คุรุสภาถกเยียวยาปัญหาออกใบอนุญาตฯ พบบัณฑิตครูเทียบโอนเพียบ บางรายจบหลักสูตร 5 ปี นอกกติกา จบก่อนปี 2554 ชี้ ไม่เข้าหลักเกณฑ์
นายองค์กร อมรสิรินันท์ เลขาธิการคุรุสภา เปิดเผยว่า ตามที่มติคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย ประจำปี พ.ศ.2554 โดยกำหนดให้ผู้ที่จะสมัครสอบแข่งขันต้องนำใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูมาใช้สมัครเท่านั้น ว่า ในช่วงวันที่ 4-6 เม.ย.ที่ผ่านมา มีบัณฑิตครูที่จบการศึกษาในปีนี้ และครูเก่าที่ใบอนุญาตฯ หมดอายุ มายื่นขอใบอนุญาตฯ กว่า 1 แสนคน ทั้งนี้ คุรุสภา ยืนยันว่า จะออกใบอนุญาตฯ ให้ได้ทันก่อนหมดเขตสมัครสอบบรรจุครูในวันที่ 10 เม.ย.นี้ อย่างแน่นอน โดยขณะนี้สามารถออกใบอนุญาตฯ ได้ประมาณวันละ 10,000 คน
นายองค์กร กล่าวต่อว่า สำหรับบางกลุ่มที่คุรุสภายังไม่สามารถออกใบอนุญาตฯ นั้น เนื่องจากตรวจพบว่าแต่ละมหาวิทยาลัยไม่ได้ผลิตบัณฑิตตามมาตรฐานการผลิตที่ทางคุรุสภากำหนด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหลักสูตร 5 ปี ที่คุรุสภาได้รับรองหลักสูตรอยู่แล้ว แต่มหาวิทยาลัยไปจัดการเรียนการสอนต่างจากที่คุรุสภารับรอง เช่น หลักสูตร 5 ปี ซึ่งปีที่ 5 เด็กจะต้องไปปฏิบัติการสอนจริง แต่มหาวิทยาลัยใช้วิธีการเทียบโอนเข้าเรียนโดยการรับเด็กที่จบอนุปริญญามาเทียบโอนเข้าหลักสูตร 5 ปี ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะมีอยู่ประมาณเกือบ 1,000 คน โดยจะต้องมีการประชุมบอร์ด คุรุสภาเพื่อหาทางแก้ไขในวันที่ 7 เม.ย.นี้
“เราทราบว่ามีการสอนหลักสูตร 5 ปี นอกกฎกติกาเพราะบางคนจบตั้งแต่ปี 2551-2553 ซึ่งผู้ที่จะจบหลักสูตร 5 ปีที่ถูกต้องจะต้องเรียนตั้งแต่ปี 2549 และจะมาจบในปี 2554 ดังนั้น คนที่จบก่อนปี 2554 จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ แต่คุรุสภาก็จะหาวิธีเยียวยาให้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดในตอนนี้ คือ มาตรฐานการผลิตเพราะมหาวิทยาลัยไม่ได้ผลิตตามที่เสนอรับรอง อีกเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น คือ เด็กจบประกาศนียบัตรครูเทคนิคชั้นสูง (ปทส.) จากวิทยาลัยเทคนิคสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ประมาณ 11 คน ทางวิทยาลัยได้จัดหลักสูตร 5 ปี ให้พวกเขาเรียน ซึ่งจะขึ้นทะเบียนขอใบอนุญาตฯ ไม่ได้เลย เพราะคุรุสภาไม่ได้รับรองหลักสูตร ปทส.จึงไม่รู้ว่าจะเยียวยาเด็กกลุ่มนี้ได้อย่างไร” เลขาธิการคุรุสภา กล่าว