xs
xsm
sm
md
lg

ต้านซูเปอร์สกายวอร์ก ผลาญงบสูงเวอร์5 เท่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกแถลงการณ์ ค้านสร้าง “ซูเปอร์สกายวอล์ก” ยาว 50 กิโลเมตร ระบุเป็นนโยบายผลาญภาษีประชาชน แฉใช้งบก่อสร้างสูง 300 ล้านต่อกิโลเมตร แพงกว่าปกติ 5 เท่า จี้เรียกฟุตปาธคืนจากแม่ค้า คนเมืองเดินสบายกว่า ขู่ “สุขุมพันธุ์” ไม่ยุติ เดินหน้าฟ้องศาลปกครอง

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกแถลงการณ์ถึงกรณีที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.เปิดตัวโครงการก่อสร้างโครงข่ายทางเดินลอยฟ้า หรือซูเปอร์สกายวอล์ก (Super Sky Walk) ระยะทางรวม 50 กม.เพื่อให้คนกรุงเทพฯ มีทางเดินลอยฟ้าที่ไม่มีสิ่งกีดขวาง โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะแรก 16 กม.วงเงินค่าก่อสร้างประมาณ 5,200 ล้านบาท คาดว่า จะเริ่มก่อสร้างเดือนมี.ค.นี้ ใช้เวลาก่อสร้าง 18 เดือน กำหนดแล้วเสร็จปี 2555 และระยะที่สอง 32 กม.วงเงินค่าก่อสร้าง 10,000 ล้านบาท จะเริ่มก่อสร้างปี 2555 แล้วเสร็จปี 2557

ต่อมานายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม.ออกมาแจงเพิ่มเติมว่า กทม.ได้ขยายผลโครงข่ายดังกล่าว โดยได้รับความร่วมมือกับภาคเอกชนในการลงทุนก่อสร้างทางเดินเท้าลอยฟ้าเชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ โดยมีกลุ่มผู้ประกอบการย่านราชประสงค์และประตูน้ำ ศูนย์การค้าแพลทินัม ตอบรับข้อเสนอลงทุนเอง 100% โดยจะมีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ในช่วงเดือน พ.ค.นี้

สมาคมมีข้อสังเกตว่า การก่อสร้างทางเดินลอยฟ้าระยะทาง 50 กม.ของกทม.ใช้งบประมาณค่อนข้างสูง หรือเฉลี่ยกิโลเมตรละกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งหากเปรียบเทียบข้อมูลการก่อสร้าง จะเห็นว่า บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินโครงการก่อสร้างทางเดินลอยฟ้าใต้แนวเส้นทางรถไฟฟ้าช่วงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-แบริ่ง รวมระยะทาง 17 กม.ใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยกิโลเมตรละ 58.82 ล้านบาทเท่านั้น แต่ทางเดินลอยฟ้าใหม่นี้ทำไมแพงกว่าถึง 5 เท่า และเงินที่นำมาใช้ก่อสร้างเป็นเงินจากภาษีของประชาชน ไม่ใช่เงินส่วนตัวของนายสุขุมพันธุ์ หรือของนายธีระชน ที่คิดอยากจะทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ ที่สำคัญ โครงการผลาญเงินดังกล่าวสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินดังกล่าวแล้วหรือไม่อย่างไร

นอกจากงบประมาณสูงเกินเหตุแล้ว มีข้อสังเกตอีกประการถึงความเหมาะสมของการสร้างทางเดินลอยฟ้าในพื้นที่เมือง ว่า เหมาะสมแล้วหรือไม่ ประการใด เหตุใดจึงจ้องแต่จะเพิ่มสิ่งก่อสร้างที่เป็นอุจาดทัศน์ (Visual Pollution) ให้กับเมืองกรุงเทพฯ เข้าไปอีก ทำไมไม่กลับไปจัดการทางเดินเท้าที่เป็นสมบัติสาธารณะของคนไทย และคนกรุงเทพฯ ทุกคนให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ ทำไมปล่อยให้มีแม่ค้า-พ่อค้าแผงลอย ทั้งตัวจริงตัวปลอม มายึดพื้นที่ทางเท้าเต็มกันไปหมดทั้งบ้านทั้งเมือง แถมยังเอื้อประโยชน์ให้กับรัฐบาลในโครงการประชาวิวัฒน์ในการขยายจุดผ่อนผันเพิ่มให้กับกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้เพิ่มเข้าไปอีกกว่า 280 จุดอีก ขอถามหน่อยว่าพื้นที่สาธารณะทางเท้าเหล่านี้ เป็นของนายสุขุมพันธุ์ หรือของนายธีระชน หรือของนายกรณ์ หรือของนายอภิสิทธิ์ หรืออย่างไร

ปัญหาดังกล่าว กทม.หมดปัญญาที่จะแก้ไขปัญหาทางเท้า ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ของคนกรุงเทพฯ ทั้ง 5.7 ล้านคน ให้กับพ่อค้าแม่ค้าไม่ถึง 10,000 ราย ได้สร้างประโยชน์และผลกำไรมาจ่ายเทศกิจ หรือกทม.ในรูปของค่าธรรมเนียมเท่านั้นหรือ ขอถามหน่อยว่าสิทธิของคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ที่เขาต้องใช้ทางเท้าในการสัญจรไปมาหายไปไหน แล้วเขาเหล่านั้นเสียภาษีให้ กทม.ไปเพื่อการใด

สมาคมเห็นว่า การทำทางเดินเท้าลอยฟ้าถือเป็นส่วนหนึ่งหรือส่วนขยายของระบบขนส่งมวลชน ซึ่งต้องเขียนไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เสียก่อน แต่เมื่อสมาคมตรวจสอบแล้วไม่มีปรากฏหรือเขียนไว้เลย จึงเข้าข่ายผิดต่อ พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 โดยตรง ซึ่งไม่สามารถกระทำได้โดยทันที จึงใคร่เรียนมายังผู้ว่าฯกทม.และรัฐบาล เพื่อทบทวนหรือยุติโครงการทั้ง 2 ดังกล่าวเสียหรือดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายเสียก่อน หากกทม.เพิกเฉยและยังคงจะดำเนินโครงการทั้งสองนี้ต่อไป สมาคมไม่มีหนทางอื่นใดที่จะยุติโครงการดังกล่าวได้ นอกจากการพึงกระบวนการศาลปกครองเท่านั้น

ด้านนายธีระชน กล่าวชี้แจงว่า การเปรียบเทียบราคาค่าก่อสร้างจะมาเปรียบเทียบเป็นความยาวไม่ได้ แต่ต้องเปรียบเทียบเป็นตารางเมตร ซึ่งการก่อสร้างซูปเปอร์สกายวอร์คของกทม. ที่มีขนาดความกว้าง 6 เมตร ตกราคาตารางวาละไม่เกิน 50,000 บาทซึ่งจะถูกกว่าการก่อสร้างทางเดินเท้าบริเวณบีทีเอสสถานีสนามกีฬา รวมถึงถูกกว่าการก่อสร้างสะพานลอยคนข้ามถนนรัชดาภิเษกที่เชื่อมเข้าสู่อาคาร Cyber World ของบริษัทที ซีซี แลนด์ ในเครือบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) อย่างมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น