xs
xsm
sm
md
lg

10 เหตุผลที่คนกรุงเทพไม่ควรเอา ซุปเปอร์ สกายวอล์ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ประมวลเหตุผลที่คนกรุงเทพฯ ไม่ควรสนับสนุนโครงการซุปเปอร์สกายวอล์ก 10 เหตุผล ดังนี้

1) จะเป็นการส่งเสริมให้มีหาบเร่แผงลอยเพิ่มมากขึ้น เพราะโครงการดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า กทม.ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาหาบเร่-แผงลอยอย่างชัดแจ้ง เพราะนักการเมืองท้องถิ่นหวังแต่คะแนนเสียงของการเลือกตั้งจากกลุ่มพ่อค้า-แม่ค้าเหล่านี้ จึงไม่กล้าแตะต้อง ทั้ง ๆ ที่การยึดเอาทางเท้าหรือฟุตบาทไปตั้งแผงค้าขาย ผิดกฎหมายรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 อย่างชัดแจ้ง แต่ กทม.กลับร่วมกับ บช.น. กระทำการอันเป็น “การละเมิดสิทธิการใช้ทางเท้า” ของประชาชนทุกคนที่มีสิทธิใช้ทางเท้าเพื่อการสัญจรอย่างสะดวกสบายอย่างเท่าเทียมกัน ทำสิ่งผิดให้เป็นสิ่งถูก โดยการอนุญาตให้ผู้ค้าเหล่านั้นสามารถยึดที่สาธารณะมาเพื่อประโยชน์ส่วนบุคคลได้ โดยใช้คำสวยหรูว่า “ผ่อนผัน” เพื่อเลี่ยงกฎหมาย

2) จะทำให้ทางเท้าเดิมไม่ใช่ทางเท้าอีกต่อไป เพราะเป็นการสะท้อนว่า กทม.ล้มเหลวในการบริหารจัดการทางเท้า ปล่อยให้หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ นำทางเท้าไปใช้ประโยชน์ในหน่วยงานตน แสวงหากำไรและผลประโยชน์ส่วนตน เป็นที่ตั้งของตู้โทรศัพท์ เสาไฟฟ้า เสาป้ายจราจร ป้ายโฆษณาของทั้งหน่วยงานราชการและของเอกชน ที่จอดรถ ที่วางสินค้าของร้านค้าห้องแถว รวมถึงเป็นที่ตั้งของตู้ยามของตำรวจจราจรอย่างออกหน้าออกตา

3) ทำให้ กทม.เป็นเมืองแห่งอุดจาดทัศน์ (Visual Pollution) คนกรุงเทพฯเคยผิดพลาดต่อการต่อต้านรถไฟฟ้า BTS มาแล้วเพราะรู้ไม่เท่าทันนักการเมืองที่ชอบหว่านคำพูดแต่สิ่งดี ๆ ของรถไฟลอยฟ้า อีกทั้งคน กทม.ส่วนใหญ่ในอดีตไม่เคยเห็นเคยใช้รถไฟฟ้าระบบรางมาก่อน เพราะไม่เคยมีในประเทศไทย แต่พอเริ่มมีรถไฟฟ้าใต้ดินขึ้นมา ทำให้ทุกคนเปรียบเทียบและคิดได้ว่า การปล่อยให้มีรถไฟลอยฟ้าเป็นสิ่งที่ผิดพลาดอย่างมหันต์ เพราะตลอดใต้โครงสร้างสถานีแต่ละสถานียาว 150 เมตร จะกลายเป็นอุโมงค์หรือถ้ำถาวร ที่อบอวลไปด้วยมลพิษ ควันพิษจากยานยนต์ทุกประเภทที่วิ่งสัญจร และติดปัญหาการจราจรอยู่ภายใต้สถานีรถไฟลอยฟ้า ซึ่งผู้คนที่เดินสัญจรไปมา พ่อค้าแม่ค้า เจ้าของห้องแถวร้านค้า ต่างต้องสูดดมควันพิษกันอย่างทั่วหน้ากันทุกคน โดยไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้

4) จะมีการหมกเม็ดทำให้มีการผลาญภาษีของประชาชนเพิ่มมากขึ้น นอกจากเงินงบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างทั้ง 2 เฟสที่มาจากภาษีของประชาชนจำนวน 1.52 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ยกิโลเมตรละ 300 ล้านบาทแล้ว ทั้ง ๆ ที่ราคาที่แท้จริงไม่ควรจะเกินกิโลเมตรละ 50 ล้านบาทเท่านั้น จะมีการหมกเม็ดเงินงบประมาณที่ต้องใช้จ่ายในอนาคตไว้อีกมากโดยไม่แจ้งประชาชน เช่น เงินในการเปลี่ยนบันไดขึ้นลงมาเป็นบันไดเลื่อนในอนาคตอันใกล้ หรือเปลี่ยนมาสร้างลิฟท์เสริมเพิ่มมากขึ้นมาแทนในบางจุดที่เป็นย่านที่มีคนขึ้นลงมาก เช่น ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

5) จะเป็นการส่งเสริมให้มีการทำผิดกฎหมายเพิ่มมากขึ้นหลายหน่วยงาน/บริษัท เหตุเพราะโครงสร้างบางส่วนของซุปเปอร์สกายวอล์กไปเชื่อมติดกับโครงสร้างของรถไฟฟ้า BTS และทางด่วนของการทางพิเศษฯ ซึ่งทั้งสองโครงการดังกล่าวกฎหมายกำหนดให้ต้องทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อยู่แล้ว

เมื่อโครงการซุปเปอร์สกายวอล์กไปเชื่อมติดกับโครงสร้างดังกล่าว จึงเข้าข่ายเป็นโครงการประเภทเดียวกันกับโครงการนั้น ๆ ด้วย เพราะเป็นระบบทางพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการทางพิเศษ หรือเข้าข่ายเป็นทางหลวงหรือถนน ซึ่งมีความหมายตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 ซึ่งประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฉบับลงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2552 กำหนดว่าต้องทำ EIA ด้วยเพราะมีพื้นที่กว่า 75,000 ตร.ม.และมีที่ตั้งอยู่ใกล้โบราณสถาน แหล่งโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ในระยะทาง 2 กิโลเมตรจากโครงการก่อสร้าง และโครงการที่อนุญาตให้ซุปเปอร์สกายวอล์กไปเชื่อมต่อก็จะต้องนำเอา EIA ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.)แล้วนำกลับไปปรับปรุงแก้ไขเพื่อเสนอ คชก.ใหม่

อีกทั้งยังมีการไปเชื่อมติดกับอาคารห้างสรรพสินค้า โรงแรม หรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 โครงการดังกล่าว ก็จะถือว่าเป็น “อาคาร” ตามกฎหมายดังกล่าวอีกด้วย ดังนั้นหากโครงการใดๆ ที่โครงการซุปเปอร์สกายวอล์กไปเชื่อมต่อรวมทั้ง กทม.ไม่ปรับปรุงหรือจัดทำ EIA ใหม่ให้แล้วเสร็จเสียก่อน ก็ย่อมเข้าข่ายละเมิดหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ด้วย

6) จะเป็นการนำสมบัติสาธารณะไปเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชน การที่ซุปเปอร์สกายวอล์กจะถูกนำไปเชื่อมกับบริษัท ห้างร้าน ห้างสรรพสินค้า โรงแรม หรืออาคารสถานที่ของเอกชนใด ๆ นั้นจะถือว่าเป็นการนำเอาทรัพย์สินสาธารณะของประชาชนไปสร้างประโยชน์ หรือเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ เทศบาล (กทม.) แม้จะอ้างว่าเอกชนเป็นคนลงทุนก่อสร้างก็ตาม เพราะเสา ตอม่อ โครงสร้างต่าง ๆ จะตั้งอยู่บนทางเท้า เกาะกลางถนน ซึ่งเป็นสมบัติสาธารณะที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน หาใช่ของผู้ประกอบการเจ้าของอาคาร ห้างสรรพสินค้าของเอกชนรายใด รายหนึ่งได้ไม่ หากเอกชนรายใดเข้ามาร่วมดำเนินการกับรัฐหรือ กทม. ก็จะถือว่าเป็นตัวการร่วม มีความผิดเช่นเดียวกันกับผู้บริหารกรุงเทพมหานคร

7) จะทำให้ร้านค้าห้องแถวริมถนนตามแนวถนนทางเท้าลอยฟ้าล่มสลาย เพราะประชาชนส่วนหนึ่งจะขึ้นไปใช้บริการถนนทางเท้าลอยฟ้า จะไม่มีโอกาสลงมาซื้อสินค้าหรือใช้บริการร้านค้าหรือห้องแถวด้านล่างริมทางเท้าปกติได้เลย ซึ่งแน่นอนว่าเมื่ออุปสงค์หรือผู้บริโภคขาดหายหรือไม่มีโอกาสลงมาใช้บริการด้านล่างได้ โอกาสการค้าขายของร้านค้าขนาดเล็กขนาดย่อมก็จะล่มสลาย ขาดทุน ล้มหายตายจากเลิกกิจการไปในที่สุด

8) จะทำให้เกิดความเสี่ยงในการแก้ไขปัญหาอัคคีภัยมากขึ้น เพราะโครงสร้างของถนนทางเดินเท้าลอยฟ้าที่อยู่ต่ำลงมากว่าโครงสร้างรถไฟฟ้า BTS และทางด่วน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อรถกระเช้าลอยฟ้าดับเพลิงเดิมอยู่แล้ว แต่พอมาสร้างลดระดับลงมาอยู่ในระดับเดียวกันกับสะพานลอย จะเป็นอุปสรรคที่สำคัญยิ่งขึ้นต่อการปฏิบัติงานของรถกระเช้าลอยฟ้าเพื่อการดับเพลิง เมื่อเกิดอัคคีภัยขึ้นในอาคารสูงตามแนวเส้นทางถนนทางเท้าลอยฟ้าดังกล่าว แม้ถ้าจะสามารถปฏิบัติงานได้แต่ก็จะสร้างความยุ่งยาก และเพิ่มระยะเวลาของการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานดับเพลิงที่ต้องแข่งกับระยะเวลาในการปฏิบัติงานที่สำคัญยิ่งต่อการช่วยเหลือชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน

9) จะเร่งทำให้กรุงเทพมหานครกลายเป็นเมืองแห่งมลพิษเพิ่มมากขึ้น เพราะในปัจจุบันนี้คุณภาพอากาศและเสียงในพื้นที่ชั้นในกึ่งกลางของกรุงเทพมหานคร มีงานวิจัยของหลายสำนักวิจัยยืนยันชัดเจนแล้วพบสารก่อมะเร็งสำคัญกว่า 15 ชนิดกระจายอยู่ในอากาศของท้องถนนกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะสารเบนโซเอไพรีน ซึ่งมีศักยภาพก่อมะเร็งสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งระบบทางเดินหายใจ มะเร็งปอด และมะเร็งผิวหนัง

10) จะทำให้วินัยทางการเงินการคลังของกรุงเทพมหานครเสียหาย เพราะเป็นการเอาเงินในอนาคตของคน กทม.มาใช้พร้อมความเสี่ยง การที่ กทม.เอาสถานะนิติบุคคลของหน่วยงานไปการันตีการกู้เงินจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ให้กับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทเอกชนทั่วไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หาใช่วิสาหกิจของกทม.ไม่ (ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องเสร็จที่ 88/2541)

อีกทั้งไม่มีผู้บริหารของกรุงเทพมหานครเป็นกรรมการรวมอยู่ด้วย และไม่มีกฎหมายเฉพาะรองรับเหมือนรัฐวิสาหกิจทั่วไป มีแต่เอกชนพรรคพวกของผู้บริหารของ กทม.หรือพรรคการเมืองของผู้ว่าฯมาเป็นกรรมการ หากบริษัทกรุงเทพธนาคมบริหารงานล้มเหลวผิดพลาด กทม.ในฐานะผู้ค้ำประกันก็ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายดังกล่าวโดยตรงด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น