มติบอร์ด สปสช.ปรับเกณฑ์ให้ยาต้านไวรัส ผู้ป่วยเอชไอวี ต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เนื่องจากเกรงว่าจะส่งผลให้ผู้มารับยาเพิ่มขึ้นและเกิดการดื้อยาในที่สุด
วานนี้(18 เม.ย.) นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม คณะกรรมการ สปสช.มีการพิจารณากรณีที่คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการให้บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือ ผู้ป่วยเอดส์ เสนอให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีการทบทวนเรื่องเกณฑ์ในการขอรับยาต้านไวรัสของผู้ป่วยเอชไอวีใน ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือระบบรักษาฟรีเนื่องจากเกรงว่า การให้ยาตามข้อเสนอในประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยกรมควบคุมโรค (คร.) ที่ประกาศใช้ไปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2553 ตามข้อเสนอขององค์การอนามัยโลก(WHO) ซึ่งระบุว่า ให้ผู้ป่วยเอชไอวี หรือผู้ป่วยรับยาต้านไวรัสได้เมื่อระดับซีดีโฟว์ (CD 4) ต่ำกว่า 350 จากเดิมให้รับยาต้านไวรัสในระดับ CD 4 200 เนื่องจากเกรงว่าจะส่งผลให้ผู้มารับยาเพิ่มขึ้นและเกิดการดื้อยาในที่สุด
“ ที่ประชุมบอร์ด สปสช.พิจารณาแล้วว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่รับยา โดยมีระดับ CD4 100 พบถึงร้อยละ 80 ดังนั้น การจะปรับเปลี่ยนระดับ CD4 ต่ำกว่า 350 จึงควรมีรายละเอียด โดยที่ประชุมบอร์ด สปสช.มีมติในการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีที่ตามระดับ CD 4 ต่ำกว่า 350 แต่ต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ 4 ข้อ ได้แก่ 1.ผู้ป่วยที่มีภาวะตับอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี หรือ ซี 2.ผู้ป่วยมีอายุมากกว่า 50 ปี และป่วยเป็นโรคเบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง หรือภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ 3.มีภาวะแทรกซ้อนทางไตที่เกิดจากเชื้อ เอชไอวี และ 4.หญิงหลังคลอดที่มีค่า CD 4 ในขณะตั้งครรภ์ ต่ำกว่าหรือเท่ากับ 350” นพ.วินัย กล่าว