เอเอฟพี - สายการบิน บริษัทเหมือง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในออสเตรเลีย ดาหน้าโจมตีมาตรการเก็บภาษีคาร์บอนของรัฐบาล วันนี้ (11) ขณะที่นายกรัฐมนตรี จูเลีย กิลลาร์ด ออกโรงป้องว่าช่วยลดปัญหาโลกร้อน
ผู้นำของภาคธุรกิจเตือนว่า การเก็บภาษีจากบริษัทที่ก่อมลพิษรายใหญ่ในออสเตรลีย 500 ราย ไม่เพียงเป็นการเพิ่มภาระภาษีหลายพันล้าน และบีบให้ลดกำลังผลิตและปลดแรงงานเท่านั้น แต่ยังไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์บนโลกได้อีกด้วย
ฝ่ายรัฐบาลก็ป้องมาตรการดังกล่าว ซึ่งจะคิดราคาภาษีคาร์บอน 23 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 750 บาท) ต่อตัน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2012 โดยอธิบายไว้ว่า วิธีการนี้เป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการยับยั้งปัญหาโลกร้อน และช่วยอนุรักษ์สมบัติทางธรรมชาติ เช่น เกรตแบร์ริเออร์รีฟ
นายกรัฐมนตรี จูเลีย กิลลาร์ด กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ประเด็นสำคัญ คือ ผู้ก่อมลพิษรายใหญ่จะต้องจ่ายภาษี คนพวกนี้ล้วนมีหัวการค้า เมื่อมีใบเสร็จเรียกเก็บค่าคาร์บอน พวกเขาจะพูดว่า ‘เราจะลดรายจ่ายนี้อย่างไร เราจะเปลี่ยนการผลิตอย่างไร ให้ก่อคาร์บอนน้อยลง?’ ”
วันนี้ ผู้นำภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ออกโรงวิพากษ์แผนการของจูเลีย กิลลาร์ด ทั้งๆ ที่ระหว่างหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว นายกรัฐมนตรีหญิงผู้นี้เคยระบุว่าจะไม่เสนอเก็บภาษีคาร์บอน
ด้าน อุตสาหกรรมเหมืองออกมาคัดค้านสุดตัว โดยเตือนว่าภาษีใหม่ฉบับนี้จะบังคับให้เหมืองต้องปิดตัวลง และผู้คนจำนวนมากจะตกงาน
ราล์ฟ ฮิลล์แมน กรรมการบริหารบริษัทออสเตรเลียน โคล แอสโซซิเอชัน กล่าวกับสถานีโทรทัศน์เอบีซี ว่า “คนในออสเตรเลียกำลังตกงาน เราประเมินว่ามีประมาณ 4,700 ตำแหน่งโดยตรง (จากการปิดเหมือง) แต่นั่นไม่ได้ช่วยลดคาร์บอนเลย”
เดวิด พีเวอร์ กรรมการผู้จัดการบริษัทริโอ ทินโต กล่าวถึงภาษีคาร์บอนว่า “เป็นภาษีที่ไม่เป็นธรรมสำหรับผู้ส่งออกในออสเตรเลีย” ซึ่งจะเสียเปรียบคู่แข่งในต่างประเทศ
ส่วน สภาอุตสาหกรรมเหมืองออสเตรเลีย แถลงว่า แผนการนี้เหมือนเอาไม้เบสบอลทุบตีเศรษฐกิจออสเตรเลีย โดยบริษัทเหมืองต้องชำระภาษีกว่า 25,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 800,000 ล้านบาท) ขณะที่ประเทศลดการปล่อยก๊าซได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ขณะเดียวกัน สายการบินออสเตรเลีย ทั้งแควนตัส และเวอร์จินบลู ประกาศว่า ภาษีมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ที่เพิ่มขึ้นมานี้ ผู้โดยสารจะเป็นฝ่ายแบกรับภาระทั้งหมด