xs
xsm
sm
md
lg

“เรยา” แรงเกิน! ผู้ปกครองร้อง วธ.ระงับฉาย “ดอกส้มสีทอง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ละครดอกส้มสีทอง
   
“ลัดดา ตั้งสุภาชัย” เผยผู้ปกครองแห่ร้อง “สายด่วนวัฒนธรรม 1765”  ระบุละครหลังข่าวเรื่อง “ดอกส้มสีทอง” มีเนื้อหาไม่เหมาะสมต่อเด็กและเยาวชน มีความรุนแรงมากตั้งแต่เริ่มฉายตอนแรก ชี้ “เรยา” ตัวละครเอก มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ไม่เคารพแม่ มากรัก แถมเลิฟซีนกระจาย ควรระงับการฉาย ด้าน รมว.วัฒนธรรม ประสาน รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขอให้ลดคำพูดไม่เหมาะสมละครดัง กลัวเป็นแบบอย่างไม่ดีให้เยาวชน

น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยได้รับรายงานจากสายด่วนวัฒนธรรม 1765 ว่า เมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้มีพ่อแม่ผู้ปกครองและประชาชนทั่วไปร้องเรียนมาที่สายด่วน 1765 เป็นจำนวนมาว่า ได้ชมละครหลังข่าวเรื่อง “ดอกส้มสีทอง” มีเนื้อหาไม่เหมาะสมต่อเด็กและเยาวชน มีความรุนแรงมากตั้งแต่เริ่มฉายตอนแรก มาจนถึงตอนที่ฉายไปเมื่อคืนวันที่ 27 เม.ย. ยิ่งเพิ่มความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จะทำอย่างไรที่ วธ.จะประสานงานให้ทางสถานีโทรทัศน์รับทราบ และพิจารณาในเรื่องของการนำเสนอ การแสดงออกของตัวแสดง หรือไม่นำเสนอเรื่องราวเหล่านี้มากเกินไป จะเป็นเรื่องที่ดีมาก หากเป็นไปได้ก็ไม่อยากให้เผยแพร่อีกต่อไปเพราะเด็กบางคนยังไม่ยอมนอนมานั่งดูกับพ่อแม่ แม้พ่อแม่จะบอกว่ามันเป็นละคร แต่เด็กก็ยังเห็นภาพพฤติกรรมของ “เรยา” ตัวละครเอกของเรื่องออกมากรี๊ดๆ ไม่เคารพแม่ กลัวลูกเลียนแบบพฤติกรรมก้าวร้าวกับพ่อแม่ และไม่อยากให้ลูกเห็นภาพบทความรักระหว่างผู้หญิงคนนี้ที่รักกับผู้ชายไปเรื่อยๆ ไม่อยากให้เด็กดู
ละครดอกส้มสีทอง
“วธ.คงทำอะไรไม่ได้ เพราะสถานีโทรทัศน์แต่ละช่องมี กบว.ดูแล และเขาได้ทำถูกต้องตามคือจัดเร็ต น.13+ เด็กและเยาวชนมีอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไปดูได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การแนะนำของผู้ปกครอง และออกอากาศหลังข่าว ทางผู้ผลิตได้ถ่ายทำเรื่องนี้ไปแล้ว แต่สิ่งที่ วธ.เป็นห่วงคือ การนำละครเรื่องดังกล่าวมาเผยแพร่ต่อทางอินเทอร์เน็ตที่เด็กสามารถเปิดดูเมื่อไหร่ก็ได้ หรือกลับมาฉายใหม่ในช่วงปิดเทอม โดยเฉพาะทางอินเทอร์เน็ตไม่รู้จะห้ามอย่างไร มีหลายๆ เว็บนำเรื่องนี้ไปฉาย ทำให้เด็กดูย้อนหลังได้ คิดว่า กสทช.ที่กำลังจะมีคณะกรรมการ 11 ท่าน มีในส่วนการดูแลโทรทัศน์ด้วย คงจะต้องออกมาดูกฏระเบียบต่างๆ ด้วย อยากจะเชิญชวนหน่วยที่เกี่ยวข้องช่วยดูแลด้วย โดยความคิดเห็นส่วนตัวการให้เรตละครเรื่องที่ น 13+ น่าจะเพิ่มขึ้นไปที่ น.18 + เพราะ น.13+ มานั่งดูในเรื่องชิงรักหักสวาท ฆาตรกรรมในอีกหลายเรื่อง ทำให้เด็กเลียนแบบได้ ซึ่งจากการสำรวจเรื่องการจัดทำเร็ตติงในส่วนภูมิภาคนั้นพบว่า คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจในเรื่องการจัดเร็ตติ้งว่าตัวหนังสือที่ขึ้นเตือนในละครหมายความว่าอะไร ซึ่งตนได้รายงานเรื่องนี้ต่อนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมแล้ว” น.ส.ลัดดากล่าว

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวถึงกรณีมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ละครดังที่กำลังออกอากาศขณะนี้มีเนื้อหาและพฤติกรรมการแสดงในลักษณะไม่เหมาะสม หมิ่นเหม่ต่อการทำลายสถาบันครอบครัว ว่า ตนไม่เคยดูละครเรื่องดังกล่าว แต่มีหลายคนมาเล่าให้ฟัง จึงได้เปิดเว็บไซต์เพื่อตรวจสอบด้วยตนเอง พบว่ามีการตั้งกระทู้ถึงละครเรื่องนี้หลายหัวข้อ และมีการแสดงความเห็นจำนวนมากว่าบทบาทของนักแสดงและคำพูดรุนแรงเกินไป ดังนั้น จะประสานรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลสื่อ ขอให้ลดบทไม่เหมาะสมและคำพูดที่รุนแรงเกินไป เพราะปัญหาอยู่ที่เป็นละคร การพูดและการแสดงซ้ำ ๆ จะเป็นการตอกย้ำให้เกิดการทำตาม โดยเฉพาะเด็กที่อาจจะซึมซับพฤติกรรมและคำพูดได้โดยไม่รู้ตัว แม้ตอนจบของละครอาจจะมีข้อสรุปที่ดี แต่เนื่องจากเวลานี้เนื้อหาของละครถึงร้อยละ 95 เน้นไปที่นักแสดงหญิงที่ต้องการอยากได้ใคร่มี โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง ศีลธรรมอันดีงาม ฉะนั้นก็ควรลดลงบ้าง

นอกจากนี้จะขอความร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์แต่ละช่อง โดยเฉพาะช่องที่มีละครเนื้อหาสุ่มเสี่ยงต่อพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่างๆ ให้ช่วยกันดูแล และควบคุมสาระเนื้อหาของละครไม่ให้มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมในด้านเพศ ภาษา และความรุนแรง เผยแพร่ออกสู่สาธารณชนเพื่อเป็นการร่วมกันปกป้องสังคมและเยาวชนของชาติร่วมกัน

ด้านเจ้าหน้าที่ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม วธ. เปิดเผยว่า มีประชาชนร้องเรียนมายังสายด่วนวัฒนธรรม 1765 จำนวนมาก เนื่องจากสาระของละครมีประเด็นสุ่มเสี่ยงในด้านเพศ ภาษาและความรุนแรงอยู่จำนวนมาก ซึ่งละครดังกล่าวอยู่ในการจัดเรตติ้งที่ น.13+ โดยเด็กและเยาวชนต้องรับชมภายใต้คำแนะนำของผู้ปกครอง แต่หลายสายเห็นว่าแม้จะอยู่ช่วงหลังข่าวภาคค่ำ แต่ความเหมาะสมของเนื้อหาละครยังถือว่าไม่เหมาะสม เพราะมีเนื้อหาและพฤติกรรมตัวละครที่สุ่มเสี่ยงต่อเรื่องเพศที่ไม่เหมาะสม ขัดต่อศีลธรรมและจริยธรรมอันดีของสังคม และทางสถานียังสามารถนำมาออกอากาศซ้ำในช่วงกลางวันได้อีกครั้ง ซึ่งอาจจะอยู่ช่วงเวลาปิดภาคเรียนที่เด็กเยาวชนสามารถรับชมได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการเลียนแบบพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่าง ๆ จากละครได้ และอาจเกิดเป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนได้ในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น