xs
xsm
sm
md
lg

วธ.เร่งให้ความรู้จัดเรตติ้งหลังพบ ปชช.ไม่รับรู้ถึงความสำคัญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วธ.เร่งให้ความรู้เรื่องเรตติ้งโทรทัศน์แก่ประชาชน หลังพบว่าส่วนใหญ่ยังไม่รับรู้ถึงสารสำคัญของสัญลักษณ์ที่ปรากฏหน้าจอทีวี และจากกระแสละครดอกส้มสีทอง ที่มีการจัดเรตไม่เหมาะสมกับเนื้อหา พร้อมเตรียมเสนอทุกฝ่ายสร้างละครให้เกิดความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม

วันนี้ (3 พ.ค.)น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวถึงผลการสำรวจการรับรู้และทัศนคติที่มีต่อเนื้อหาที่นำเสนอในสื่อมวลชน กรณีศึกษา ในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา พ่อแม่ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป ทั่วประเทศ จำนวน 3.5 หมื่นคน ในปี 2554 พบว่า ประชาชนรับรู้การจัดระดับความเหมาะสมของสื่อ หรือ เรตติ้ง แต่ไม่รับรู้ถึงสาระของสัญลักษณ์ที่ปรากฏทางหน้าจอโทรทัศน์ ส่งผลให้สาระของสื่อโทรทัศน์มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ว่า ในเรื่องนี้ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้มอบหมายให้ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม เร่งประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนทั้งในส่วนเครื่องหมายสัญลักษณ์ และความหมายของแต่ละสัญลักษณ์ ซึ่งที่ผ่านมา วธ.ได้จัดทำคู่มือแจกจ่ายไปยังสถานีโทรทัศน์ทุกช่องแล้ว เพื่อเป็นบรรทัดฐานให้ กบว.ของสถานีโทรทัศน์แต่ละช่อง ใช้กำหนด เรตติ้งละคร และรายการโทรทัศน์ ขณะเดียวกัน ก็ได้ส่งต่อความรับผิดชอบ ในระบบการกำกับดูแลกันเองให้กับช่องต่างๆ แล้ว ดังนั้น ทางสถานีโทรทัศน์จำเป็นจะต้องให้ความรู้กับประชาชน และกำหนดเรตติ้งให้ตรงกับเนื้อหาละครด้วย
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
น.ส.ลัดดา กล่าวต่อว่า สำหรับรูปแบบการเรตติ้งทางโทรทัศน์ในประเทศไทย ได้จำแนกเนื้อหา ตามช่วงอายุ รวมถึงกำหนดช่วงเวลาการออกอากาศตามความเหมาะสมของแต่ละประเภท เพื่อปกป้องเด็กไม่ให้เข้าถึงสื่อที่ไม่เหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงวัย ประกอบด้วย สัญลักษณ์ “ป 3+” เป็นประเภทรายการสำหรับเด็กปฐมวัย ผลิตขึ้นสำหรับผู้ชมในวัย 3-5 ปี สัญลักษณ์ “ด 6+” ประเภทรายการสำหรับเด็กผลิตขึ้นสำหรับผู้ชมในวัย 6-12 ปี สัญลักษณ์ “ท ทุกวัย” หมายถึงประเภทรายการทั่วไป สามารถรับชมได้ทุกวัย สัญลักษณ์ “น 13+” หมายถึงเหมาะสำหรับผู้ชมที่มีอายุ 13 ปีขึ้นไป อาจมีภาพ เสียง หรือ เนื้อหาที่ต้องใช้วิจารณญาณในการชม ผู้ชมที่มีอายุน้อยกว่า 13 ปี ควรได้รับคำแนะนำ สัญลักษณ์ “น 18+” เหมาะสำหรับผู้ชมที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป อาจมีภาพ เสียง หรือ เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมด้านพฤติกรรมความรุนแรง เพศ และการใช้ภาษา ซึ่งต้องใช้วิจารณญาณในการรับชม ผู้ชมที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี ควรได้รับคำแนะนำ และสัญลักษณ์ “ฉ เฉพาะผู้ใหญ่” เป็นรายการเฉพาะผู้ใหญ่อาจมีภาพ เสียง หรือ เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมด้านพฤติกรรม ความรุนแรง เพศ และการใช้ภาษา เด็กและเยาวชนไม่ควรรับชม

“ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดให้แต่ละช่อง แสดงสัญลักษณ์ก่อนการนำเสนอรายการทุกระดับ และมีเสียงอธิบายสัญลักษณ์ รวมทั้งแสดงสัญลักษณ์ระหว่างรายการในทุกระดับที่มุมซ้ายด้านล่างของจอภาพ เป็นระยะ ตามความเหมาะสมด้วย” น.ส.ลัดดา กล่าว

ขณะที่นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ในการหารือร่วมกันกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายวันที่ 4 พ.ค.นี้ ตนได้มอบหมายให้ น.ส.จันทรสุดา รักษ์พลเมือง รองปลัด วธ.และ น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังฯ ไปร่วมประชุม ในฐานะที่ดูแลการจัดเรตติ้งสื่อมาตั้งแต่ต้น พร้อมทั้งจะเสนอให้ทุกฝ่ายร่วมกันปฏิบัติตามแนวทางการจัดเรตติ้งอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดเกิดขึ้นอีก รวมทั้งให้ทุกฝ่ายร่วมสร้างสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นหลัก
กำลังโหลดความคิดเห็น