xs
xsm
sm
md
lg

คลอดเกณฑ์นำเข้าอาหารจากญี่ปุ่นต้องมีใบรับรอง พบผักปนเปื้อนอีก 2 รายการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
สธ.คลอดประกาศเกณฑ์การนำเข้าอาหารจากประเทศญี่ปุ่น โดยกำหนดให้อาหารนำเข้าจาก 12 จังหวัด ต้องแสดงหนังสือรับรองจากห้องปฏิบัติการถึงแหล่งกำเนิดของสินค้า ขณะที่เลขาฯ อย.เผยพบผักปนเปื้อนอีก 2 รายการ

นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า คณะกรรมการอาหาร เห็นชอบในการออกประกาศเกณฑ์การนำเข้าอาหารจากประเทศญี่ปุ่น ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 โดยจะเสนอต่อ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงนามและลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ทันวันจันทร์ที่ 11 เม.ย.นี้ โดยกำหนดให้อาหารที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น 12 จังหวัด คือ ฟูกูชิมะ กุนมะ อิบารากิ โตชิกิ มิยากิ ยามากาตะ นิอิกาตะ นากาโนะ ยามานาชิ ไซตามะ โตเกียว และ ชิบะ ต้องแสดงหนังสือรับรองจากห้องปฏิบัติการถึงแหล่งกำเนิดของสินค้าประเภท ผัก ผลไม้ ธัญพืช อาหารจากฟาร์ม โดยเกณฑ์มาตรการการปนเปื้อนคือ ค่าไอโอดีน 131 ไม่เกิน 100 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม ซีเซียม 134 และ 137 รวมกันไม่เกิน 500 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม

“สำหรับอาหารทะเล ขณะนี้ยังไม่ครอบคลุม แต่จะมีการสุ่มตรวจอย่างเข้มงวดเหมือนเดิม และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะมีอำนาจในการออกประกาศเพื่อควบคุมได้ทันที” นพ.พิพัฒน์ กล่าว

นพ.พิพัฒน์ กล่าวต่อว่า สำหรับการสุ่มตรวจอาหารที่นำเข้าจากญี่ปุ่นขณะนี้ จนถึงวันที่ 7 เม.ย.มีตัวอย่างส่งตรวจ 227 ตัวอย่าง ผลตรวจออกแล้ว 156 ตัวอย่าง พบว่า ค่าปกติ โดยในจำนวนดังกล่าวมีสินค้าประเภทปลามากที่สุด 130 ตัวอย่าง ทั้งนี้จากการสุ่มตรวจผู้นำอาหารเดินทางเข้าประเทศ ที่ด่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พบ การปนเปื้อน 2 รายการ คือ 1.ผักฮานาวาซาบิ 3 กิโลกรัม พบการปนเปื้อนไอโอดีน 131 ปริมาณ 33 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม ซีเซียม 134,137 ปริมาณ 12.9 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม 2.ผักมิซูบิ พบการปนเปื้อนไอโอดีน 131 ปริมาณ 83.3 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม ซีเซียม 134 ปริมาณ 44.6 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม และซีเซียม 137 ปริมาณ 51.1 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม จึงสั่งอายัดทั้งสองรายการ เพื่อทำลายต่อไป สำหรับการนำเข้าเพื่อการจำหน่ายและอุตสาหกรรม ขณะนี้ถือว่ามาตรการที่ใช้อยู่ดีแล้ว ดังนั้น การสั่งห้ามนำเข้า ขณะนี้ถือว่ายังไม่จำเป็น
กำลังโหลดความคิดเห็น