xs
xsm
sm
md
lg

สบส.หารือหวังปรับชื่อสปาปลา เป็น “ฟิชทรีทเมนท์-ฟิชเทอราปี” เลี่ยงอวดเกินจริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
สบส.เรียกผู้ประกอบการ พิจารณาร่างมาตรฐาน “แนวทางการบริการผ่อนคลายด้วยปลา” หวังปรับชื่อ จาก สปาปลา เป็น ฟิชทรีทเมนท์-ฟิชเทอราปี เลี่ยงการโอ้อวดเกินจริง ผู้ประกอบการวอน โต้ ฟิชสปา ใช้ทั่วโลก วอนภาครัฐมีใบรับรองชั่วคราว ระหว่างรอแก้ร่างมาตรฐานบริการ

วันนี้ (23 มี.ค.)นพ.ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมธุรกิจบริการสุขภาพ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวในการประชุมโครงการจัดทำแนวทางการบริการผ่อนคลายด้วยปลา ซึ่งเป็นการหารือร่วมระหว่าง สบส.และตัวแทนจากกรมอนามัย กรมควบคุมโรค (คร.) สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย และผู้ประกอบการเพื่อทบทวนข้อมูล สำหรับจัดทำแนวทางการบริการการผ่อนคลายด้วยปลา ที่โรงแรมมารวยการ์เด้น กทม.ว่า ในการหารือวันนี้เป็นการระดมความคิดเห็นเพื่อออกมาเป็นมาตรฐานบริการดังกล่าว เบื้องต้นมีข้อกำหนด 7 ด้าน ได้แก่ 1.สถานที่ 2.ชื่อ 3.ปลาที่ให้บริการ 4.การบริการ 5.อุปกรณ์เครื่องมือและผลิตภัณฑ์ 6.ด้านสุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อม และ 7.การเฝ้าระวังการติดเชื้อ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจในการเข้ารับบริการมากขึ้น

นพ.ภัทรพล กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ มาตรฐานดังกล่าวคงยังไม่สามารถใช้ควบคุมได้ในเร็ววัน เนื่องจากการหารือในวันนี้ผู้ประกอบการยังคงมีความเห็นต่างในเรื่องของชื่อบริการ ซึ่งที่ประชุมตกลงกันว่าจะมีการเสนอ 2 ชื่อ คือ ฟิช ทรีทเมนท์ (Fish Treatment) และฟิชเทอราปี (fish therapy) เพื่อพิจารณาร่วมกันอีกครั้งในราว 1 เดือนข้างหน้า เหตุผลที่ต้องเปลี่ยนชื่อจากการใช้ สปาปลา หรือ ฟิชสปา (fish Spa) นั้น มาเป็นชื่ออื่นเพราะชื่อเก่านั้นเป็นเหมือนการโอ้อวดเกินจริง

นายสมศักดิ์ ศิริวนารังสรรค์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ สำนักอนามัยและสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย กล่าวว่า ในการบริการต้องมีระบบการฆ่าเชื้อด้วยแสงอัลตราไวโอเลต หรือ ยูวี มีระบบตัวกรองน้ำชนิดละเอียดมีประสิทธิภาพในการกรองตะกอนต่างๆ ที่เกิดจากการขับถ่าย หรือคราบไคลของผู้ใช้บริการ น้ำจะต้องมีความใส ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ผ้าที่ใช้เช็ดทำความสะอาดเท้าของผู้รับบริการ ต้องผ่านการซักทำความสะอาดฆ่าเชื้ออย่างถูกต้องตามมาตรฐาน สถานที่ต้องไม่แออัด อากาศถ่ายเทสะดวก และมีการกำจัดขยะจากบริการแบบแยกประเภท เช่น ผ้าพันแผล สำลีเช็ดแผล ขี้ปลา เป็นขยะติดเชื้อก็ควรแยกทิ้งอย่างปลอดภัย

ผศ.พญ.สุวิรากร ภาสวงศ์ ประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่ประชาชนเข้าใจ ว่า การที่เอาเท้า หรืออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งไปแช่ลงในอ่างปลา หรือที่หลายคนเรียกว่า สปาปลา นั้น สามารถบำบัดโรคสะเก็ดเงินและโรคภูมิแพ้ทางผิวหนังได้นั้น ยังไม่มีรายงานทางวิชาการที่ให้การรับรองว่าสามารถช่วยรักษาโรคได้จริง ดังนั้น เห็นว่า สิ่งแรกที่ผู้บริโภคควรทำ คือ ประเมินสภาพร่างกายของตนเองก่อนดีกว่า ว่าป่วยเป็นโรคที่สามารถติดต่อผู้อื่นได้หรือไม่ เช่น เล็บอักเสบ ผิวหนังอักเสบ วัณโรคเทียม ไฟลามทุ่ง ฝีฝักบัว ก็ไม่ควรจะใช้บริการ ขณะที่ผู้ประกอบการเองก็ควรคัดกรองลูกค้าด้วย

ด้าน นายชัยพร โลจายะ ผู้ประกอบการสปาปลาร้านบางกอก ดอกเตอร์ฟิชสปา 99 กล่าวว่า ในร่างมาตรฐานเกี่ยวกับการบริการผ่อนคลายสุขภาพด้วยปลาที่ทางตัวแทนหน่วยงานต่างๆ หารือร่วมกับ สบส.ได้ออกมานั้น เชื่อว่า เป็นมาตรฐานสากลที่ผู้ประกอบการเข้าใจดีและสามารถปฏิบัติได้ตามหลักการไม่ต่ำกว่า 80% ของหลักการทั้งหมดและเห็นด้วยกับหลักการส่วนใหญ่ของร่าง แต่อย่างไรก็ตาม อยากให้มีการปรับรายละเอียดในด้านสุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดว่ามาตรฐานระบบกรองน้ำในอ่างปลานั้นอาจไม่ต้องเปลี่ยนวัสดุกรองทุกวัน แต่ขอให้ใช้วัสดุที่มีประสิทธิภาพก็พอ

นายกรนัน นวลเพ็ญ ผู้ประกอบการร้าน ฟิชแอคชวลลี (Fish Actually) สาขาหัวหิน จ.ประจวบคีริขันธ์ กล่าวว่า เกี่ยวกับมาตรฐานการควบคุมนั้นตนไม่มีข้อโต้แย้งอื่นใดนอกจากเรื่องชื่อ อยากให้ สบส.ใช้ชื่อเดิม คือ ฟิชสปา (Fish Spa) เนื่องจากเป็นที่รู้จักในระดับสากล และระหว่างที่กำลังหาข้อสรุปที่ลงตัวเรื่องเกณฑ์มาตรฐานบริการผ่อนคลายด้วยปลา นั้น อยากให้ทางหน่วยงานมีการออกใบรับรองชั่วคราวหรือเอกสารอะไรก็ได้ที่สามารถยืนยันได้ว่า บริการของแต่ละร้านนั้นมีมาตรฐานหรือไม่ โดยทางหน่วยงานอาจจะเข้ามาตรวจสอบความปลอดภัยทุกอย่างกี่ครั้งก็ได้ เพราะที่ผ่านมาหลังจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศเตือนภัยด้านการติดเชื้อโรคจากการเข้าใช้บริการสปาปลานั้น ตนได้รับผลกระทบอย่างมาก ในส่วนของลูกค้าชาวต่างชาตินั้นอาจไม่มีผลแต่ลูกค้าคนไทยนั้นเชื่อสื่อมาก ดังนั้น หลายคนก็กังวลไม่กล้าเข้าใช้บริการ จากเดิมเคยมีลูกค้าราว 100 คนต่อวัน ในจำนวนนี้มีคนไทย ราว 50-60 คน พอมีแกระแสข่าวเรื่องอันตรายจากสปาปลา ลูกค้าคนไทยก็หายไปกว่า 60% ส่วนนี้อยากให้ภาครัฐเข้าใจมากที่สุด

“ถ้าไม่มีใบรับรองให้ ก็ควรมีเอกสารที่แสดงความชัดเจนว่าผู้ประกอบการคนใดบ้างที่ได้เข้าอบรม หรือเสวนาเกี่ยวกับมาตรฐานการบริการสปาปลา กับกระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานอื่นของรัฐบาลบ้าง อย่างน้อยผู้บริโภคก็จะได้มั่นใจมากขึ้นและไม่ระแวงต่อบริการขณะที่ร้านค้าอื่นซึ่งตกมาตรฐานก็จะได้หมดไป” นายกรนัน กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น