xs
xsm
sm
md
lg

สวส.ฉลองสู่ปีที่ 25 มอบรางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยม ชุดตรวจโรคฉี่หนู “Lateral Flow”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สวส.ฉลองสู่ปีที่ 25 มอบรางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยม ชุดตรวจโรคฉี่หนู “Lateral Flow” วิสัยทัศน์องค์กรชั้นนำ ด้านห้องปฏิบัติการ

วันนี้ (21 เม.ย.) นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานวันคล้ายวันสถาปนา สถาปนาครบ 24 ปี สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข (สวส.) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ว่า กรมวิทย์เป็นหน่วยงานหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ทำหน้าที่วิเคราะห์วิจัยทางห้องปฏิบัติการด้านชันสูตรโรคติดเชื้อ และไม่ติดเชื้อการควบคุมพาหะนำโรค การใช้ประโยชน์จากสมุนไพร การคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารยา พิษวิทยา ชีววัตถุ และอันตรายจากรังสี แต่เนื่องจากที่ผ่านมาภารกิจของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ส่วนใหญ่ เน้นหนักด้านการตรวจวิเคราะห์และชันสูตร ดังนั้น ในปี พ.ศ.2524 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้จัดทำโครงการ “สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข” เพื่อเสริมสร้างด้านการวิจัยให้มีศักยภาพเข้มแข็งสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยในยุคโลกาภิวัตน์ โดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงสาธารณสุข และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นในการก่อสร้างอาคารสถานที่ อุปกรณ์วิจัยและความช่วยเหลือทางวิชาการในขณะที่รัฐบาลไทยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่นๆ

ปลัด สธ.กล่าวเพิ่มเติมว่า สวส.เป็นหน่วยงานในสังกัดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่เป็นหน่วยงานด้านวิชาการ และเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีทางห้องปฏิบัติการการแพทย์และสาธารณสุข และได้แสดงให้เห็นเด่นชัดเป็นที่ประจักษ์ ว่า มีองค์ความรู้ต่างๆ มากมายที่ถูกผลิตจากบุคลากรของสถาบันมาตลอด 24 ปี ซึ่งสามารถนำพาสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข สู่การเป็นองค์กรชั้นนำด้านห้องปฏิบัติการในภูมิภาคเอเชียตามทีได้ตั้งวิสัยทัศน์ไว้

นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในงานวันสถาปนานี้ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ฯ ได้จัดพิธีมอบโล่ และประกาศเกียรติคุณความเป็นเลิศด้านมาตรฐานห้องปฏิบัติการที่ให้บริการทดสอบความชำนาญ ให้แก่ ฝ่ายปฏิบัติการด้านเชื้อถ่ายทอดทางการให้เลือด และรางวัลผลงานวิจัยปี พ.ศ.2553 โดยรางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยม ได้แก่ การพัฒนา Lateral Flow สำหรับตรวจวินิจฉัยโรคเลปโตสไปโรซีส โดย นางนงลักษณ์ พุทธิรักษ์กุล และคณะ รางวัลผลงานวิจัยดีเด่น ได้แก่ ชีววิทยาและอัตราการติดเชื้อของยุงพาหะโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย โดย ดร.อุษาวดี ถาวระ และคณะ รางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ การประเมินชุดทดสอบเพื่อตรวจวินิจฉัยเชื้ออหิวาตกโรค โดย ดร.อารี ทัตติยพงศ์ และคณะ การพัฒนาเทคนิคการตรวจหา HLA B* 1502 ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรมในการแพ้ยาต้านชัก Carbamazepine โดย ดร.นวลจันทร์ วิจักษณ์จินดา และคณะ นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายความรู้วิชาการ เรื่อง การตรวจสารพันธุกรรม/การพิสูจน์ยีน/การทำนายโรค และการจัดทำแผนที่การเฝ้าระวังโรคระดับหลังคาเรือนด้วยโปรแกรมฟรีแวร์ด้านระบบภูมิสารสนเทศ ซึ่งเป็นการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากนักวิชาการที่เชี่ยวชาญให้แก่บุคลากรขององค์กร
กำลังโหลดความคิดเห็น