ที่ประชุม คกก.ติดตามสถานการณ์การเมือง วุฒิฯ กังวลวุฒิภาวะ “กษิต” จะเป็นอุปสรรคในการเจรจาถกข้อพิพาทไทย-กัมพูชา ในเวทียูเอ็นเอสซี ไทย-กัมพูชา เตือน รบ.อย่าคิดสลายการชุมนุมของ พธม.เพื่อใช้เงื่อนไขการแก้ปัญหาระหว่างประเทศ ด้าน “ส.ว.คำนูณ” จี้ “กษิต-รบ.” ลาออก เชื่อจะทำให้ไทยไม่เสียเปรียบในการเจรจาเพื่อรักษาอธิปไตย
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง คำนูณ สิทธิสมาน ให้สัมภาษณ์
วันนี้ (14 ก.พ.) ในการประชุมคณะกรรมการเพื่อติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา โดยมีนายจิติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ เป็นประธาน โดยมีการหารือถึงสถานการณ์ความขัดแย้งบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา โดยที่ประชุมส่วนใหญ่เป็นห่วงท่าทีการทูตไทย โดยที่ผ่านมา นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ได้กล่าวพาดพิงประเทศสมาชิกในสหประชาชาติ
โดย นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ในฐานะคณะกรรมการ กล่าวว่า การที่กัมพูชาเปิดการปะทะ ไม่เป็นผลดีต่อการขึ้นทะเบียนมรดกโลก แต่ต้องการยกระดับความขัดแย้งสู่พหุภาคี และมองว่า นายกษิต ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เนื่องจากไม่สามารถควบคุมการแสดงออกในที่สาธารณะได้ สอดคล้องกับความเห็นของ พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี ส.ว.สรรหา ในฐานะคณะกรรมการ เสนอให้รัฐบาลชุด นายอภิสิทธิ์ ออกด้วย เพื่อแสดงความรับผิดชอบกับการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ทำให้ไทยเสียเปรียบกัมพูชา
ด้าน นายสุโข วุฑฒิโชติ ส.ว.สมุทรปราการ ในฐานะคณะกรรมการ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่ตำหนินายกษิต เพียงคนเดียว แต่ไทยควรแก้ปัญหาภายในประเทศของตัวเองให้ได้เสียก่อนจะไปแก้ปัญหาระหว่างประเทศ
ขณะที่ พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ รอง ปธ.คณะกรรมการ แสดงความเห็นว่า เป็นกังวลกับการให้สัมภาษณ์ของคนในรัฐบาลเช่นเดียวกัน เนื่องจากอาจได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน ซึ่งต่างจากในอดีต ที่เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ จะเป็นผู้ชี้แจง เพราะได้รับข้อมูลจากสำนักข่าวกรองแห่งชาติโดยตรง
ส่วนกรณีที่คณะกรรมการมรดกโลกเตรียมเดินทางลงพื้นที่ปราสาทพระวิหาร เพื่อรับทราบข้อมูลนั้น พล.อ.เอกชัย ระบุว่า ต้องได้รับมติเอกฉันท์จากสหประชาชาติก่อน ตามมาตรา 8 ของสหประชาชาติ ขณะเดียวกัน สมาชิกทั้ง 10 ประเทศของอาเซียนต้องยินยอมให้ใช้วิธีการดังกล่าวด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมหารือถึงความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชา เป็นเวลานานเกือบ 2 ชั่วโมง โดยที่ประชุมส่วนใหญ่ เชื่อว่า การสู้รบเป็นเรื่องทางการเมืองระหว่างคนในประเทศและระหว่างประเทศ เนื่องจากไม่สามารถแก้ปัญหาชายแดนและส่งผลเสียต่อศักยภาพของอาเซียนโดยรวม ดังนั้น ทุกคนจึงสนับสนุนแนวทางการเจรจาทวิภาคี และร่างหนังสือถึงรัฐบาลให้ควบคุมการแสดงท่าทีของฝ่ายต่างๆในประเด็นความขัดแย้ง และเรียกร้องอย่าใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯที่ออกมาต่อต้านแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐบาล