xs
xsm
sm
md
lg

“นิพิฏฐ์” ฉุน “ดอกส้มสีทอง” เมินตัดบทละคร ประชดเพิ่ม น.50+ก็แก้ปัญหาไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“นิพิฏฐ์” ฉุน “ดอกส้มสีทอง” ผู้จัดไม่สนปรับแก้บทละครไม่เหมาะสม แจง เรยา เรตติ้งดี แต่ปรับเรตติ้งจาก น.13+ เป็น น.18+ รมว.วธ.ว้าก ต่อให้เพิ่มเป็น น.50+ ก็แก้ไขปัญหาไม่ได้ เพราะเด็กยังนั่งดูหน้าจอ พร้อมเตรียมส่งเรื่องให้ “องอาจ คล้ามไพบูลย์”  จัดการ แนะ “พ่อ-แม่” ใกล้ชิด-ตั้งคำถาม สอดแทรกวิธีการสอนลูกให้รู้เท่าทันสื่อ
ละคร ดอกส้มสีทอง ที่แพร่ภาพทางช่อง 3
จากกรณีที่มีผู้ปกครองร้องเรียนผ่านสายด่วนวัฒนธรรม 1765 ขอให้ทบทวนการเผยแพร่เนื้อหาละคร “ดอกส้มสีทอง” เพราะมีตัวละคร เรยา มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม 2 ประการ คือ ก้าวร้าวต่อแม่ และมีสามีหลายคน อาจจะทำให้เด็กและเยาวชนเลียนแบบได้นั้น 
 
วันนี้ (29 เม.ย.) นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ตนได้พูดคุยกับผู้สร้างและผู้เขียนบทของละครเรื่องดังกล่าว เพื่อขอความร่วมมือให้มีการปรับ หรือตัดบทละครที่หลายฝ่ายมองว่าไม่เหมาะสมและรุนแรงเกินไป แต่จากการหารือทางผู้สร้างได้ชี้แจงว่าไม่สามารถทำได้ เพราะละครเรื่องนี้เรตติ้งดี และฉายมาได้เพียงแค่ครึ่งเรื่องเท่านั้น และมีคนอยากดูเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญ ละครก็ได้ถ่ายทำเสร็จแล้ว แต่ตนมองว่า ก็น่าจะปรับเปลี่ยนหรือตัดทอนคำที่ไม่เหมาะสมได้บ้าง เพราะต้องยอมรับว่า พฤติกรรมของตัวละครมีความรุนแรง เมื่อเด็กได้ดูก็จะจดจำและติดอยู่ในความรู้สึก ซึ่งในระยะยาวเด็กอาจจะนำพฤติกรรม หรือคำพูดของตัวละครมาแสดงออกได้

นายนิพิฏฐ์ กล่าวต่อว่า เมื่อทางผู้สร้างชี้แจงว่าไม่สามารถปรับเปลี่ยนบทละครได้ ตนก็จะทำหนังสือส่งไปยัง นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลด้านสื่อ เพื่อดูว่าจะสามารถดำเนินการเรื่องดังกล่าวได้อย่างไรบ้าง ส่วนที่ทางช่องดังกล่าว มีการปรับเรตติ้งจาก น.13+ เป็น น.18+ นั้น ส่วนตัวคิดว่า ไม่น่าจะมีผล ต่อให้ปรับเรตติ้งให้เป็น น.50+ ก็เชื่อว่า เด็กก็ยังคงดูอยู่ เพราะต้องยอมรับความเป็นจริงว่า คนไทยยังไม่เคร่งครัด และไม่ให้ความสำคัญกับการจัดเรตติ้งดังกล่าว

ด้าน
น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย
ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทางหน่อง - อรุโณชา ภาณุพันธุ์ ค่ายบรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น ก็ได้มีกิจกรรมให้ความร่วมมือกับทาง วธ.อย่างต่อเนื่อง เรื่องนี้จึงถือเป็นบทเรียนร่วมกัน เพราะประชาชนมีความหลากหลายทางความคิด แม้ว่าในวรรณกรรมจะแต่งมาแล้ว 11 ปีก็ตาม คิดว่า ในการนำเสนอระหว่างวรรณกรรมกับภาพมีมิติที่ต่างกัน เกือบทุกเรื่องที่ส่งผ่านทางสื่อจะแสดงให้เห็นการมีเพศสัมพันธ์หลายๆ ตอน ถือเป็นการตอกย้ำ

น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า การชมสื่อโทรทัศน์ หรือภาพยนตร์นั้น ผู้ปกครองและเด็กควรดูอยู่ด้วยกัน และควรถือเป็นช่วงเวลาที่ผู้ปกครองจะใช้โอกาสพูดคุยกับลูกเกี่ยวกับเนื้อหาละคร เกมโชว์ โฆษณา เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน โดยอาจใช้การตั้งคำถามเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ และสอดแทรกค่านิยมที่ดีให้กับลูก พูดคุยให้เข้าใจว่า หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ลูกจะทำอย่างไร หรือถามว่าลูกดูแล้วรู้สึกอย่างไร โดยไม่จำเป็นต้องสั่งสอนตลอดเวลา

“กระบวนการเรียนรู้เท่าทันสื่อเป็นสิ่งสำคัญมากในยุคปัจจุบัน เนื่องจากเราสามารถเสพความบันเทิงได้จากสื่อหลากหลายประเภทง่ายดายขึ้นตลอด 24 ชั่วโมง ดังนั้นต้องเตรียมความพร้อมให้เด็กรับมือกับสื่อต่างๆ ได้ เช่น นำเอาโฆษณาขนมหวานมาให้เด็กดูแล้วพูดคุยร่วมกันว่า ดูแล้วเชื่อหรือไม่ เชื่ออย่างไร ให้เห็นกระบวนการในการผลิตโฆษณาว่าเป็นอย่างไร ให้เด็กเห็นว่าสิ่งที่เห็นหน้าจอไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมด ทำให้เด็กคิดวิเคราะห์ และแยกแยะเป็น เพราะแม้ว่าละครเรื่องนี้จะจบไปก็จะมีละครเรื่องใหม่มาฉายแทน ซึ่งคนในสังคมควรรู้เท่าทันสื่อไปพร้อมๆ กัน” น.ส.ณัฐยา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น