xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตยุโรปที่ยังไม่ฟื้นหรือโอกาสลงทุน..?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย เขมรัฐ เทพบุรี
world_sriariya@hotmail.com

"จงมองไปข้างหน้า เพื่อก่อความหวัง   จงมองไปข้างหลัง เพื่อแก้ความผิด
ถ้าไม่มีความหวัง ก็เหมือนคนสิ้นคิด     ถ้าไม่มีความผิด ก็เหมือนไม่ใช่คน"

                                                                           นโปเลียน โบนาปาร์ต

ปัญหาทางการเงินในยุโรปยังเป็นที่จับตามองจากทั่วโลก ถึงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ หนี้สาธารณะที่สูงและการว่างงาน ซึ่งเราได้เห็นการปรับลดอันดับความน่าเชื่อพันธบัตรรัฐบาล ของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ซึ่งล่าสุดประเทศสเปนถูดลดอับดับความน่าเชื่อถือลดลง 1 อันดับมาอยู่ที่ระดับ Aa2

ครับ.. แน่นอนว่าการลดเครดิตลงมาอย่างนี้ก็เนื่องมาจาก สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วและไม่มีท่าทีว่าจะลดลงเลย แม้ว่าทางรัฐบาลสเปนจะพยายามลดค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆรวมทั้งเก็บภาษีมากขึ้น เรียกว่ารัดเข็มขัดเต็มที่แล้วก็ตามแต่หนี้ก็ยังคงเพิ่มขึ้นมาอยู่ .... ทางมูดี้ส์ยังคาดว่า หนี้สาธารณะหรือต้นทุนในการปรับโครงสร้างธนาคารออมทรัพย์ทั้งหมดที่อัดฉีดเข้าไปช่วยเหลือนั้นจะสูงกว่าที่รัฐบาลสเปนคาดการณ์เอาไว้ซึ่งอยู่ที่ 2 หมื่นล้านยูโร (2.78 หมื่นล้านดอลลาร์) หรือน้อยกว่า 2% ของจีดีพีประเทศ แต่ทาง มูดี้ส์มองว่าน่าจะอยู่ที่ 4-5 หมื่นล้านยูโร และอาจพุ่งไปถึง 1-1.2 แสนล้านยูโรได้...!!

เช่นเดียวกับทางด้าน ประเทศ กรีซ ที่เพิ่งโดนหั่นเครดิตลง 3 ระดับจาก Ba1 เป็น B1 เนื่องมาจาก ภาวะการคลังที่ไม่สามารถจัดเก็บรายได้ให้เป็นไปตามเป้าและความยากลำบากในการปฏิรูประบบดูแลสุขภาพตลอดจนรัฐวิสาหกิจ ทำให้เกิดความเสี่ยงที่สูง ต่อเนื่องด้วย การหั่นเครดิต เรตติ้งของธนาคาพาณิชย์กรีซอีก 6 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเนชั่นแนล แบงก์ ออฟ กรีซ, ยูโรแบงก์, อัลฟาแบงก์ และพิเรอุส แบงก์ หั่นลงสู่ระดับ Ba1 จากเดิม Ba3 และปรับลดอันดับของอะกริคัลเจอร์รัล แบงก์ ออฟ กรีซ และแอตติกา แบงก์ ลงสู่ระดับ B1 จากระดับ Ba2 .....

วิกฤตหนี้สาธารณะของอีกหลายประเทศในยุโรป อย่างโปรตุเกส ไอร์แลนด์ อิตาลี กรีซ และเบลเยียม ที่ระเบิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2553 ก็ได้มีการแก้ไขกันอย่างต่อเนื่องด้วยมาตรการต่างๆ ที่จำเป็นและเร่งด่วนเพื่อช่วยกันพยุงเศรษฐกิจของทั้งภูมิให้ฟื้นกลับขึ้นมา แต่เวลาที่ผ่านไปจนล่วงเข้าสู่ปีกระต่ายนี้ ดูเหมือนว่าปัญหายังคงมีอยู่และไม่ได้ดีขึ้นมากนัก เห็นได้ชัดจากการปรับลดเครดิตดังกล่าวนี้ .....

"คำถามก็คือ มาตรการช่วยเหลือที่ดำเนินการกันอยู่นั้นเพียงหรือยังและจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นมาอีก..?? "

ประเทศที่ประสบวิกฤตหนี้สาธารณะไม่เพียงแต่จะใช้เวลาแก้ปัญหาภายในประเทศของตนเอง ทั้งการว่างงานการลดค่าใช้จ่ายๆ ต่างๆ แต่สิ่งที่กำลังตามมาในตอนนี้ก็คือ "เงินเฟ้อ" ที่กำลังเพิ่มขึ้นจนหลายประเทศในเอเชียและประเทศเกิดใหม่ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ล่าสุด ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไป เพื่อแก้ปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง เพราะว่าประเทศที่ใช้เงินยูโรร่วมกันมีความเสี่ยงสูงต่อภาวะเงินเฟ้อ จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งทาง ECB ได้ปรับประมาณการณ์ด้วยว่าอัตราเงินเฟ้อปีนี้เพิ่มขึ้น 0.5% เป็น 2.3% ส่วนปีหน้าปรับเพิ่มเป็น 2.2% จากเดิม 1.5% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเป้าหมายของทาง ECB คือ ต้องการให้เงินเฟ้อไม่เกิน 2%

การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ ECB จะมีผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจยุโรป จริงอยู่ที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจึงต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยให้สอดคล้องกัน แต่ประเด็นสำคัญคือ ประเทศประสบปัญหาทางการเงินในระดับรุนแรงที่แตกต่างกัน นี่จึงเป็นที่น่าจับตามองว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบต่อในหลายประเทศอย่างไร เพราะประเทศเศรษฐกิจใหญ่อย่าง เยอรมนี ฝรั่งเศส ไม่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงเท่ากับโปรตุเกส กรีซ สเปน ซึ่งกำลังพยายามอย่างหนักในการรัดเข็มขัดตนเอง จากการมีหนี้สาธารณะที่สูง ปัญหาการว่างงานและที่ตามมาอีกแล้วนั่นคือ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นส่งผลต่อกำลังซื้อของประชาชนในประเทศ....

นี่กำลังแสดงให้เห็นถึงปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจยุโรปที่กำลังมีปัญหาใช่หรือไม่..? เสถียรถาพทางการเงินของสถาบันการเงินต่างๆ ตอนนี้ เป็นอย่างไรบ้าง... ช่วงต้นปี 2554 เรายังเห็นปัญหาอยู่และตลอดทั้งปีนี้ จะดีขึ้นในระดับใดจะและดีขึ้นทั้งยูโรโซนหรือไม่...

เสียงจากผู้บริหารกองทุนรวม ชัยเกษม วัฒนศิริพงศ์ หัวหน้าฝ่ายจัดจำหน่ายกองทุน จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อเบอร์ดีน (ไทย) จำกัด บอกว่า หาก ECB มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจริง ก็ถือเป็นสัญณาณที่ดีในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ในขณะเดียวกันต้นทุนในการบริหารการจัดการของรัฐบาลประเทศก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และนั่นอาจมีปัญหากับรัฐบาลของบางประเทศกำลังใช้มาตรการทางการคลังอย่างระมัดระวังอยู่ เพราะประเทศในกลุ่มยูโรโซนควบคุมด้วยมาตรการจากทางธนาคารกลางยุโรป เพียงแห่งเดียว แต่ความรุนแรงของปัญหานั้นกลับมีความไม่เท่ากันในแต่ละประเทศ ซึ่งก็เป็นปัญหาที่ค่อนข้างยากในการบริหารจัดการ ขณะที่บรรดานักวิเคราะห์ต่างมองการขึ้นดอกเบี้ยของทาง ECB ว่ายังไม่มีความแน่นอนว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ย ดังนั้นจึงคาดการณ์ได้ข้างยากในช่วงนี้

แต่ดูเหมือนว่าในความเสี่ยงจากเศรษฐกิจของยุโรปในช่วงปีที่ผ่านมา กลับมีความน่าสนใจเกิดขึ้นในส่วนของการลงทุน หลังจากเปิดมาในปีกระต่ายนั้น ตลาดหุ้นของยุโรป และสหรัฐฯ กลับมีเงินลงทุนกลับเข้าไปลงทุนกันแล้ว เป็นเพราะสัญญาณทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นมา แม้จะยังคงมีปัญหาอยู่ก็ตาม ดังนั้นในเรื่องของการลงทุนในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯและยุโรป จึงกลับมาพูดถึงกันในปีกระต่ายนี้ โดยเฉพาะประเทศที่ได้รับผลกระทบน้อยอย่างเยอรมัน ที่เป็นเศรษฐกิจหลักของยุโรปในช่วงระยะนี้

อย่างไรก็ตามการลงทุนในยุโรปก็ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อยู่อย่างใกล้ชิดว่าจะมีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้แย่ลงไปอีก ที่แน่นอนปัจัยหนึ่งก็คือ การประท้วงในตะวันออกกกลางและแอฟริกาในขณะนี้ ที่ส่งผลไปถึงราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นมา เรื่องนี้จึงเป็นที่จับตามมองว่าการประท้วงจะจบลงในเร็ววันหรือไม่ หากยืดยาวออกไปก็คงเป็นสถานการณ์ที่ไม่ดีต่อเศรษฐกิจโลกและยุโรปอย่างแน่นอน

ผู้บริหารของ บลจ.อเบอร์ดีน ยังบอกว่า เศรษฐกิจที่อยู่ในทิศทางที่ไม่ได้นั้น บางช่วงตลาดหุ้นอาจจะวิ่งสวนทางขึ้นมาได้ ไม่ได้เป็นไปตามเศรษฐกิจเสมอไป เห็นได้จากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวขึ้น ขณะเดียวกันทางด้านกองทุนที่ลงทุนอยู่ในยุโรป อย่าง กองทุนเปิด อเบอร์ดีน ยูโรเปี้ยน โกรท ฟันด์ ผลการดำเนินงานปรับตัวขึ้นมากว่า 6% นั่นเป็นเพราะราคาหุ้นที่ยังไม่สูงในช่วงก่อนหน้าบวกกับสัญญาณเศรษฐกิจที่ดี

แต่ยังครับ..! เศรษฐกิขของยุโรปยังอาจมีปัญหาออกมาให้เห็นอีกได้เพราะหลายประเทศยังคงอยู่ในช่วงที่ยากลำบากในการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศตนเองขึ้นมา หากนักลงทุนที่อยากเข้าไปลงทุนยุโรปในช่วงนี้ ราคายังไม่ปรับตัวขึ้นไปและคงต้องลงทุนแบบถือยาวกันไปเลย... และถึงในระยะหนึ่งผู้นำประเทศในยุโรปคงต้องจัดการกับเศรษฐกิจของประเทศตนเองให้กลับมาดีขึ้นได้ในที่สุด พร้อมกับหันมองปัญหาที่เกิดขึ้นจากอดีตเพื่อเป็นบทเรียนที่สำคัญ .....

ความซับซ้อนทางการลงทุนที่เกิดขึ้นควบคู่ไปกับความโลภของประเทศตะวันตก มันทำให้เกิดผลเสียหายที่ตามมาอย่างมากมาย แต่เศรษฐกิจและการลงทุนยังคงต้องเดินต่อไป นั่นคือคำถามว่าการลงทุนที่ถุกต้องคือลงทุนอย่างไร....
กำลังโหลดความคิดเห็น