รองผู้ว่าฯ กทม.แจงละเอียดยิบ มูลค่าโครงการ 1.5 หมื่นล้าน ประกวดราคาเฟส 1 เส้นทางสุขุมวิท 12 กม.43,000 บาท ต่อ ตร.ม. ฉุนขาดถามสกายวอล์ก กทม.“อุจาดตาตรงไหน” ตอกไม่ควรเอาความรู้สึกแง่ลบเป็นตัวตั้งตัดสิน
นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า กทม.ได้สอบถามความต้องการเบื้องต้นของประชาชนที่อยู่ในย่านดังกล่าวแล้ว พบว่า ประชาชนมีความต้องการใช้สกายวอล์กมากขึ้น กทม.จึงได้อนุมัติโครงการเพิ่มขึ้น ซึ่งเมืองที่พัฒนาแล้วอย่างแวนคูเวอร์เมืองน่าท่องเที่ยวอันดับ 1 ของโลกก็ยังมีสกายวอล์ก อันดับ 2 กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ก็มีสกายวอล์ก อันดับ 3-4 ก็มีสกายวอล์กเช่นกัน ถามว่า สกายวอล์กที่ กทม.จะสร้างนั้นมันอุจาดตาตรงไหน เมืองเก่าแก่อย่างเวียนนายังไม่อุจาดเลย สังคมไทยไม่ควรเอาความรู้สึกแง่ลบเป็นตัวตั้งแทนที่จะวิจัยค้นคว้า ซึ่งเป็นเวลาปีเศษที่ กทม.รวบรวมข้อมูลวิจัยค้นคว้า
นายธีระชน กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องงบประมาณการก่อสร้างนั้น กทม.ใช้ราคาต่ำสุดของเอกชนมาเป็นฐานราคากลางตารางเมตรละ 50,000 บาท งบประมาณเบื้องต้นเท่ากับ 5,443 ล้านบาท แยกเป็นงบสกายวอล์ก 4,256 ล้านบาท งบก่อสร้างลิฟต์สำหรับผู้พิการ ผู้สูงวัยจำนวน 56 ชุด ทุกสถานีรถไฟฟ้าสายสีลมและสุขุมวิท และปรับปรุงทางเท้าบนถนนสุขุมวิท ซึ่งใช้งบประมาณในส่วนนี้ 1,187 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับเฟสที่ 2 ระยะทาง 32 กม.ซึ่งคิดราคาก่อสร้างแบบเทียบบัญญัติไตรยางค์ คือ เอาราคากลางตั้งคูณด้วย 2 คูณด้วยอัตราเงินเฟ้อ 1.05 จำนวน 2 ปี แล้วคูณด้วยอัตราดอกเบี้ย 1% ซึ่ง กทม.วางแผนผ่อนชำระ 10 ปีจึงเป็น 1.1% แสดงวิธีทำดังนี้ 4,256 ล้านบาท x 2 x 1.05 x 1.05 x 1.1 = 10,322 ล้านบาท รวม 2 เฟสมูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท ถือว่าโปร่งใสแน่นอน
นายธีระชน กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ สภา กทม.ได้ผ่านเป็นข้อบัญญัติงบประมาณประจำปี 2554 จำนวน 5,443 ล้านบาท จากนั้นเมื่อเข้าสู่ปีงบประมาณ 2554 เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมาสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม.ก็ดำเนินการกำหนดร่าง TOR ราคากลางตามระเบียบพัสดุของ กทม.เหลือมูลค่า 5,200 ล้านบาท และเมื่อวันที่ 4 มี.ค.ได้ประกวดราคาสกายวอล์กเฟสที่ 1 เส้นทางสุขุมวิทระยะทาง 12 กม.เหลือเพียง 43,000 บาท ต่อ ตร.ม.ดังนั้น เฉพาะค่าก่อสร้างสกายวอล์กเส้นทางนี้มูลค่า 2,508 ล้านบาท โดยผู้รับเหมา คือ บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)
ส่วนสายฝั่งธน ได้มีการเจรจาด้วยวิธีพิเศษกับผู้รับเหมาก่อสร้างบีทีเอสเส้นบางหว้า คือ กลุ่มกิจการร่วมค้าเอสทีเอเอสไปพร้อมกับการก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า และอีก 2 เส้นทางในเฟสนี้คืออนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิแยกปทุมวัน และ ม.รามคำแหง ถึงสนามราชมังคลากีฬาสถานอยู่ระหว่างดำเนินการ อย่างไรก็ตาม เมื่อได้มีการประกวดราคาจะทำราคาก่อสร้างลดลงไปอีก ส่วนที่มีการคิดก่อสร้างออกเป็นตารางเมตรนั้น เนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างในแต่ละส่วนมีขนาดไม่เท่ากัน ตลอดแนวเส้นทาง มีความกว้างตั้งแต่ 3-6 เมตร โดยเฉพาะจุดต่อเชื่อมเส้นทางจะมีความกว้างพิเศษ ดังนั้น จึงต้องคิดมูลค่าออกมาเป็นพื้นที่ต่อตารางเมตร
นายธีระชน กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ กทม.ได้มอบ บ.กรุงเทพธนาคม (จำกัด) บริหารจัดการโครงการรวมทั้งหาแหล่งเงินทุน แม้ว่า กทม.จะใช้งบประมาณ กทม.แต่เป็นการผ่อนชำระ 10 ปี เบื้องต้นทราบว่า มีสถาบันการเงินหลายแห่ง อาทิ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน หรือแม้แต่สถาบันการเงินจากญี่ปุ่นก็เสนอตัวที่จะให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำด้วย
“จากที่ให้เอกชนดำเนินการในเส้นแรกก็ไม่มีปัญหาหาบเร่ นอกจากนี้ เราจะไม่ทิ้งบาทวิถีแม้ส่วนตัวจะไม่เห็นด้วยกับโครงการประชาภิวัฒน์ แต่จะพยายามจัดระเบียบโดยเฉพาะจุดกวดขันพิเศษ 5 จุด และจะไม่เป็นผลกระทบต่อผู้ค้ารายย่อยเพราะในชิคาโกพิสูจน์ชัดแล้วว่าค้าขายดีขึ้นโดยเฉพาะร้านค้าที่ไม่มีที่จอดรถ” นายธีระชน กล่าว