อาจารย์วิศวะ จุฬาฯ หนุน กทม.สร้างโครงข่าย “ซูเปอร์สกายวอล์ก” หวังเดินหน้าจัดการปัญหาทางเท้า ทำคนเมืองไม่มีที่เดินควบคู่กัน ระบุ เสียงทักท้วงแค่ช่วงแรก ชี้ บีทีเอสช่วงแรกก็มีคนค้าน แต่ปัจจุบันมีแต่คนเรียกหา
ศ.กิตติคุณ ดร. ธงชัย พรรณสวัสดิ์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงการที่ กทม.มีแผนใช้งบประมาณกว่า 15,000 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างโครงข่ายทางเดินลอยฟ้า หรือซูเปอร์สกายวอล์ก (Super Sky Walk) ระยะทางรวม 50 กม.ว่า ตนเห็นด้วยกับโครงการนี้ เพราะเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน พื้นที่ทางเท้าแทบจะไม่มีให้ผู้คนได้เดิน เนื่องจากพ่อค้าแม่ค้า หาบเร่ แผงลอย จับจองพื้นที่กันหมดแล้ว อย่างในบางจุดผู้คนไม่สามารถใช้งานทางเท้าได้เลย จนต้องลงมาเดินบนถนน แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น การมีสกายวอล์ก ก็เป็นเพียงแค่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ต้นเหตุจริงๆ กทม.จะต้องแก้ปัญหาเรื่องทางเท้าควบคู่ไปด้วย ไม่ใช่จะสร้างแต่สกายวอล์กแต่ละเลยปัญหาทางเท้า ทั้งนี้หากจะให้สกายวอล์กเกิดประโยชน์สูงสุด จะต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อสำหรับคนชรา ผู้พิการ ด้วย เพราะไม่เช่นนั้นก็จะเปล่าประโยชน์
ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อคัดค้านในส่วนของโครงการนี้ที่เกิดขึ้นนั้น ส่วนตัวเห็นว่าคงเกิดขึ้นในช่วงแรก เพราะประเด็นเช่นนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วสมัยหนึ่งที่ กทม.มีแผนจะทำรถไฟ้ฟ้าบีทีเอส เช่น มีการทักท้วงว่าจะบดบังทัศนียภาพของ กทม.ในช่วงการก่อสร้างที่ใช้เวลานาน ทำให้รถติด แต่พอมาถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าท้องที่ไหนก็พยายามเรียกร้องอยากจะให้รถไฟฟ้าขยายไปถึง ซึ่งโครงการนี้ก็เช่นเดียวกัน อาจจะมีข้อเสียอยู่บ้างแต่เมื่อมองในภาพรวมแล้วมีข้อดีมากว่าข้อด้อย