"กรมศิลป์" อัญเชิญพระพุทธรูปหยกฝีมือช่างฟาแบร์เช่ ช่างฝีมือที่ผลิตผลงานถวายราชวงศ์ไทยตั้งแต่สมัยร.5และเทวดานพเคราะห์ 9 องค์ตามแบบของเจ้าฟ้าอิศราพงศ์ใช้ในการพระราชพิธีหลวง เพื่อให้ประชาชนสรงน้ำสักการะ เสริมสิริมงคลเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ปีใหม่ไทย 13-15 เม.ย.นี้ ที่พิพิธภัณฑ์ พระนคร
วันนี้( 1 เม.ย.) ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) เป็นประธานเปิดงาน “100 ปีกรมศิลปากร ขอพรพระคเณศ” พร้อมเปิด นิทรรศการพิเศษ “พระคเณศ เทพแห่งศิลปากร”
นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี 2554 กรมศิลปากรได้อัญเชิญพระคเณศ จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 11 แห่ง จำนวน 32 รายการ มาจัดแสดงรวมกัน ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกของประเทศ ให้ประชาชนสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต โดยจะเปิดให้เข้าชมและสักการะได้ ตั้งแต่วันที่ 2-24 เม.ย. นี้ และทุกวันอาทิตย์จะเปิดให้ประชาชน นำเครื่องสักการะประเภทข้าวตอกดอกไม้มาขอพรเป็นกรณีพิเศษด้วย
ขณะที่นายอเนก สีหามาตย์ รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า นอกเหนือจากการจัดแสดงพระคเณศแล้ว กรมศิลปากรยังได้จัดกิจกรรม เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ เพื่อสืบทอดประเพณี และธรรมเนียมปฏิบัติของคนไทยที่สืบทอดมาอย่างช้านาน โดยได้กำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 10-17 เมษายน ซึ่งจะเปิดให้ประชาชนเข้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เพื่อเข้าชมนิทรรศการพิเศษ และไหว้พระ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ตั้งแต่วันที่ 13-15 เมษายนนี้ โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม
นายอเนก กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังได้จัดกิจกรรมพิเศษ โดยการอัญเชิญพระพุทธรูปหยกฝีมือช่างฟาแบร์เช่ ซึ่งเป็นช่างฝีมือชั้นสูงที่ผลิตผลงานถวายราชวงศ์ไทยตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และการสรงน้ำพระเคราะห์ 9 พระองค์ ตามแบบของเจ้าฟ้าอิศราพงศ์ ใช้ในการพระราชพิธีหลวง ประกอบด้วยพระอาทิตย์ทรงราชสีห์ พระจันทร์ทรงม้า พระอังคารทรงมหิงสา พระพุธทรงคชสาร พระพฤหัสบดีทรงกวาง พระศุกร์ทรงโค พระเสาร์ทรงพยัคฆ์ พระราหูทรงพญาครุฑ และ พระเกตุทรงนาค เพื่อเปิดให้ประชาชนเข้าสรงน้ำ ณ ศาลาสำราญมุขมาตย์ ภายในพิพิธภัณสถานแห่งชาติพระนคร พร้อมชมนิทรรศการเรื่อง ศกสงกรานต์ และประวัติพระพุทธรูปฟาแบร์เช่ และพระเคราะห์ ด้วย ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายนนี้
รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวอีกว่า สำหรับประติมากรรมรูปเทวดานพเคราะห์ เป็นศิลปะรัตนโกสินทร์ ประมาณรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หล่อขึ้นตามแบบเทวดานพเคราะห์ของเจ้าฟ้าอิศราพงศ์ ดังปรากฏภาพในสมุดไทย หมวดตำราภาพเล่มที่ 70 สำนักหอสมุดแห่งชาติ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับภาพจิตรกรรมเทวดานพเคราะห์บนบานประตูหน้าต่างด้านใน ของพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า) สำหรับความพิเศษของประติมากรรมชุดนี้ คือ การถ่ายทอดรูปแบบของเทวดานพเคราะห์ที่เคยเห็นปรากฏอยู่ในภาพวาด ให้ออกมาเป็นประติมากรรมแบบลอยตัว แสดงท่าทาง เอกลักษณ์ของเทวดานพเคราะห์ได้อย่างสมจริงและมีชีวิตชีวา ยังคงรักษาเอกลักษณ์ และเอกลักษณะของเทพแต่ละองค์ไว้ได้ย่างสมบูรณ์
ด้านพระราชครูวามเทพมุนี หัวหน้าพราหมณ์เทวสถาน โบสถ์พราหมณ์ กล่าวว่า การบูชาเทพยาดานพเคราะห์ ถือเป็นเครื่องหมายของความเป็นสิริมงคล ถือเป็นการแสดงความกตัญญูต่อเทพยดาประจำวันเกิด ซึ่งถือเป็นผู้มีมหิทธิฤทธิ์อำนาจช่วยเหลือป้องกันและปลดเปลื้องทุกข์ภัยพิบัติทั้งปวง ซึ่งนิยมทำกันเป็นรอบๆ ละ 12 ปี เพื่อขอพรเทพยดาดาวพระเคราะห์ ซึ่งสถิตในดวงชะตาให้มาช่วยปัดเป่าทุกข์ภัย บันดาลให้เกิดสวัสดิมงคลในการดำเนินชีวิต ซึ่งการจัดพิธีสรงน้ำพระเคราะห์ในเทศกาลสงกรานต์นั้น ประชาชนจะได้ร่วมกันสร้างบุญกุศลให้กับตนเองและร่วมกันขอพรให้ประเทศชาติสงบสุข และยังถือเป็นการสืบสานวัฒนธรรมโบราณให้คงอยู่ต่อไปด้วย