บรรดาพ่อแม่ยุคใหม่ไม่น้อย ที่โล่งอกโล่งใจยามลูกน้อยลืมตาดูโลกแล้วพบว่ามีวัคซีนนานาชนิดที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อฉีดป้องกันลูกน้อยอันเป็นที่รักให้อยู่ห่างไกลจากโรคร้ายต่างๆ แต่ที่หลายคนยังไม่ทราบและถือเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งก็คือ แม้ปัจจุบันการแพทย์และสาธารณสุขจะก้าวหน้าไปมาก แต่สำหรับบางประเทศที่ยากจนนั้นก็ยากที่จะเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก(WHO)ระบุว่า ประเทศที่กำลังพัฒนามีเด็กกว่า 2 ล้านรายเสียชีวิตจากโรคที่มีวัคซีนป้องกันได้ เหตุเพราะเผชิญปัญหาการเข้าถึงยาและวัคซีน
ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ให้ภาพอุปสรรคความยากลำบากในการเข้าถึงวัคซีนว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจาก 4 ปัจจัยหรือคือ ปัญหาด้านราคายาและวัคซีนที่แพงเกินกำลังซื้อ ,ปัจจัยปัญหายากำพร้าหรือวัคซีนกำพร้าซึ่งเป็นยาและวัคซีนจำเป็นแต่ไม่มีผู้ผลิตและนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศ หรือยังไม่สามารถกระจายได้อย่างทั่วถึง , ปัญหาการใช้ยาและวัคซีนอย่างไม่สมเหตุผลและไม่ปลอดภัย และประการสุดท้ายคือปัจจัยปัญหาคุณภาพยาและวัคซีนโดยมียาและวัคซีนด้อยคุณภาพหรือยาและวัคซีนปลอมอยู่ในตลาด
ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าราคาที่เหมาะสมสำหรับยาและวัคซีนเพื่อการเข้าถึงยาและวัคซีนนั้นอยู่ที่นโยบายของรัฐบาล เพราะราคายาและวัคซีนหากคิดในระดับบุคคลจะมีราคาสูงแต่หากคิดในระดับชาติมีการใช้จำนวนมากๆ ราคาก็จะถูกลง ซึ่งหากภาครัฐมองที่การป้องกันดีกว่าการรักษาและออกมาเป็นนโยบาย ราคาก็จะถูกลง เช่น วัคซีนหัด ในสมัยก่อนราคา 100-200 บาทต่อเข็ม เมื่อประกาศเป็นนโยบายระดับชาติ ราคาก็ลดลงเหลือแค่ 2.50 บาท วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ระยะแรกราคาขายปลีกเข็มละประมาณหนึ่งพันบาท แต่เมื่อรัฐบาลซื้อให้แก่เด็กทุกคนเหลือเข็มละสามสิบบาท เมื่อเป็นนโยบายระดับชาติค่าการตลาดก็จะลดลงหรือหมดไปทำให้ราคาถูกลงอีก ถ้ารัฐมีเงินยังไม่พอ อย่างน้อยก็ให้วัคซีนแก่เด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยงก่อนแล้วค่อยขยายจำนวนเพิ่มขึ้น
“ช่วงที่ผ่านมาเรามัวแต่ไปรักษาแต่ไม่มองที่การป้องกัน อย่างวัคซีนบางตัว ก็เคยเสนอภาครัฐ แต่เขาบอกว่าไม่เคยมีใครเสนอเลย พวกเราก็ได้แนะนำผู้ที่เกี่ยวข้องไปว่าโรคพวกนี้ในประเทศที่พัฒนาแล้วเขาจะป้องกันมากกว่ารักษา ภาครัฐเองต้องมาดูว่าโรคอะไรป้องกันได้ไม่ใช่มองว่าแพง จนงบประมาณการป้องกันโรคจากอดีตที่ตั้งไว้ราว 20 เปอร์เซ็นต์ ของงบประมาณลดลงเหลือไม่ถึง10 เปอร์เซ็นเพราะไปมุ่งเน้นที่การรักษา” ศ.นพ.สมศักดิ์ ย้อนความ
ในขณะที่ ศ.พญ.อุษา ทิสยากร นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย เลขาธิการสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งเอเซียและกรรมการบริหารสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งโลก อธิบายว่าการเข้าถึงยาและวัคซีนตลอดจนราคายาและวัคซีนที่เหมาะสมเพื่อการเข้าถึงยาและวัคซีนของประชาชนส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของภาครัฐซึ่งเห็นว่าควรผ่านการศึกษาถึงความคุ้มค่าโดยรอบด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องคำนึงถึงความสำคัญของการป้องกันโรคมากกว่าการตั้งรับในการรักษาตลอดจนผลดีต่อสุขภาพของประชาชนในระยะยาว
“ในระดับโลก ทางองค์การอนามัยโลกมีสัญญาณออกมาแล้วว่าการใช้วัคซีนป้องกันโรคดีกว่าการรักษา สมาคมกุมารแพทย์ทั่วโลกก็ได้ลงสัตยาบันไว้กับองค์การสหประชาชาติแล้วว่า ภายในปีค.ศ.2015 ต้องลดการตายของเด็กทั่วโลกลง 2 ใน 3 ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้ทันทีจากการให้วัคซีนป้องกันโรคซึ่งมีพัฒนาการไปจากในอดีตเป็นอย่างมากเนื่องจากทุกฝ่ายเห็นตรงกันถึงความสำคัญของการป้องกันโรคมากกว่าการตั้งรับในการรักษาแต่จากการตรวจสอบผลการปฏิบัติการของประเทศต่างๆเมื่อปีค.ศ. 2008 ก็พบว่ายังห่างไกลเป้าหมายเป็นอย่างมากเราก็ได้แต่หวังกันว่าอีก 3-4 ปีจากนี้น่าจะมีปฏิบัติการที่เข้มแข็งขึ้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว”ศ.พญ.อุษาสรุป