xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมต้องค้าน ‘ซูเปอร์สกายวอล์ก’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดยรัชญา จันทะรัง

“ซูเปอร์สกายวอล์ก” (Super Sky Walk) หรือโครงข่ายทางเดินลอยฟ้า ระยะทาง 50 กิโลเมตร กำลังกลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ของชาวมหานครอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะข้อสงสัยนานัปประการ ทั้งมูลค่าโครงการที่แพงเวอร์ 1.5 หมื่นล้านบาท? ก่อนจะทำอะไรถามคนกรุงเทพฯ หรือยัง? ผ่านการทำประชาพิจารณ์แล้วหรือไม่? ยันไปถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการจัดหาผู้รับเหมา วันนี้ ASTVผู้จัดการ มีคำตอบจากคีย์แมนผู้ดูแลโครงการนี้ “ธีระชน มโนมัยพิบูลย์” รองผู้ว่าฯ กทม.

  • ซูเปอร์สกายวอล์ก” วิถีคนเมือง

    ธีระชน เริ่มต้นอธิบายว่า เริ่มต้นจากโครงการ Highline แห่งมหานครนิวยอร์ก เป็นสิ่งที่ตนกำลังพยายามจะสื่อสารให้เห็นว่า เมื่อ 27 ปีที่แล้วตอนเรียนปริญญาโทที่อเมริกา สิ่งที่เห็นคือสกายวอล์กที่เชื่อมตึกต่างๆ เข้าด้วยกัน และเมื่อมีโอกาสเข้ามาบริหารงานในสมัย ดร.พิจิตต รัตตกุล เป็นผู้ว่าฯ กทม.เมื่อ 14 ปีที่แล้ว ก็ได้อนุมัติสกายวอล์กแห่งแรก ซึ่งคน กทม.เรือนแสนใช้ประโยชน์จากเส้นทางนี้นั้น คือ ทางเดินลอยฟ้าจากสนามกีฬาแห่งชาติ-ชิดลม และเมื่อกลับมารอบนี้ พบว่า ความต้องการใช้มีมากขึ้นจึงได้อนุมัติโครงการเพิ่มขึ้น
     

    ประเด็นสำคัญคือ เฟสแรกระยะทาง 16 กิโลเมตร ได้ให้ไปสำรวจในพื้นที่เส้นทาง พบว่า มีคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จแล้ว 2 แสนยูนิต และกำลังก่อสร้างเพิ่มเติมอีก ซึ่งคาดว่าจะมีผู้อาศัยประมาณ 6 แสนคนคิดอัตรา 1 ห้อง 2 คน นอกจากนี้ยังมีตึกสูง 115 แห่ง โรงแรม 185 แห่ง ศูนย์การค้า 46 แห่ง ซึ่งมีโอกาสที่จะเชื่อมต่อสกายวอล์ก ระหว่างตึกกับบีทีเอส ดังนั้นกทม.จึงต้องสร้างแกน

    ธีระชน อธิบายต่อว่า เมืองโตรอนโต มีการทำแผนยุทธศาสตร์ด้านการเดินสำหรับการเดินเท้า 10 ปี รวมถึงเมืองใหญ่อื่นๆ ก็ได้จัดทำแผนนี้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เพื่อให้คนได้เดินมากขึ้น ประชาคมโลกเขาทำและสำเร็จมาแล้ว เราจึงเอาความสำเร็จนั้นมาใช้ แต่ก่อนที่ กทม.จะทำก็ได้มีการสอบถามความต้องการของประชาชนที่อยู่ในย่านดังกล่าวและที่อาศัยในย่านที่คนพลุกพล่านและพบว่าสิ่งที่เขาห่วง คือ เรื่องความปลอดภัย ซึ่ง กทม.ก็มีการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง และกล้องโทรทัศน์วงจรปิด รวมถึงเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่ กทม.จะเพิ่มให้อีกด้วย

  • เมืองน่าท่องเที่ยวทั่วโลกก็มีกัน

    ธีระชน อธิบายถึงเหตุที่ไม่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้วยว่า ทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ระบุว่า สกายวอล์กเป็นโครงการที่ไม่จำเป็นต้องทำ EIA รวมถึงการทำประชาพิจารณ์ด้วย ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของสผ.ทุกประการ อย่างไรก็ตาม กทม.ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนเบื้องต้นมาแล้ว

    “เจตนาไม่ได้ต้องการให้ กทม.เป็นแค่เมืองน่าท่องเที่ยวแต่อยากให้เป็นเมืองที่พัฒนาแล้วอย่างแวนคูเวอร์ซึ่งเป็นเมืองน่าท่องเที่ยวอันดับ 1 ของโลกก็ยังมีสกายวอล์ก อันดับ 2 กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียก็มีสกายวอล์ก อันดับ 3-4 ก็มีสกายวอล์กเช่นกัน ถามว่า สกายวอล์กที่ กทม.จะสร้างนั้นมันอุจาดตาตรงไหน เมืองเก่าแก่อย่างเวียนนา ยังไม่อุจาดเลย สังคมไทยใช้เวลาตกผลึกยาวนานเอาความรู้สึกแง่ลบมาจับแทนที่จะวิจัยค้นคว้า ซึ่งก่อนที่จะทำวิจัยก็จะต้องมีการสำรวจวรรณกรรม ถ้าพบว่าสำเร็จก็นำมาต่อยอดซึ่งเป็นเวลาปีเศษที่เรารวบรวมข้อมูลวิจัยค้นคว้า ดังนั้น ไม่ควรเอาความรู้สึกแง่ลบเป็นตัวตั้งโดยไม่ศึกษาดูว่าทำได้หรือเปล่านี่คือจุดอ่อนของสังคมไทยซึ่งเราเป็นคนรุ่นใหม่ต้องเปลี่ยนวิธีคิด”


  • ทำไมสูงเหยียบ 1.5 หมื่นล้าน?

    ธีระชน อธิบายต่อว่า ก่อนหน้านี้ ได้มีการเชิญชวนให้ภาคเอกชนอย่าง คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี สร้างสกายวอล์ก Cyber World บนถนนรัชดาภิเษก ที่ตารางเมตรละ 120,000 บาทต่อ ตร.ม.เนื่องจากเป็นโครงสร้างเหล็กขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นราคาก่อสร้างต่อตารางเมตรแพงที่สุด รองลงมาเป็นของโฟร์ซีซันตารางเมตรละ 80,000 บาท ตามด้วยของธนาคารแห่งหนึ่งที่สร้างบนถนนนราธิวาสราชนครินทร์ตารางเมตรละ 70,000 บาท และถูกสุดของเดอะมอลล์ บางกะปิ ตารางเมตรละ 50,000 บาท

    ดังนั้น กทม.ใช้ราคาต่ำสุดของเอกชนมาเป็นฐานราคากลางตารางเมตรละ 50,000 บาท งบประมาณเบื้องต้นเท่ากับ 5,443 ล้านบาท แยกเป็นงบสกายวอล์ก 4,256 ล้านบาท งบก่อสร้างลิฟต์สำหรับผู้พิการ ผู้สูงวัยจำนวน 56 ชุด ทุกสถานีรถไฟฟ้าสายสีลม และสุขุมวิท และปรับปรุงทางเท้าบนถนนสุขุมวิท ซึ่งใช้งบประมาณในส่วนนี้ 1,187 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับเฟสที่ 2 ระยะทาง 32 กม.เท่ากับมูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาทนี้ เป็นเพียงกรอบแนวคิดที่นำราคากลางจากเอกชนที่เชื่อได้ว่าโปร่งใสมาเป็นฐานในการคิดมูลค่าโครงการเริ่มต้นเท่านั้น ยังไม่ใช่งบประมาณจริงแต่อย่างใด

    ส่วนสายฝั่งธน ได้มีการเจรจาด้วยวิธีพิเศษกับผู้รับเหมาก่อสร้างบีทีเอสเส้นบางหว้า คือ กลุ่มกิจการร่วมค้าเอสทีเอเอสไปพร้อมกับการก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า และอีก 2 เส้นทางในเฟสนี้คืออนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิแยกปทุมวัน และ ม.รามคำแหง ถึงสนามราชมังคลากีฬาสถานอยู่ระหว่างดำเนินการ อย่างไรก็ตาม เมื่อได้มีการประกวดราคาจะทำราคาก่อสร้างลดลงไปอีก

    รองผู้ว่าฯ กทม.อธิบายอีกว่า จากนั้นนำงบจากเฟสแรกที่ได้มีการประกวดราคาแล้วมาคำนวณเป็นราคากลางของเฟสที่ 2 แทน และเมื่อมีการประกวดราคาก็จะทำให้ราคาค่าก่อสร้างต่ำลงและเมื่อรวมกับที่เอกชนจะลงทุนเอง 100% ก็ยิ่งทำให้ กทม.ประหยัดงบประมาณเพิ่มเติม

    ทั้งนี้ กทม.ได้มอบบริษัท กรุงเทพธนาคม (จำกัด) เป็นผู้บริหารจัดการโครงการรวมทั้งหาแหล่งเงินทุน แม้ว่า กทม.จะใช้งบประมาณ กทม.แต่เป็นการผ่อนชำระ 10 ปี ดังนั้นกรุงเทพธนาคมต้องหาแหล่งเงินในการดำเนินการ โดย กทม.ไม่ได้เข้าไปแทรกแซง เบื้องต้นทราบว่ามีสถาบันการเงินหลายแห่ง อาทิ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน หรือแม้แต่สถาบันการเงินจากญี่ปุ่นก็เสนอตัวที่จะให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำด้วยเช่นกัน

  • กำลังโหลดความคิดเห็น