xs
xsm
sm
md
lg

10 เหตุผลที่คน กทม.ไม่เอาซูเปอร์สกายวอล์ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บทตวามโดย : ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน

ทางเดินเท้าลอยฟ้าเทวดา หรือ ซูเปอร์สกายวอล์ก เป็นโครงการผลาญงบประมาณภาษีประชาชน 1.52 หมื่นล้านบาท ล่าสุดของ กทม. สะท้อนให้เห็นถึงภาวะผู้นำของคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ที่ตัดสินใจเชิงนโยบายใดๆ มิได้อยู่บนพื้นฐานของกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือการรับฟังผู้มีส่วนได้เสียอย่างรอบด้านเสียก่อนๆ ที่จะดำเนินโครงการใดๆ อีกทั้งระบบการตรวจสอบของสภาท้องถิ่น คือ สภา กทม.ก็อ่อนแอ เพราะเป็นกลุ่มพรรคการเมืองเดียวกันเสียเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ผู้บริหาร กทม.ลำพองใจ คิดจะทำโครงการเมกะโปรเจกต์ถลุงเงินภาษีประชาชนอย่างไรก็ได้ อย่างไร้ธรรมาภิบาล และขัดต่อกฎหมายหลายฉบับ ซึ่งสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนใคร่ขอประมวลเหตุผลที่คนกรุงเทพฯไม่ควรเอาซุปเปอร์สกายวอล์ก 10 เหตุผล มาเพื่อทราบร่วมกัน ดังนี้

1) จะเป็นการส่งเสริมให้มีหาบเร่แผงลอยเพิ่มมากขึ้น เพราะโครงการดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า กทม.ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาหาบเร่-แผงลอยอย่างชัดแจ้ง เพราะนักการเมืองท้องถิ่นหวังแต่คะแนนเสียงของการเลือกตั้งจากกลุ่มพ่อค้า-แม่ค้าเหล่านี้ จึงไม่กล้าแตะต้อง ทั้งๆ ที่การยึดเอาทางเท้า หรือฟุตปาทไปตั้งแผงค้าขาย ผิดกฎหมายรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 อย่างชัดแจ้ง แต่ กทม.กลับร่วมกับ บช.น.กระทำการอันเป็น “การละเมิดสิทธิการใช้ทางเท้า” ของประชาชนทุกคนที่มีสิทธิใช้ทางเท้าเพื่อการสัญจรอย่างสะดวกสบายอย่างเท่าเทียมกัน ทำสิ่งผิดให้เป็นสิ่งถูก โดยการอนุญาตให้ผู้ค้าเหล่านั้นสามารถยึดที่สาธารณะมาเพื่อประโยชน์ส่วนบุคคลได้ โดยใช้คำสวยหรูว่า “ผ่อนผัน” เพื่อเลี่ยงกฎหมาย จนบัดนี้มีหาบเร่แผงลอยในพื้นที่กรุงเทพฯ มีจุดผ่อนผันกว่า 666 จุด จำนวนผู้ค้ากว่า 20,275 คน นอกจุดผ่อนผันมีอีกกว่า 670 จุด จำนวนผู้ค้ามีอีกกว่า 17,731 คน

ล่าสุด กทม.และ บช.น.เอาใจรัฐบาลตามนโยบายประชาวิวัฒน์เข้าไปอีกโดยเพิ่มจุดผ่อนผันเข้าไปอีก 280 จุด โดยที่ไม่สอบถามประชาชนคนใช้ทางเท้าส่วนใหญ่เลยว่าเขาเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร

2) จะทำให้ทางเท้าเดิมไม่ใช่ทางเท้าอีกต่อไป เพราะเป็นการสะท้อนว่า กทม.ล้มเหลวในการบริหารจัดการทางเท้า ปล่อยให้หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ นำทางเท้าไปใช้ประโยชน์ในหน่วยงานตน แสวงหากำไรและผลประโยชน์ส่วนตน เป็นที่ตั้งของตู้โทรศัพท์ เสาไฟฟ้า เสาป้ายจราจร ตู้ไปรษณีย์ ป้ายโฆษณาของทั้งหน่วยงานราชการและของเอกชน ที่จอดรถ ที่วางสินค้าของร้านค้าห้องแถว รวมถึงเป็นที่ตั้งของตู้ยามของตำรวจจราจรอย่างออกหน้าออกตา ในประเทศที่เจริญแล้วไม่มีตู้ยามจราจรที่ไหนใหญ่โต ติดแอร์ มีทีวี ตู้เย็นสิ่งอำนวยความสะดวกเต็มที่เหมือนตู้ยามตำรวจจราจรใน กทม.เลย การเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันของ กทม. และ บช.น.จึงทำให้ทางเท้าใน กทม.มีแต่สิ่งที่รกรุงรังเต็มทางเท้าไปหมด นอกจากนั้นทางเท้าก็ไม่ราบเรียบ สวยงามน่าเดิน บางจุดเป็นหลุมเป็นบ่อตะแกรงท่อน้ำเสีย ทำให้คนหรือรถจักรยานล้อตกร่องมามากต่อมากแล้ว

3) ทำให้ กทม.เป็นเมืองแห่งอุจาดทัศน์ (Visual Pollution) คนกรุงเทพฯเคยผิดพลาดต่อการต่อต้านรถไฟฟ้า BTS มาแล้ว เพราะรู้ไม่เท่าทันนักการเมืองที่ชอบหว่านคำพูดแต่สิ่งดีๆ ของรถไฟลอยฟ้า อีกทั้งคน กทม.ส่วนใหญ่ในอดีตไม่เคยเห็นเคยใช้รถไฟฟ้าระบบรางมาก่อน เพราะไม่เคยมีในประเทศไทย แต่พอเริ่มมีรถไฟฟ้าใต้ดินขึ้นมา ทำให้ทุกคนเปรียบเทียบและคิดได้ว่า การปล่อยให้มีรถไฟลอยฟ้าเป็นสิ่งที่ผิดพลาดอย่างมหันต์ เพราะตลอดใต้โครงสร้างสถานีแต่ละสถานียาว 150 เมตร จะกลายเป็นอุโมงค์หรือถ้ำถาวร ที่อบอวลไปด้วยมลพิษ ควันพิษจากยานยนต์ทุกประเภทที่วิ่งสัญจร และติดปัญหาการจราจรอยู่ภายใต้สถานีรถไฟลอยฟ้า ซึ่งผู้คนที่เดินสัญจรไปมา พ่อค้าแม่ค้า เจ้าของห้องแถวร้านค้า ต่างต้องสูดดมควันพิษกันอย่างทั่วหน้ากันทุกคน โดยไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ นอกจากนั้นโครงสร้างที่ปลูกสร้างคร่อมถนนที่ระโยงระยางค์ ขวักไขว่ลอยอยู่บนฟ้าจะปิดกั้นสายตา หรือมุมมองของการมองเห็นสิ่งที่สวยงามบนอากาศของเมืองไปอย่างถาวร

4) จะมีการหมกเม็ดทำให้มีการผลาญภาษีของประชาชนเพิ่มมากขึ้น นอกจากเงินงบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างทั้ง 2 เฟสที่มาจากภาษีของประชาชนจำนวน 1.52 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ยกิโลเมตรละ 300 ล้านบาทแล้ว ทั้งๆ ที่ราคาที่แท้จริงไม่ควรจะเกินกิโลเมตรละ 50 ล้านบาทเท่านั้น จะมีการหมกเม็ดเงินงบประมาณที่ต้องใช้จ่ายในอนาคตไว้อีกมากโดยไม่แจ้งประชาชน เช่น เงินในการเปลี่ยนบันไดขึ้นลงมาเป็นบันไดเลื่อนในอนาคตอันใกล้ หรือเปลี่ยนมาสร้างลิฟท์เสริมเพิ่มมากขึ้นมาแทนในบางจุดที่เป็นย่านที่มีคนขึ้นลงมาก เช่น ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น นอกจากนั้น จะต้องมีการตั้งงบประมาณก้อนใหม่ มาใช้ในการรื้อย้ายสายไฟฟ้า สายโทรศัพท์ สายเคเบิล และอื่นๆ ขึ้นมาใช้พื้นที่ใต้โครงสร้างโครงการดังกล่าวอีก นอกจากนั้นยังอาจจะต้องว่าจ้างเจ้าหน้าที่เทศกิจเพิ่มขึ้นมาอีกจำนวนมาก พร้อมยานพาหนะ จักรยาน เพื่อคอยลาดตระเวนรักษาความปลอดภัยตลอดเส้นทาง 50 กิโลเมตร เพราะเทศกิจเดิมที่มีอยู่ก็ดูแลทางเท้าและงานตามหน้าที่ทั่วไปมากมายอยู่แล้ว นอกจากนั้นยังต้องตั้งงบประมาณในการซ่อมบำรุง (Maintenances) ไว้ประจำปีอีกทุกๆ ปี อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

5) จะเป็นการส่งเสริมให้มีการทำผิดกฎหมายเพิ่มมากขึ้นหลายหน่วยงาน/บริษัท เหตุเพราะโครงสร้างบางส่วนของซูเปอร์สกายวอล์กไปเชื่อมติดกับโครงสร้างของรถไฟฟ้า BTS และทางด่วนของการทางพิเศษฯ ซึ่งทั้งสองโครงการดังกล่าวกฎหมายกำหนดให้ต้องทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อยู่แล้ว เมื่อโครงการซูเปอร์สกายวอล์กไปเชื่อมติดกับโครงสร้างดังกล่าว จึงเข้าข่ายเป็นโครงการประเภทเดียวกันกับโครงการนั้น ๆ ด้วย เพราะเป็นระบบทางพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการทางพิเศษ หรือเข้าข่ายเป็นทางหลวงหรือถนน ซึ่งมีความหมายตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 ซึ่งประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฉบับลงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2552 กำหนดว่าต้องทำ EIA ด้วยเพราะมีพื้นที่กว่า 75,000 ตร.ม.และมีที่ตั้งอยู่ใกล้โบราณสถาน แหล่งโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ในระยะทาง 2 กิโลเมตรจากโครงการก่อสร้าง และโครงการที่อนุญาตให้ซุปเปอร์สกายวอล์กไปเชื่อมต่อก็จะต้องนำเอา EIA ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) แล้วนำกลับไปปรับปรุงแก้ไขเพื่อเสนอ คชก.ใหม่ อีกทั้งยังมีการไปเชื่อมติดกับอาคารห้างสรรพสินค้า โรงแรม หรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 โครงการดังกล่าว ก็จะถือว่าเป็น “อาคาร” ตามกฎหมายดังกล่าวอีกด้วย ดังนั้นหากโครงการใด ๆ ที่โครงการซุปเปอร์สกายวอล์กไปเชื่อมต่อรวมทั้ง กทม.ไม่ปรับปรุงหรือจัดทำ EIA ใหม่ให้แล้วเสร็จเสียก่อน ก็ย่อมเข้าข่ายละเมิดหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ด้วย

6) จะเป็นการนำสมบัติสาธารณะไปเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชน การที่ซุปเปอร์สกายวอล์กจะถูกนำไปเชื่อมกับบริษัท ห้างร้าน ห้างสรรพสินค้า โรงแรม หรืออาคารสถานที่ของเอกชนใด ๆ นั้นจะถือว่าเป็นการนำเอาทรัพย์สินสาธารณะของประชาชนไปสร้างประโยชน์ หรือเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ เทศบาล (กทม.) แม้จะอ้างว่าเอกชนเป็นคนลงทุนก่อสร้างก็ตาม เพราะเสา ตอม่อ โครงสร้างต่างๆ จะตั้งอยู่บนทางเท้า เกาะกลางถนน ซึ่งเป็นสมบัติสาธารณะที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน หาใช่ของผู้ประกอบการเจ้าของอาคาร ห้างสรรพสินค้าของเอกชนรายใด รายหนึ่งได้ไม่ หากเอกชนรายใดเข้ามาร่วมดำเนินการกับรัฐ หรือ กทม.ก็จะถือว่าเป็นตัวการร่วม มีความผิดเช่นเดียวกันกับผู้บริหารกรุงเทพมหานคร

7) จะทำให้ร้านค้าห้องแถวริมถนนตามแนวถนนทางเท้าลอยฟ้าล่มสลาย เพราะประชาชนส่วนหนึ่งจะขึ้นไปใช้บริการถนนทางเท้าลอยฟ้า จะไม่มีโอกาสลงมาซื้อสินค้าหรือใช้บริการร้านค้าหรือห้องแถวด้านล่างริมทางเท้าปกติได้เลย ซึ่งแน่นอนว่าเมื่ออุปสงค์หรือผู้บริโภคขาดหายหรือไม่มีโอกาสลงมาใช้บริการด้านล่างได้ โอกาสการค้าขายของร้านค้าขนาดเล็กขนาดย่อมก็จะล่มสลาย ขาดทุน ล้มหายตายจากเลิกกิจการไปในที่สุด นอกจากนั้น หาบเร่แผงลอยที่อยู่ด้านล่างริมฟุตบาทเดิม ก็จะไม่มีลูกค้ามาจับจ่ายซื้อสินค้าของตนได้ ก็จะล้มหายเลิกกิจการตามไปด้วย หรืออาจะต้องย้ายไปหาทำเลใหม่ๆ หรือตามลูกค้าขึ้นไปแอบขายบนทางเท้าลอยฟ้าเลยด้วยก็ได้ กทม.ก็จะแก้ปัญหาแบบลูบหน้าปะจมูก แก้ไขปัญหาไม่หมดไม่สิ้น แก้ปัญหาหนึ่ง ต้องไปพบผจญอีกปัญหาหนึ่งไม่มีที่สิ้นสุด
8) จะทำให้เกิดความเสี่ยงในการแก้ไขปัญหาอัคคีภัยมากขึ้น เพราะโครงสร้างของถนนทางเดินเท้าลอยฟ้าที่อยู่ต่ำลงมากว่าโครงสร้างรถไฟฟ้า BTS และทางด่วน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อรถกระเช้าลอยฟ้าดับเพลิงเดิมอยู่แล้ว แต่พอมาสร้างลดระดับลงมาอยู่ในระดับเดียวกันกับสะพานลอย จะเป็นอุปสรรคที่สำคัญยิ่งขึ้นต่อการปฏิบัติงานของรถกระเช้าลอยฟ้าเพื่อการดับเพลิง เมื่อเกิดอัคคีภัยขึ้นในอาคารสูงตามแนวเส้นทางถนนทางเท้าลอยฟ้าดังกล่าว แม้ถ้าจะสามารถปฏิบัติงานได้แต่ก็จะสร้างความยุ่งยาก และเพิ่มระยะเวลาของการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานดับเพลิงที่ต้องแข่งกับระยะเวลาในการปฏิบัติงานที่สำคัญยิ่งต่อการช่วยเหลือชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน

9) จะเร่งทำให้กรุงเทพมหานครกลายเป็นเมืองแห่งมลพิษเพิ่มมากขึ้น เพราะในปัจจุบันนี้คุณภาพอากาศและเสียงในพื้นที่ชั้นในกึ่งกลางของกรุงเทพมหานคร มีงานวิจัยของหลายสำนักวิจัยยืนยันชัดเจนแล้วพบสารก่อมะเร็งสำคัญกว่า 15 ชนิดกระจายอยู่ในอากาศของท้องถนนกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะสารเบนโซเอไพรีน ซึ่งมีศักยภาพก่อมะเร็งสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งระบบทางเดินหายใจ มะเร็งปอด และมะเร็งผิวหนัง นอกจากนั้น ยังพบสารก่อมะเร็งพีเอเอช (PAHs) ซึ่งเป็นกลุ่มสารเคมีหลายร้อยชนิด เกิดจากการสันดาปไม่สมบูรณ์จากไอเสียของยานยนต์ทุกประเภทควันพิษจากเชื้อเพลิงยานยนต์บนท้องถนนของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมวลมลพิษเหล่านี้ปกติจะล่องลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศแต่เมื่อมีโครงสร้างของรถไฟฟ้า สถานี ทางด่วน และทางเดินเท้าซุปเปอร์สกายวอล์กก็จะไปปิดกั้นการกระจายตัวเพื่อเจือจางลง ทำให้ภายใต้โครงสร้างของสิ่งก่อสร้างดังกล่าวอบอวลไปด้วยมลพิษหรือสารก่อมะเร็ง นอกจากมลพิษทางอากาศ ภายใต้โครงสร้างดังกล่าวจะมีปัญหาเรื่องมลพิษทางเสียงที่เกินมาตรฐานที่ 70 เดซิเบล เอ ตามมาเพราะไปปิดกั้นทางเดินเสียง โดยเฉพาะในย่านที่มีการจราจรขวักไขว่ เช่น ถนนสีลม ถนนเพลินจิต ถนนสุขุมวิท ถนนรามคำแหง เป็นต้น

10) จะทำให้วินัยทางการเงินการคลังของกรุงเทพมหานครเสียหาย เพราะเป็นการเอาเงินในอนาคตของคน กทม.มาใช้พร้อมความเสี่ยง การที่ กทม.เอาสถานะนิติบุคคลของหน่วยงานไปการันตีการกู้เงินจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ให้กับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทเอกชนทั่วไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หาใช่วิสาหกิจของ กทม.ไม่ (ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องเสร็จที่ 88/2541) อีกทั้งไม่มีผู้บริหารของกรุงเทพมหานครเป็นกรรมการรวมอยู่ด้วย และไม่มีกฎหมายเฉพาะรองรับเหมือนรัฐวิสาหกิจทั่วไป มีแต่เอกชนพรรคพวกของผู้บริหารของ กทม.หรือพรรคการเมืองของผู้ว่าฯมาเป็นกรรมการ หากบริษัทกรุงเทพธนาคมบริหารงานล้มเหลวผิดพลาด กทม.ในฐานะผู้ค้ำประกันก็ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายดังกล่าวโดยตรงด้วย ดังนั้นการให้บริษัทกรุงเทพธนาคมมาร่วมทุนดำเนินการในครั้งนี้จึงเข้าข่าย พรบ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนิน
การในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีก่อนเท่านั้น
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาแล้วในเบื้องต้นนี้ จึงใคร่ขอให้กรุงเทพมหานครได้ทบทวนหรือยกเลิกการดำเนินการโครงการซุปเปอร์สกายวอล์กดังกล่าวเสีย เพราะจะได้ไม่คุ้มเสียตามที่กล่าวแล้ว แต่หากยังมุ่งมั่นที่จะดำเนินโครงการดังกล่าวต่อไปมีหนทางเดียวเท่านั้น คือ “เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียเสียก่อนอย่างรอบด้าน” และต้องปฏิบัติตามกฎหมายทุกข้อที่กล่าวถึงข้างต้นก่อน แต่ทว่าหาก กทม.ยังเพิกเฉยต่อข้อเสนอหรือเหตุผลที่อรรถาธิบายมาแล้วนี้ ยังเดินหน้าโครงการดังกล่าวต่อไป กระบวนการยุติธรรมเท่านั้นที่จะใช้เป็นข้อยุติของปัญหาดังกล่าวได้
กำลังโหลดความคิดเห็น