เอกชนย่านราชประสงค์ ชูมือร่วมเชื่อมต่อซูเปอร์สกายวอล์กของ กทม.ขณะที่เอกชนย่านอโศก เล็งสร้างทางเดินลอยฟ้าเชื่อมระบบด้วย “ธีระชน” ชี้ เป็นการเพิ่มทางเดินเท้าใน 30 ปี ขณะที่กระแสโลกส่งเสริมให้คนหันมาเดินแทนใช้รถยนต์แล้ว
วันนี้ (24 ก.พ.) นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงข่ายซูเปอร์สกายวอล์ก ว่า กทม.ได้มีแนวคิดขยายเส้นทางสกายวอล์คบริเวณแยกราชประสงค์ เชื่อมต่อเซ็นทรัลเวิลด์ ราชดำริ แพลตินัมประตูน้ำ ระยะทางประมาณ 500 ม.เพื่อเพิ่มศักยภาพเชื่อมต่อระหว่างระบบขนส่งมวลชน และจุดหมายปลายทาง รวมทั้งให้ภาคเอกชนที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน สร้างทางเชื่อมต่อเข้ากับอาคาร ห้างร้านตามเส้นทางสกายวอล์ก ซึ่งที่ผ่านมา มีการเชื่อมต่อทางเข้าอาคารประมาณ 10 กว่าจุด นับเป็นการเชื่อมโยงกันอย่างบูรณาการ และเป็นประโยชน์ในวงกว้างอย่างยั่งยืนต่อไป โดยภาคเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนในการก่อสร้างส่วนนี้ทั้งหมด นอกจากนี้ ภาคเอกชนย่านอโศกก็มีแนวความคิดที่จะสร้างสกายวอร์คเส้นอโศกเชื่อมต่อกับซูเปอร์สกายวอล์ก กับ กทม.อีกด้วย และ กทม.จะส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาเชื่อมต่อกับระบบนี้เพิ่มขึ้นไปอีก
“ซูเปอร์สกายวอล์กของ กทม.จะมีความกว้าง 6 เมตร ราคาตารางวาละประมาณ 50,000 บาทเทียบเท่ากับที่บีทีเอสก่อสร้างบริเวณสถานีสนามกีฬา ซึ่งการสร้างซูเปอร์สกายวอล์กครั้งนี้จะเป็นการเพิ่มทางเดินเท้าในรอบ 30 ปี ซึ่งจะสอดรับกับกระแสโลกที่หันมาส่งเสริมให้คนเดินเท้ามากขึ้นเพื่อนเป็นการลดการสัญจรด้วยยานพาหนะ” นายธีระชน กล่าว
สำหรับแผนโครงข่ายซูเปอร์สกายวอล์ก ประกอบไปด้วย 2 เฟส ได้แก่ เฟสแรกมีระยะทางรวม 16 กม.โดยจุดที่ 1 ระยะทางประมาณ 12 กม.ตลอดแนวถนนสุขุมวิท จากซอยนานา ไปสิ้นสุดที่ซอยแบริ่ง จุดที่ 2 ระยะทางประมาณ 3 กม.ตามแนวถนนพญาไท จุดที่ 3 ระยะทางประมาณ 1.3 กม.ตามแนวถนนรามคำแหง และจุดที่ 4 ระยะทางประมาณ 0.5 กม.บริเวณวงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี โดยเริ่มก่อสร้างในเดือน มี.ค.2554 และจะแล้วเสร็จภายใน 18 เดือน ส่วนเฟสที่ 2 ระยะทางประมาณ 32 กม.มีแผนจะก่อสร้างในปี 2555-2557 ครอบคลุมพื้นที่ย่านถนนราชดำริ สีลม สาทร เพชรบุรี รามคำแหง ทองหล่อ เอกมัย พหลโยธิน กรุงธนบุรี และ บางหว้า
ทั้งนี้ โครงข่ายซูเปอร์สกายวอล์ก หรือทางเดินลอยฟ้าที่ปราศจากสิ่งกีดขวาง ทำให้สามารถเดินไปยังจุดหมายปลายทางใกล้ๆ ได้อย่างสะดวกสบาย รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเชื่อมต่อจุดต่างๆ เข้าด้วยกัน อย่างทั่วถึง รวมทั้งรองรับกับระบบขนส่งมวลชนต่างๆ สามารถใช้บริการระบบขนส่งรถไฟฟ้าได้อย่างสะดวกสบาย โดยเมื่อออกจากรถไฟฟ้าแล้ว สามารถเดินเท้าต่อไปยังจุดหมายปลายทางต่อไปได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยไม่ต้องกลัวแดดและฝน อีกทั้งเพื่อให้การเดินเท้าเป็นทางเลือกแทนการขับรถยนต์