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของรถยนต์ร่วมด้วย จะเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่เก็บภาษีตามอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่อกิโลเมตร อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ทราบโครงสร้างภาษีรถยนต์อัตราใหม่ที่กระทรวงการคลังเสนอแก้ไขว่าเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งคาดว่า จะเป็นการคำนวณภาษีตามราคาจำหน่าย หรือราคาต้นทุนรถยนต์ อย่างไรก็ดีการมีภาษีสิ่งแวดล้อมจะช่วยให้ประชาชนเริ่มตระหนักถึงผลต่อสิ่งแวดล้อมก่อนที่จะซื้อรถ

ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าวต่อว่า นสธ.ได้ศึกษาแนวทางการปรับภาษีที่ทำร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ชี้ให้เห็นว่าผลดีที่เกิดจากการปรับภาษีดังกล่าว จะทำให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อสินค้าที่มีประสิทธิภาพด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ซึ่งการมีภาษีดังกล่าวจะส่งผลโดยตรงต่อกลุ่มผู้ที่จะซื้อรถใหม่ เพราะต้องจ่ายครั้งเดียว ทำให้คนส่วนใหญ่อยากเลือกใช้รถที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การปรับภาษีดังกล่าวถือว่าทำให้ที่มาของโครงสร้างภาษีชัดเจนขึ้น ซึ่งปัจจุบันเกือบทุกประเทศในโลกมีการคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและคิดภาษีตามอัตราการทำลายสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

“อยากให้มีการใช้คำว่าภาษีคาร์บอนรถยนต์ แทนการใช้คำว่า ภาษีรถยนต์ เพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะแนวทางการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ และพัฒนาภาษีสิ่งแวดล้อมขึ้น แต่ขณะนี้มีเพียงประเทศไทย กัมพูชา ลาว และพม่า เท่านั้น ที่ยังไม่มีภาษีสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจทำให้ไทยถูกกีดกันทางการค้าในอนาคตได้ ซึ่งอยากให้รัฐบาลใหม่จัดทำภาษีสิ่งแวดล้อมให้เป็นระบบต่อไป เพราะภาษีคาร์บอนรถยนต์เป็นแค่จุดเริ่มต้นเล็กๆเท่านั้น” ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าว

ขณะที่ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ ฝ่ายการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) กล่าวว่า เห็นด้วยกับการปรับโครงสร้างภาษีดังกล่าว และถือเป็นแนวความคิดที่ดีอย่างยิ่งในการเก็บภาษีกับผู้ที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม แม้ว่าภาษีสิ่งแวดล้อมจะเป็นภาษีที่ไม่สามารถหารายได้ให้รัฐได้มากนัก แต่มีผลดีอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อม ถือเป็นการลงโทษผู้ที่ไม่คำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม เมื่อมีบทลงโทษ ก็ควรเพิ่มการให้รางวัล สำหรับผู้ที่ส่งเสริมและทำให้เกิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย เช่น การจัดทำกองทุนเพื่อสนับสนุนแก่ผู้ที่หาทางลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศมีความก้าวหน้าเรื่องการทำภาษีคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ คาร์บอนเครดิต เพื่อที่นำเงินจากประเทศที่ทำลายสิ่งแวดล้อมให้ประเทศที่รักษาสิ่งแวดล้อมได้

ด้านนายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ผู้อำนวยการอาวุโส สายตลาดอุตสาหกรรมและน้ำมันหล่อลื่น บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า เห็นด้วยในหลักการ เพราะทำให้โครงสร้างภาษีรถยนต์เป็นระบบมากขึ้น เพราะปัจจุบันการจัดเก็บภาษีรถยนต์มีหลายประเภทและหลายอัตรา การกำหนดโครงสร้างภาษีใหม่นี้ทำให้การจัดเก็บง่ายและได้ตามมาตรฐานมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังเป็นการช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพรถยนต์ให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ซึ่งถือว่าเป็นการดีต่อสิ่งแวดล้อม และยังกระตุ้นให้วงการอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยมีการตื่นตัวในการปรับปรุงประสิทธิภาพและเทคโนโลยีให้ได้ตามหลักสากลมากขึ้น เพราะทั่วโลกไปในทิศทางนั้นอยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น